xs
xsm
sm
md
lg

กรมอนามัยเปิดตัวชุมชนต้นแบบไอโอดีนที่โคราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมอนามัยเปิดตัวชุมชนต้นแบบไอโอดีนที่อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เป็นศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านไอโอดีน พร้อมสนับสนุนให้ชุมชนมีและใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน และสร้างนวัตกรรม ใหม่ๆ เพื่อช่วยให้คนไทยห่างไกลโรคขาดสารไอโอดีน

วันนี้ (19 พ.ค.) นายแพทย์ สมศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงการเปิดตัวชุมชนต้นแบบไอโอดีน ณ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ว่า โรคขาดสารไอโอดีนเป็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการพัฒนาสติปัญญาของเด็กไทยและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีมาตรการหลักในการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน ภายใต้นโยบายเกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า (Universal Salt Iodization : USI) โดยได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้เสริมไอโอดีนในเครื่องปรุง 4 ประเภท ได้แก่ เกลือบริโภค น้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2553 โดยในส่วนของกรมอนามัยได้ดำเนินการจ่าย ยาเม็ดเสริมไอโอดีนให้หญิงตั้งครรภ์ทุกรายตลอดการตั้งครรภ์ และเสริมไอโอดีนในน้ำดื่มพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร ตามโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ ในปี 2553 ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้มีการสื่อสารสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง โดยจัดมหกรรม รวมพลังประเทศไทย เพิ่มไอโอดีน เพิ่มไอคิว และแต่งตั้ง อสม.จำนวน 1 ล้านคน เป็นทูตไอโอดีนดำเนินงานร่วมกับประชาชนดูแลพื้นที่ของตนเองให้มีการผลิต จำหน่าย และใช้เกลือเสริมไอโอดีนและเครื่องปรุงรส เสริมไอโอดีนคุณภาพทุกครั้งที่ปรุงและประกอบอาหาร รวมทั้งเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่เสริมไอโอดีน พร้อมทั้งร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินงานโครงการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน ตั้งเป้าครอบคลุม 76,000 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 75 จังหวัดทั่วประเทศ ภายในปี 2554 ซึ่งขณะนี้มีหมู่บ้านที่ผ่านการประเมินเป็นหมู่บ้านไอโอดีนแล้วประมาณ 13,841 แห่ง ใน 34 จังหวัด

นายแพทย์ สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นชุมชนต้นแบบที่ดำเนินการกำจัดโรคขาดสารไอโอดีนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และส่งเสริมให้ไอโอดีนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต ตั้งแต่ 1) ในครัวเรือน มีการใช้ผลิตภัณฑ์เกลือ ซอส น้ำปลา ที่เสริมไอโอดีนทั้งหมด ส่วนหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรก็จะได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีน นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ OTOP ของหมู่บ้านก็มีการเติมไอโอดีนด้วย เช่น ข้าวเม่าไอโอดีน ไข่เค็มไอโอดีน แมงกะชอนและ แมงตับเต่าคั่วสมุนไพรไอโอดีน 2) โรงเรียน สนับสนุนให้แม่ครัวใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนปรุงอาหารทุกมื้อ เพื่อเพิ่มคุณค่าไอโอดีนให้กับเด็กนักเรียน พร้อมจัดทำข้อมูลให้ได้ศึกษา ทั้งการอ่านฉลากน้ำปลา เกลือ และตัวอย่างอาหารที่มีไอโอดีน และส่งเสริมให้ชมรม อย.น้อย ทำหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้วย 3) ศูนย์เด็กเล็ก มีการสร้างนวัตกรรมน้องน้อยหนุนไอโอดีนซึ่งผู้ดูแลเด็กจะสื่อสารให้ผู้ปกครองทราบผ่านเด็ก ถือเป็นการสนับสนุนให้ผู้ปกครองใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนให้เด็กต่อที่บ้านด้วย โดยจะแจกหมอนไอโอดีนให้เด็กนำกลับบ้านตอนเย็นแล้วเล่าให้พ่อแม่ฟังตอนมารับลูกกลับบ้าน เพื่อจะได้เข้าใจร่วมกัน 4) ร้านขายของชำและตลาด มีผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนจำหน่ายและมีป้ายประชาสัมพันธ์ให้เห็นว่ามีเกลือเสริมไอโอดีนจำหน่าย และ 5) ร้านอาหาร มีป้ายแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทางร้านใช้เกลือ น้ำปลา ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนในการปรุงอาหาร และมีแผ่นพับหรือหนังสือการ์ตูนไอโอดีนให้อ่านในระหว่าง รออาหารด้วย

“อำเภอบัวใหญ่ จึงนับเป็นศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านไอโอดีนสู่วิถีชีวิตต้นแบบ 1 ใน 32 ศูนย์ที่กระจายอยู่ในแต่ละอำเภอของจังหวัดนครราชสีมา โดยเป็นความเข็มแข็งของชุมชนที่ให้ความสำคัญต่อการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนของชาวบ้านในพื้นที่อย่างจริงจัง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาขาดสารไอโอดีนนั้น ต้องเกิดจากความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน และที่สำคัญควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขับเคลื่อนมาตรการสู่ชุมชนและท้องถิ่นโดยภาคประชาชน การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการตอบรับนโยบายของภาครัฐด้วยการเติมสารไอโอดีนในผลิตภัณฑ์ปรุงรสในอาหาร อันจะช่วยให้คนไทยไม่ขาดสารไอโอดีน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น