xs
xsm
sm
md
lg

ปมคดีพระวิหาร ศาลโลก มรดกเลือด ชี้ชะตาประชาธิปัตย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ปมคดีปราสาทพระวิหารที่กำลังงวดเข้ามาหลังการไต่สวนของศาลโลกตามคำขอคุ้มครองชั่วคราวของกัมพูชาซึ่งขอให้ไทยถอนทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหาร รวมทั้งการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ยังลูกผีลูกคนว่าจะเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการตามข้อเสนอของไทยหรือไม่ เป็นปมเงื่อนสำคัญต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเสี่ยงถูกตราหน้าว่าทำให้ไทยเสียดินแดนรอบสองหรือไม่

ภายหลังการไต่สวนคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคำขอมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของกัมพูชาอันเกี่ยวเนื่องมาจากคดีขอให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ระหว่างวันที่ 30 - 31 ก.ค. 2554 ที่ผ่านมา เสร็จสิ้นลง ประธานศาลโลกได้ขอให้ฝ่ายไทยและกัมพูชาจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมภายในวันที่ 7 มิ.ย. 2554 จากนั้นศาลจะส่งคำชี้แจงของแต่ละประเทศให้อีกฝ่ายหนึ่งทำข้อมูลแย้งและส่งคืนศาลภายในวันที่ 14 มิ.ย. 2554 หลังจากนั้นคาดว่าประมาณ 3 สัปดาห์ ศาลโลกจะมีคำตัดสินว่าจะรับหรือไม่รับคำขอให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่กัมพูชาขอให้ศาลมีคำสั่งให้ไทยถอนทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารทันทีและไม่มีเงื่อนไข

หากไล่เลียงเวลาแล้ว ประมาณการว่าศาลโลกอาจจะมีคำตัดสินรับหรือไม่รับคำขอคุ้มครองชั่วคราวฯ ประมาณปลายเดือนมิ.ย. หรือต้นก.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ใกล้เคียงกับกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 ก.ค. 2554 กรณีนี้จะเป็นประเด็นสำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์ ลุ้นระทึกว่าคำตัดสินของศาลจะออกมาในทิศทางใด ซึ่งขณะนี้ไม่มีใครคาดคะเนได้มีแต่ต้องรอการวินิจฉัยจากศาลโลกเท่านั้น แม้ว่าตัวแทนทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างเชื่อมั่นว่า เอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ฝ่ายตนเสนอต่อศาลนั้นจะสามารถโน้มน้าวศาลให้เห็นพ้องด้วย

ฝ่ายกัมพูชา ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำตีความและคำขอคุ้มครองชั่วคราว กล่าวอ้างว่า คำตัดสินของศาลโลกเมื่อปี 2505 ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาไปแล้วตามแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ที่กัมพูชายึดถือ ซึ่งรวมถึงบริเวณพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ด้วย ขณะที่ฝ่ายไทย โต้แย้งว่า คำตัดสินของศาลโลกครั้งนั้นตัดสินเฉพาะตัวปราสาทไม่ได้ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดน และไทยก็ปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกครบถ้วนแล้ว มีการขีดเส้นรอบอาณาบริเวณตัวปราสาทให้แล้วและกัมพูชาก็ยอมรับโดยมิได้ทักท้วงใดๆ จนกระทั่งเมื่อปี 2550 กัมพูชาเอาปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียวจึงอยากได้พื้นที่ 4.6 ตร.กม. รวมเข้าไปด้วยเพื่อให้แผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารมีความสมบูรณ์

ในมุมมองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งชุมนุมเคลื่อนไหวในประเด็นปราสาทพระวิหาร มองว่า การต่อสู้ทางคดีของรัฐบาลไทย แม้จะไปในทิศทางที่กลุ่มพันธมิตรฯ เสนออยู่บ้าง เช่น การยืนยันคำตัดสินของศาลโลกเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารไม่เกี่ยวกับเส้นเขตแดน
 
แต่ประเด็นสำคัญที่สุด คือการปฏิเสธอำนาจศาลโลก รัฐบาลไทยกลับไม่ทำ เพราะการที่ฝ่ายไทยขอให้ศาลวินิจฉัยอำนาจของศาลเท่ากับเป็นการยอมรับอำนาจศาลโลกว่าศาลมีสิทธิ์วินิจฉัยว่าศาลมีอำนาจหรือไม่ หากศาลวินิจฉัยว่าศาลมีอำนาจ เท่ากับไทยตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงและขึ้นอยู่กับว่าศาลโลกจะมีคำตัดสินคำขอของกัมพูชาออกมาเช่นใด ทั้งประเด็นขอคุ้มครองชั่วคราว และการตีความคำพิพากษา เมื่อปี 2505

ไม่เพียงแค่ การไม่ประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลโลกเท่านั้น การเรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอนตัวออกจากคณะกรรมการมรดกโลก ก็ได้รับการเพิกเฉยเช่นกัน กลุ่มพันธมิตรฯ เห็นว่า รัฐบาลไทยเดินเกมตามก้นกัมพูชามาตั้งแต่ต้นจนถึงบัดนี้ และมีความสุ่มเสี่ยงที่ไทยจะแพ้ในเวทีโลก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ไทยไม่เพียงแต่ต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม.เท่านั้น แต่พื้นที่ตลอดเส้นเขตแดนตลอดแนวทั้งทางบกและทางทะเลซึ่งมีทรัพยากรปิโตรเลียมมหาศาลก็จะสูญเสียไปด้วยเช่นกัน

กล่าวสำหรับกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น เรื่องนี้เป็นที่ชัดแจ้งว่า กัมพูชาไม่ได้มีความจริงใจมาตั้งแต่ต้น ดังถ้อยแถลงของคณะผู้แทนรัฐบาลไทยชี้แจงต่อศาลโลกว่า “ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2546 รัฐบาลทั้งสองฝ่ายเคยตกลงจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรีเพื่อพัฒนาพื้นที่ปราสาทพระวิหารร่วมกัน ซึ่งได้มีการหารือกันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารร่วมกัน แต่เมื่อปี 2547 กัมพูชากลับไปยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่ได้แจ้งให้ไทยทราบ อีกทั้งได้ออกพระราชกฤษฎีกาเมื่อปี 2549 กำหนดขอบเขตของปราสาท ซึ่งล้ำเข้ามาในดินแดนไทย
 
"ขณะที่ในพื้นที่ ฝ่ายกัมพูชาก็ได้รุกล้ำเข้ามาโดยการสร้างถนน วัด และชุมชน ซึ่งนอกจากจะละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทยแล้ว ยังละเมิดบันทึกความเข้าใจฯ ปี 2543 ด้วย ไทยได้พยายามเจรจาแก้ไขปัญหาเหล่านี้หลายครั้งแต่ไม่ประสบผล และไทยก็ได้ประท้วงการกระทำดังกล่าวของกัมพูชามาโดยตลอด

“ปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2551 ซึ่งจำกัดเฉพาะตัวปราสาท และกัมพูชามีพันธกรณีที่จะต้องเสนอแผนบริหารจัดการให้คณะกรรมการมรดกโลกเห็นชอบ อย่างไรก็ดี ตลอดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา กัมพูชายังไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันเรื่องนี้ เพราะไทยไม่สามารถยอมรับแผนบริหารจัดการที่กระทบสิทธิเหนือดินแดนของไทยได้ และโดยที่ดินแดนไทยส่วนที่กัมพูชาอ้างสิทธิเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกให้สำเร็จและสมบูรณ์ ซึ่งทั้งสองประเทศก็ทราบดี และนั่นคือเหตุผลที่ไทยได้เสนอให้มีการขึ้นทะเบียนร่วมหลายครั้งแต่กัมพูชาปฏิเสธมาโดยตลอด”

เมื่อกัมพูชาไม่บรรลุเป้าประสงค์ในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารซึ่งหมายรวมถึงแผนบริหารจัดการโดยรอบให้สมบูรณ์ได้ จึงสร้างความขัดแย้ง สร้างสถานการณ์เกิดเหตุปะทะกันในพื้นที่ แล้วกัมพูชาก็นำเรื่องขึ้นสู่ศาลโลกขอคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้ไทยถอนทหารออกบริเวณที่จำเป็นสำหรับกัมพูชาในการเสนอแผนบริหารจัดการให้ทันการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในปลายเดือนมิถุนายน 2554 นี้

ประเด็นเรื่องมรดกโลกนั้นแรกทีเดียวพรรคประชาธิปัตย์ มีความเชื่อมั่นว่าจะมี “ข่าวดี” ในการประชุมนอกรอบแบบทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชา ระหว่างวันที่ 25-26 พ.ค. ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยฝ่ายไทยเสนอให้เลื่อนการพิจารณาแผนดังกล่าวออกไปก่อนเนื่องจากแผนดังกล่าวไม่มีความสมบูรณ์และที่สำคัญคือมีพื้นที่บางส่วนรุกล้ำเขตแดนไทย แต่ข้อเสนอของฝ่ายไทยไม่บรรลุผล แผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ยังบรรจุอยู่ในวาระลำดับที่ 62 ในการประชุมใหญ่คณะกรรมการมรดกโลก ระหว่างวันที่ 19-29 มิถุนายนนี้ ที่ประเทศฝรั่งเศส และขึ้นอยู่กับว่าคณะกรรมการมรดกโลกจะพิจารณาเช่นใด

ถึงเวลานี้ ก่อนที่ศาลโลกจะมีคำวินิจฉัยในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า รัฐบาลไทยจึงยังพอมีเวลาที่จะรีบตัดสินใจยื่นคำประกาศไม่รับอำนาจศาลโลก เพื่อชิงออกจากเกมที่กัมพูชาวางเอาไว้แทนการถลำลึกเข้าสู่กับดักของกัมพูชาซึ่งผูกโยงผลคดีที่ศาลโลกต่อเนื่องมาถึงการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เว้นเสียแต่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องการเลือกที่จะยืนอยู่บนจุดเสี่ยงที่ทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนซ้ำรอยประวัติศาสตร์อีกครั้ง หากเป็นเช่นนั้นก็คาดหมายได้เลยว่าเลือกตั้งคราวนี้ประชาธิปัตย์อาจไปไม่ถึงฝัน
กำลังโหลดความคิดเห็น