ฉะเชิงเทรา - กปภ.แปดริ้ว เตรียมตั้งท่อยักษ์โก่งสูบน้ำจากบางปะกงทำประปา ขณะที่ชาวบ้านโวยหวั่นถูกแย่งชิงทรัพยากรในภาคเกษตร พร้อมแฉเคยมีกลุ่มทุนจากภาคเอกชน รวมหัวร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ รุมสูบน้ำส่งไปขายให้แก่ภาคอุตสาหกรรมก่อนหน้านานแล้ว ขณะประปาเขตพื้นที่แจงความจำเป็นต้องขยายพื้นที่ หวังเตรียมรองรับชุมชนเติบโตในอนาคต หวั่นขาดแคลนน้ำต้นทุน ขณะโม่งมือสูบบอกเปล่าแย่งน้ำชาวบ้านขาย อ้างโก่งท่อเฉพาะในช่วงฤดูฝนน้ำล้นเหลือทิ้งทะเล
วันนี้ (21 เม.ย.) เวลา 13.30 น.นายสุทัศน์ ซิ้มเจริญ อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 12 ม.3 ต.บางสวน อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวบ้านในเขตพื้นที่ อ.บางคล้า ได้เตรียมตัวที่จะเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการก่อสร้างสถานีสูบน้ำของการประปาส่วนภูมิภาคที่เตรียมการเข้ามาก่อตั้งขึ้นที่หมู่บ้านบางพุทรา พื้นที่ ม.1 ต.หัวไทร อ.บางคล้า หลังจากที่ผ่านมาทางการประปาส่วนภูมิภาค ได้ทำการวางท่อส่งน้ำขนาด 80 ซม.จากพื้นที่ ต.สระสี่เหลี่ยม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ลากยาวเข้ามายังในเขตพื้นที่ อ.บางคล้า ในการเตรียมการที่จะสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกง ส่งไปกักเก็บไว้ยังที่อ่างเก็บน้ำของการประปาส่วนภูมิภาคเองในพื้นที่ดังกล่าว โดยที่ไม่ได้มีการสำความคิดเห็นหรือทำประชาพิจารณ์ หรือสอบถามความยินยอมจากชาวบ้าน คนในพื้นที่มาก่อนแต่อย่างใด
โดยชาวบ้านหวั่นเกรงว่า น้ำจืดในแม่น้ำบางปะกงจะขาดแคลน เนื่องจากที่ผ่านมา หลังจากได้มีบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำขนาดใหญ่ จากภาคเอกชนแห่งหนึ่งเข้ามาตั้งสถานีสูบน้ำหลายสิบแห่งเรียงรายตลอดริมลำน้ำบางปะกง และสูบส่งน้ำไปขายให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมทั่วทั้งภาคตะวันออกใน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
รวมถึงการประปาส่วนภูมิภาคฉะเชิงเทราเองด้วย จึงทำให้น้ำจืดต้นทุนในแม่น้ำบางปะกงนั้นหมดไปอย่างรวดเร็ว จนส่งผลอย่างเห็นได้ชัด หลังจากบริษัทดังกล่าว เริ่มก่อตั้งและทำการสูบน้ำเมื่อหลายปีก่อน ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในลำน้ำ คือ เกิดภาวะน้ำเค็มเร็ว
จากเดิมที่ตลอดทั้งปีน้ำในแม่น้ำบางปะกงจะมีน้ำเค็มหนุนเข้ามาเพียงแค่ 3 เดือน แต่ในปัจจุบันนี้ มีน้ำเค็มหนุนเข้ามาในแม่น้ำบางปะกงเร็วขึ้น และอยู่นานถึง 6-7 เดือน และน้ำเค็มขึ้นสูงไปจากเดิมมากจนถึงแหล่งต้นน้ำ ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี และนครนายก จากเดิมที่น้ำเค็มเคยรุกล้ำเข้าไปถึงแค่เพียงในเขตตัว อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี เท่านั้น
ส่วนสาเหตุนั้นเกิดจากเมื่อน้ำจืดไหลลงมาจากแหล่งต้นน้ำ บริษัทสูบน้ำดังกล่าวนี้ ได้เร่งสูบน้ำส่งไปเก็บไว้ขาย ยังแหล่งเก็บน้ำหลายแห่ง ทั้งในเขต จ.ฉะเชิงเทรา และชลบุรี แต่เมื่อน้ำเค็มจะขึ้น ทางกรมชลประทาน โดยเขื่อนทดน้ำบางปะกง (โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนบางปะกง) ได้ทำการหรี่บานประตูให้น้ำเค็มขึ้นน้อยลง และเมื่อน้ำจืดไหลลงมาอีก บริษัทดังกล่าวก็เร่งสูบน้ำจืดขึ้นไปเก็บไว้อีก จนทำให้น้ำในแม่น้ำเหลือแต่น้ำเค็ม เพราะน้ำจืดต้นทุนถูกสูบไปจนหมด จนไม่มีน้ำจืดไหลเข้าไปในคลองสาขาให้แก่เกษตรกรได้สูบใช้ และทำให้ในปัจจุบันนี้ น้ำจืดมีไม่เพียงพอต่อภาคการเกษตรกรรมในพื้นที่ และหากการประปาจะมาตั้งสถานีสูบน้ำเพิ่มเติมขึ้นอีกก็จะยิ่งซ้ำเติมเกษตรกรให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดอย่างหนักหน่วงมากยิ่งขึ้นต่อไป
และเมื่อทางกรมชลฯ ปล่อยน้ำจืดจากเขื่อน และอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทางตอนบน ทั้ง เขื่อนขุนด่านปราการชล ทั้งแควระบม และสียัด ลงมาเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ เพราะน้ำต้นทุนจะถูกสูบหายจากลำน้ำ ถูกนำไปเก็บไว้ขายอีก จนเหลือแต่น้ำเค็มที่ดันขึ้นมาจากทะเลเท่านั้น
ขณะที่ นายสมนึก ลิ้มทองสิทธิคุณ ผอ.การประปาส่วนภูมิภาค เขต 1 ชลบุรี ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ทั่วทั้งภาคตะวันออก (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว) กล่าวว่า การประปามีความจำเป็นต้องขยายเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ ที่มีแนวโน้มการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นของชุมชนในทุกปี จึงต้องมีการเตรียมจัดหาแหล่งต้นทุนน้ำดิบไว้รองรับให้ได้อย่างเพียงพอ ในการผลิตน้ำประปา ให้แก่ประชาชนได้มีน้ำอุปโภค บริโภคซึ่ง เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมโดยเฉพาะชาว จ.ฉะเชิงเทรา เอง
เนื่องจากที่ผ่านมานั้น กปภ.บางคล้า ซึ่งอยู่ทางด้านฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกง นั้น รับผิดชอบผู้ใช้น้ำทั้งในเขต อ.บางคล้า แปลงยาว บ้านโพธิ์ และในเขตตัวเมืองฉะเชิงเทรา ในย่าน ต.คลองนา รวมถึง เขต อ.พนัสนิคม และ พานทอง จ.ชลบุรี ได้ใช้น้ำต้นทุนจากโครงการชลประทานอ่างเก็บน้ำสียัด ซึ่งสามารถจ่ายน้ำดิบต้นทุนให้ได้อย่างจำกัด ในจำนวนที่เพียงพอในปัจจุบัน แต่ในอนาคตนั้น คาดว่าปริมาณน้ำดิบนั้น อาจจะไม่เพียงพอในการผลิต กปภ.จึงต้องเตรียมจัดหาแหล่งต้นทุนน้ำดิบเพิ่มเติม เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าที่มีแนวโน้มในการเจริญเติบโตสูงขึ้นต่อไป
โดยจะทำการสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกง ซึ่งมีปริมาณน้ำจืดที่ไหลทิ้งลงสู่ทะเลไปในปริมาณ 6,715 ล้าน ลบม.ต่อปี ในช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อนำไปเก็บไว้ยังแหล่งสำรองน้ำของ กปภ. ในปริมาณเพียงแค่ 7.20 ล้าน ลบ.ม.หรือ เพียง 0.11 เปอร์เซ็นต์ของน้ำที่ไหลทิ้งทั้งหมด เท่านั้น จึงเชื่อว่า ไม่น่าจะเกิดผลกระทบอะไรมากนัก ตามที่กลุ่มชาวบ้านเป็นกังวล ซึ่ง กปภ.เอง ก็ทำเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะโดยส่วนรวม และคนใน จ.ฉะเชิงเทรา เอง ที่จะได้ใช้ประโยชน์
ส่วนด้าน นางกันยานาถ วีระพันธุ์ ผอ.ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ กล่าวว่า โครงการสูบน้ำของบริษัทนั้นไม่ได้แย่งการใช้น้ำจากภาคเกษตรกรรม โดยทางบริษัทจะทำการสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกงเฉพาะในช่วงฤดูน้ำหลากหน้าฝน ที่จะมีน้ำไหลทิ้งลงสู่ทะเล เท่านั้น เพื่อเป็นต้นทุนในการผลิตน้ำประปาให้แก่ชาว จ.ฉะเชิงเทรา ทางด้านฝั่ง อ.เมือง และ อ.บางปะกง และเป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ได้มีการส่งไปขายให้แก่ภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดอื่นแต่อย่างใด
ส่วนการผลิตน้ำให้แก่ภาคอุตสาหกรรมใน พื้นที่ จ.ระยอง นั้น ทางบริษัทไม่ได้ใช้น้ำ จากในเขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา แต่ได้ใช้น้ำจากในเขตพื้นที่ จ.ระยอง เอง ที่มีอยู่อย่างเพียงพออยู่แล้ว ซึ่งการบริหารจัดการน้ำนั้น ได้มีการบริหารการใช้น้ำ อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมชลประทาน