xs
xsm
sm
md
lg

โรงไฟฟ้าบนหลังอูฐ…ลึกซึ้งกว่าที่เราคิด!

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม


ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงคาดเดาได้บางส่วนว่าภาพถ่ายนี้คืออะไร โดยการดูชื่อบทความประกอบ ใช่ครับมันเป็นแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้าแล้วเอาพลังงานไฟฟ้าไปใช้ในตู้เย็นที่วางอยู่บนหลังอูฐ แต่ข้อสงสัยก็คือ เขาทำไปเพื่ออะไร

คำตอบคือ เขาทำไปเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ในถิ่นทุรกันดารที่รถยนต์และไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ในตู้เย็นนี้มีวัคซีนป้องกันโรคและยาบางชนิดที่จำเป็นต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำ ภาพนี้ถ่ายในทะเลทรายของประเทศเคนยาซึ่งเป็นประเทศยากจนที่มีรายได้ (จีดีพี) เฉลี่ยประมาณ 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวต่อวัน มีคนว่างงานประมาณ 40% ชาวบ้านขาดแคลนทั้งถนน ไฟฟ้า และการบริการสาธารณะสุข

ไม่ว่าเศรษฐกิจของประเทศเคนยาจะย่ำแย่เพียงใด แต่ในภาพนี้คือความพยายามที่จะผลิตกระแสไฟฟ้ามาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง ถึงยากจนก็ยากจนด้วยกัน

ในทางตรงกันข้าม ในประเทศไทยเรากลับมีความพยายามจะสร้างโรงไฟฟ้าในช่วง 20 ปีข้างหน้าเป็นจำนวนมาก ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าปีละกว่า 2 แสนล้านบาท มากกว่างบประมาณของหลายกระทรวง แต่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไฟฟ้ามาช่วยเหลือหรือพัฒนาคนไทยด้วยกันเอง แต่เพื่อเอาไปใช้ในอุตสาหกรรมชนิดสกปรกที่เป็นของชาวต่างชาติ ปัจจุบันมีการใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือนเพียง 21% ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ แต่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมถึง 46%

ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นกันชัดๆ การนิคมอุตสาหกรรมมีโครงการจะสร้างโรงงานถลุงเหล็กต้นน้ำที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โดยวัตถุดิบหรือสินแร่ในการถลุงเหล็กทั้งหมดนำเข้ามาจากประเทศบราซิลที่อยู่คนละซีกโลกกับเรา ไฟฟ้าที่ใช้ในการถลุงเหล็กก็ผลิตจากถ่านหินที่ต้องนำเข้าเช่นกัน เมื่อผลิตเสร็จแล้วส่วนมากก็ส่งไปขายต่างประเทศ

คำถามก็คือ เขากำลังวางแผน “พัฒนา” ประเทศไทยให้คนไทยได้อยู่กินอย่างสบาย สงบ ยั่งยื่นหรือแค่ให้เป็นแหล่งระบายของเสียหรือ “เป็นส้วม” ให้กับประเทศอื่นกันแน่

ข้อมูลจาก “โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดตั้งอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ” พบว่า เขาต้องการผลิตเหล็กให้ได้ปีละ 5 ล้านตัน ในการนี้จะต้องมีสิ่งสำคัญ 4 อย่างต่อไปนี้ คือ (1) นำเข้าสินแร่ ปีละ 8.5 ล้านตันหรือวันละประมาณ 930 รถสิบล้อ (2) ถ่านหินที่ใช้ถลุงเหล็กปีละ 4 ล้านตันจากออสเตรเลีย (3) น้ำจืดวันละ 1 แสนลูกบาศก์เมตร (4) โรงไฟฟ้าขนาด 300 เมกะวัตต์

ปัจจุบันโครงการชลประทานทุ่งระโนดขาดแคลนน้ำเฉลี่ยปีละ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อมีการสูบน้ำที่ทุ่งระโนด น้ำเค็มก็จะไหลเข้ามาทางปากทะเลสาบสงขลา จะส่งผลให้น้ำในทะเลสาบเค็มเพิ่มขึ้น จะกระทบต่อระบบนิเวศน์และกุ้ง หอย ปู ปลา มากน้อยแค่ไหน

นี่แปลว่า "การพัฒนา” คือการทำลายวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นเพื่อบำเรอชาวต่างชาตินั่นเอง

