กรมอนามัยพบพัฒนาการและไอคิวเด็กไทยตกต่ำ เร่งขับเคลื่อนการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนสู่ชุมชน และหมู่บ้าน 76,000 แห่ง ครอบคลุม 75 จังหวัดทั่วประเทศ ก่อนถึงวันไอโอดีนแห่งชาติวันที่ 25 มิถุนายน 2554
วันนี้ (18 ม.ค.) ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน และการขับเคลื่อนสู่ชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีน” ณ โรงแรมหลุยแทเวิร์น กรุงเทพมหานคร ว่า จากการสำรวจไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ปี 2552 พบว่า ร้อยละ 59 มีปัญหาการขาดสารไอโอดีน และจากการสำรวจระดับไอคิวของเด็กไทยปี 2552 โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในกลุ่มตัวอย่าง 6,000 คน จาก 21 จังหวัด พบไอคิวเฉลี่ย 91 จุด ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับไอคิวเฉลี่ยปกติ 90-110 จุด ขณะเดียวกันผลการสำรวจพัฒนาการสมวัยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ของกรมอนามัยพบมีพัฒนาการลดลงจากร้อยละ 72 ในปี 2547 เหลือร้อยละ 67 ในปี 2550 นอกจากนี้ การเข้าถึงเกลือเสริมไอโอดีนคุณภาพของครัวเรือนไทยยังต่ำกว่าเป้าหมาย โดยองค์การอนามัยโลกกำหนดความครอบคลุมของครัวเรือนที่มีการใช้เกลือเสริมไอโอดีนคุณภาพร้อยละ 90 ขึ้นไป ซึ่งจากการสำรวจของกรมอนามัยปี 2552 ระบุว่าครัวเรือนไทยมีการใช้เกลือเสริมไอโอดีนคุณภาพเพียงร้อยละ 77.4
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโรคขาดสารไอโอดีนเป็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการพัฒนาสติปัญญาของเด็กไทยและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ประกาศให้เป็น 1 ใน 21 นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีมาตรการหลักที่กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายนำมาใช้ในการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน ภายใต้นโยบายเกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า (Universal Salt Iodization : USI) โดยได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้เสริมไอโอดีนในเครื่องปรุง 4 ประเภท ได้แก่ เกลือบริโภค น้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา ด้านกรมอนามัยได้ดำเนินการจ่ายยาเม็ดเสริมไอโอดีนให้หญิงตั้งครรภ์ทุกรายตลอดการตั้งครรภ์ และเสริมไอโอดีนในน้ำดื่มพื้นที่ถิ่นทุรกันดารตามโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนี้ กรมอนามัยได้มีการสื่อสารสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง โดยจัดมหกรรม รวมพลังประเทศไทย เพิ่มไอโอดีน เพิ่มไอคิว เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และได้แต่งตั้ง อสม.จำนวน 1 ล้านคน เป็นทูตไอโอดีนดำเนินงานร่วมกับประชาชนดูแลพื้นที่ของตนเองให้มีการผลิต จำหน่าย และใช้เกลือเสริมไอโอดีนและเครื่องปรุงรสเสริมไอโอดีนคุณภาพทุกครั้งที่ปรุงและประกอบอาหาร รวมทั้งเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่เสริมไอโอดีน
ในปี 2554 กรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินงานโครงการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน กำหนดแนวทางควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ตั้งเป้า 76,000 หมู่บ้าน ครอบคลุม 75 จังหวัดทั่วประเทศ โดยใช้ 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การผลิตและกระจายเกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพ โดยมีการบริหารจัดการที่มีความต่อเนื่องและยั่งยืน 2.การจัดทำระบบการเฝ้าระวัง ติดตามและประเมินผลโครงการ 3.การสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พันธมิตร และภาคีเครือข่ายเพื่อการมีส่วนร่วม 4.การประชาสัมพันธ์ รณรงค์และการตลาดเชิงสังคม เพื่อการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง 5.การศึกษาวิจัย และ 6.การใช้มาตรการเสริมในระยะเฉพาะหน้า และมาตรการเสริมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความร่วมมืออย่างดียิ่งจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน