ฉะเชิงเทรา - ชาวบางคล้าแปดริ้ว พร้อมเจ้าหน้าที่รัฐเตรียมตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย เพื่อตรวจหาต้นเหตุน้ำจืดหายจากลำน้ำบางปะกง ด้านจังหวัดพร้อมประสาน เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้
วันนี้ (28 มิ.ย.) ที่ศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา นายสุทัศน์ ซิ้มเจริญ อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 12 ม.3 ต.บางสวน อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เป็นตัวแทนจากชาวบ้าน กล่าวว่า ในวันนี้ได้เดินทางมาเป็นตัวแทนของชาว อ.บางคล้า พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้านจากตำบลต่างๆ อีก 4 คน เข้าร่วมหารือกับ นางสุมิตรา ศรีสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย นายไชยงค์ จงอาสาชาติ ผอ.โครงการชลประทานฉะเชิงเทรา และ นายพงศ์ศักดิ์ ณศร ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนบางปะกง ที่ศาลากลางจังหวัด
การประชุมในครั้งนี้ ทางชาวบ้านได้เสนอต่อที่ประชุม เพื่อหารือว่าจะขอให้มีการค้นหาสาเหตุที่แท้จริง ของปัญหาน้ำจืดต้นทุนในแม่น้ำบางปะกงที่หายไป จนทำให้น้ำในแม่น้ำไม่ไหลเข้าสู่ลำคลองสาขาซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอยหล่อเลี้ยงภาคเกษตรกรรมของชาว อ.บางคล้าที่อยู่ทางด้านฝั่งซ้ายของลำน้ำบางปะกง และไม่มีระบบชลประทานรองรับในการส่งน้ำเข้ามาช่วยเหลือแก่ภาคเกษตร ดังนั้นจึงขอให้มีการทดสอบเปิดบานประตูระบายน้ำของเขื่อนทดน้ำบางปะกงออกจนสุด เพื่อให้น้ำในแม่น้ำบางปะกง มีการไหลเวียนขึ้นลงไปตามปกติของธรรมชาติ โดยไม่ให้มีการหรี่หรือบีบให้แคบลงอย่างที่เคยทำมาในทุกปี จนชาวบ้านเกิดความสงสัยและเชื่อว่าทางชลประทานนั้นเอื้อประโยชน์ให้แก่ทางบริษัทบริหารจัดการน้ำภาคเอกชน (อีสวอเตอร์) สูบน้ำจืดต้นทุนไปส่งขายให้แก่ภาคอุตสาหกรรมจนหมดและเหลือแต่น้ำเค็มไว้ให้แก่ชาวบ้านในลำน้ำ
นายสุทัศน์ กล่าวว่า ในการทดสอบนี้ ขอให้ทางชลประทานเริ่มทำการทดสอบเมื่อภาวะน้ำเค็มหนุนขึ้นมาถึงระดับหน้าที่ว่าการ อ.บ้านโพธิ์ พร้อมกันนี้ขอให้ทางจังหวัดใช้มติที่ประชุมให้บริษัทสูบน้ำดังกล่าวหยุดสูบน้ำในช่วงระหว่างนั้นเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อรอดูว่ามีผลต่อระดับน้ำจืดจะคงอยู่ในลำน้ำได้นานเพียงใดหรือน้ำเค็มจะเคลื่อนตัวรุกล้ำเข้ามาได้เร็ว หรือช้าลงกว่าการหรี่บานประตูเขื่อน หรือการสูบน้ำต้นทุนไปหรือไม่ ซึ่งผลดังกล่าวเชื่อว่า น่าจะทราบได้ในทันทีว่าสาเหตุความผิดปกติที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำบางปะกงนั้น มีสาเหตุมาจากเขื่อนทดน้ำบางปะกงหรือบริษัทเอกชนที่เข้ามาสูบน้ำจืดต้นทุนไปขายหรือไม่
ด้าน นางสุมิตรา กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการมาหารือร่วมกันของชาวบ้านก่อนที่จะมีการตั้งคณะกรรมการบริหารการ การใช้น้ำในพื้นที่ขึ้น โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว ประกอบด้วย ส่วนราชการ คือ ทางจังหวัด นายอำเภอท้องที่ (ทั้ง อ.บางคล้า และ คลองเขื่อน) ชลประทาน ภาคประชาชนผู้ใช้น้ำ และบริษัทผู้สูบน้ำภาคเอกชนรายใหญ่เข้ามาประชุมหาข้อยุติร่วมกัน 3 ฝ่าย เพื่อให้ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนสามารถอยู่ร่วมกันได้