กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมสัมมนาเครือข่ายพระสังฆาธิการเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ปี 2554 สนับสนุนพระสงฆ์เป็นแกนนำในการสร้างสุขภาพ เพื่อการมีสุขภาพดีของพระสงฆ์ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ประชาชน
วันนี้ (27 พ.ค.54) นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดี กรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเครือข่ายพระสังฆาธิการเพื่อ การส่งเสริมสุขภาพ ปี 2554 ณ ห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร อาคาร 7 ชั้น 9 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า ปัจจุบันพระสงฆ์ 1 ใน 3 รูปอาพาธด้วยโรคต่าง ๆ ในขณะที่บางรูปไม่เคยเข้ารับการตรวจสุขภาพ ทำให้ไม่สามารถรู้ว่ามีภาวะเสี่ยงต่อโรคใดบ้าง จากผลการสำรวจสุขภาพของพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศประมาณ 350,000 รูป ในปี 2550 พบว่า พระสงฆ์ร้อยละ 55 เป็นทั้งผู้ป่วยและผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค โดยเป็นผู้ป่วยประมาณร้อยละ 30 และเป็นผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ร้อยละ 25 สอดคล้องกับข้อมูลสถิติด้านการเจ็บป่วยของพระสงฆ์จากโรงพยาบาลสงฆ์ในปี 2550 พบว่า พระสงฆ์ที่มารับการตรวจรักษา 17,381 รูป ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ร้อยละ 17.8 โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 17.1 ภาวะไขมัน ในเลือดสูง ร้อยละ 13.5 โรคเหงือกอักเสบ ร้อยละ 6.7 และโรคช่องปากและฟัน ร้อยละ 6.3
นพ.สมยศ กล่าว ต่อไปว่า ความเสี่ยงของการเกิดโรคส่วนใหญ่ มีสาเหตุจากปัญหาการบริโภคไม่ถูกหลักโภชนาการ เนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ต้องฉันอาหารตามที่ฆราวาสตักบาตรหรือนำอาหารมาถวาย ประกอบกับสถานภาพของพระภิกษุสงฆ์ ไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค แสดงให้เห็นว่าพระสงฆ์ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้พระสงฆ์และวัดมีบทบาทในการส่งสริมสุขภาพ เป็นศูนย์กลางสุขภาพของชุมชน และจัดสภาพแวดล้อมที่ดีให้เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ
“ทั้ง นี้ ในปี 2553 ที่ผ่านมา กรมอนามัยจึงได้สนับสนุนพระสงฆ์เป็นแกนหลักดำเนินงานร่วมกันกับชุมชนในการ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ลดเสี่ยง ลดโรค ลดภาวะแทรกซ้อนของโรค และก้าวสู่วิถีชีวิตที่พอเพียง สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดยมีกลยุทธ์ 3 ประการ คือ 1) การชี้นำ 2) การเพิ่มความรู้ ความสามารถ ทักษะ และ 3) การขับเคลื่อนของภาคีเครือข่ายร่วมให้เกิดผลดีและประโยชน์ที่เอื้อต่อกัน โดยมีเป้าหมายคือ 1 อำเภอ 1 วัดส่งเสริมสุขภาพ ส่งผลให้ขณะนี้มีแกนนำพระสงฆ์ทั่วประเทศแล้วจำนวน 2,138 รูป โดยมีวัดส่งเสริมสุขภาพกระจายอยู่เกือบทุกอำเภอ จำนวน 2,366 แห่ง แบ่งเป็นวัดส่งเสริมสุขภาพดีเด่น จำนวน 669 แห่ง และผ่านเกณฑ์ประเมินขั้นพื้นฐานของวัดส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 1,697 แห่ง” นพ.สมยศ กล่าว
นพ.สมยศ กล่าวในตอนท้ายว่า ความ สำเร็จของการดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพ เกิดจากร่วมมือระหว่างพระผู้นำฝ่ายบรรพชิต กรรมการวัด ผู้สูงอายุ ประชาชนรอบวัด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพั้นที่ องค์กร-ปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องการให้วัดเป็นสถานทื่ที่เอื้อโอกาสต่อการพัฒนาคุณชีวิต และการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งการประชุมสัมมนาเครือข่ายพระสังฆาธิการเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ปี 2554 ในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมภายใต้หลัก 5 ประการ คือ สะอาดร่มรื่น สงบร่มเย็น สุขภาพร่วมสร้าง ศิลปะร่วมจิตและชาวประชาร่วมพัฒนา รวมทั้งส่งเสริม
การมีเครือข่ายพระสังฆาธิการระดับจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานในการดำเนินงาน ระดมศักยภาพของภาคีเครือข่ายวัดส่งเสริมสุขภาพ ตลอดจนสนับสนุนพระสงฆ์เป็นกลไกและแกนนำที่สำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ สู่ผู้สูงอายุ ประชาชนในท้องถิ่น และชุมชนตามบริบทของท้องถิ่นตนเองได้อย่างเข้มแข็งต่อไป