ล่าสุด ในภาพรวมของประเทศ ขณะนี้ได้มีกลุ่มทุนร่วมมือกับหน่วยราชการบางหน่วยได้ร่วมกันว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้จัดทำแผน “ประเทศไทย พ.ศ. 2600” นั่นคือมีแผนอุตสาหกรรม แผนการใช้ที่ดินล่วงหน้าเกือบ 50 ปี

คำถามก็คือ แล้วเราเลือกรัฐบาลที่มีอายุ 4 ปีไปทำอะไร ในเมื่อแผนแม่บทได้ถูกกำหนดไว้ครบถ้วนแล้ว ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ก็สมควรแล้วที่มีการรณรงค์ให้ Vote No

ผมตั้งชื่อบทความชิ้นนี้ก็เพื่อจะบอกว่าเรื่องพลังงานมีความหมายมากกว่า “แค่พลังงาน” ที่เราเข้าใจกัน แต่มีมากกว่านั้นทั้งด้านที่ดีเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างกรณีโรงไฟฟ้าบนหลังอูฐในประเทศเคนยา และด้านที่เป็นพิษภัยกับผู้คน เช่น กรณีโรงถลุงเหล็กที่ได้กล่าวมาแล้ว

นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการจ้างงานอีกด้วย ในปี 2553 ประเทศไทยเราใช้พลังงานคิดเป็นมูลค่าประมาณ 19% ของรายได้ประชาชาติแต่มีการจ้างงานในกิจการพลังงาน (ในภาคไฟฟ้าและน้ำมัน) รวมกันไม่ถึงร้อยละหนึ่งของจำนวนคนวัยทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากเมื่อเทียบกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ

กลับมาที่การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่คนไทยเรา “ถูกทำให้เชื่อ” ว่ามีต้นทุนการผลิตที่แพงไม่คุ้มกับการลงทุนเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ล่าสุดพบว่า หนังสือพิมพ์ผู้จัดการพาดหัวว่า

“เปิด “โซล่าฟาร์ม” โคราช ไฟฟ้าแสงอาทิตย์ใหญ่สุดอาเซียน - จ่อผุด 34 แห่งอีสาน 2.4 หมื่นล้าน”

ในเนื้อข่าวพอสรุปได้ว่า ทั้งหมดมี 34 โครงการ แต่ละโครงการใช้เงินลงทุน 700 ล้านบาท บนพ้นที่ 100 ไร่ เพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 6 เมกะวัตต์ บางโครงการได้เริ่มจ่ายไฟเข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 โดยสร้างรายได้ให้กับเจ้าของกิจการวันละ 4.3 แสนบาท (รวมค่าชดเชยหรือ “Adder” หน่วยละ 8 บาท)

ผมไม่แน่ใจในเนื้อข่าวว่า รายได้วันละ 4.3 แสนบาทนั้นเป็นรายได้จากการลงทุน 700 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นเช่นนี้จริงก็เท่ากับว่าผลตอบแทนปีละประมาณ 22%

ในตอนท้ายนี้ ผมมีประเด็นและข้อมูลสำคัญที่กล่าวถึงสั้นๆ 3 ประการ คือ

หนึ่ง ขณะนี้มีนักลงทุนเสนอโครงการที่ใช้พลังงานหมุนเวียนมาเข้าคิวรอการอนุมัติประมาณ 8 พันเมกะวัตต์ มากกว่าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่การพิจารณาล่าช้ามากและได้มานิดเดียว

สอง ประเทศเยอรมนีซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จในการใช้พลังงานหมุนเวียนจนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก เขาได้ตราเป็นกฎหมายเลยว่า ผู้ที่ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน (1) ให้ผลิตได้ก่อน (2) ผลิตได้โดยไม่จำกัดจำนวน (3) ส่วนที่ขาดหรือไม่พอจึงอนุญาตให้ “พวกถ่านหิน” ผลิต ต่างจากบ้านเรามากเลย

สาม โครงการ “โซล่าฟาร์ม” ที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว มี “มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม” เป็นผู้ร่วมลงทุนด้วย ทั้งๆ ที่มูลนิธินี้ได้ตราเป็นระเบียบว่าไม่แสวงหากำไร

ผมรู้สึกแปลกๆ ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น