xs
xsm
sm
md
lg

มรดกเลือด คำพิพากษา ระเบิดเวลาที่ปราสาทพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปราสาทพระวิหาร ปมความขัดแย้งไทย-กัมพูชา
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การประกาศถอนตัวจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกของไทยเป็นเพียงเกมการช่วงชิงคะแนนเสียงของนักเลือกตั้งในช่วงโค้งสุดท้ายซึ่งไม่มีผลยับยั้งการเดินหน้าแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารของกัมพูชาแต่อย่างใด การชี้ขาดในเรื่องนี้ยังคงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลโลกว่าจะให้ความคุ้มครองและตีความคำพิพากษา ปี 2505 ตามคำขอของกัมพูชาหรือจะฟังคำโต้แย้งของไทย ขณะที่ประธิปัตย์ทิ้งโอกาสไม่ประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลโลกยอมเดินเกมตามก้นกัมพูชา

การประกาศถอนตัวจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกของไทยโดยนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 35 ถึงเวลานี้เป็นแต่เพียงการประกาศเจตนาเบื้องต้นโดยยังไม่ได้มีการทำหนังสือแจ้งถอนตัวอย่างเป็นทางการ การตัดสินใจเรื่องนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2554 โยนเรื่องไปให้กับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศว่า จะถอนหรือไม่ เพราะตราบใดที่ยังไม่มีการทำหนังสือแจ้งไปเป็นทางการ ไทยก็ยังคงอยู่ในภาคีอนุสัญญาฯ และถึงจะยื่นหนังสือแสดงเจตนาขอถอนตัวอย่างเป็นทางการ ต้องรออีก 1 ปีถึงจะมีผลอย่างเป็นทางการ

การประกาศถอนตัวของไทยในเวลานี้ จึงไม่ได้มีความหมายใดๆ นอกจากการช่วงชิงคะแนนนิยมในช่วงโค้งสุดท้ายในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 นี้ โดยเฉพาะตัวนายสุวิทย์ ที่ไม่ได้กลับบ้านมือเปล่า ไม่ถูกตราหน้าว่าทำให้เสียดินแดน ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็พลอยได้โหนกระแสไปด้วย แม้จะตอบสาธารณะเรื่องนี้ได้แบบสร้างความสับสนวกไปวนมา

ขณะที่ยูเนสโก ซึ่งให้การสนับสนุนกัมพูชาในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกด้วยดีเสมอมา นอกจากจะได้ให้เงินเพื่ออนุรักษ์และจัดการ จำนวน 30,000 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2551 ในปีเดียวกันกับที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารแล้ว เมื่อปี 2553 ยังได้รับแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร ซึ่งรัฐมนตรี สุวิทย์ ได้ไปลงนามรับแผนดังกล่าวนั้นด้วย แล้วกลับมาบอกกับปวงชนชาวไทยว่ามีการเลื่อนการพิจารณาออกไปเพราะส่งเอกสารมาให้กระชั้นชิดมากเกินไปทำให้ศึกษาไม่ทัน

มาปีนี้ ตัวแทนฝ่ายไทยและกัมพูชามีการประชุมกันนอกรอบที่กรุงปารีสก่อนหน้าที่จะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ในการประชุมนอกรอบคราวนั้นผู้อำนวยการยูเนสโก ได้เข้าร่วมประชุมทีละฝ่ายเพื่อหาข้อสรุปก่อนแต่สุดท้ายกลับล้มเหลว ขณะที่ สุวิทย์ และ อภิสิทธิ์ หลอกคนไทยด้วยกันว่า “มีข่าวดี”

เมื่อฝ่ายไทยประกาศถอนตัวออกจากอนุภาคีฯ กลางที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา การพิจารณาแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารก็ไม่ได้สะดุดหยุดลง เพียงแต่ว่าเลี่ยงไปใช้ถ้อยคำอื่นแทนเพื่อลดความขัดแย้ง โดยที่ประชุมได้พิจารณาวาระ 7 B เรื่องความคืบหน้าในการปกปักรักษาปราสาทพระวิหาร โดยเน้นย้ำให้ประเทศภาคีคือกัมพูชาดำเนินการตามข้อแนะนำในการปฏิบัติการของคณะกรรมการมรดกโลก (Operational Guideline)
 
นั่นหมายความว่า กัมพูชาได้เดินหน้าบูรณะฟื้นฟูตามแผนบริหารจัดการที่ได้เสนอไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วต่อไป โดยพื้นที่ในการเข้าฟื้นฟูบูรณะนั้นคือ โซน 1 ตัวปราสาทพระวิหาร และพื้นที่กันชน โซน 2 ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกและด้านใต้ของกัมพูชา ส่วนพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตรนั้นกัมพูชาได้ตัดไปออกไปตั้งแต่ช่วงที่ขอขึ้นทะเบียนแล้ว (อ่านข่าวประกอบ กัมพูชาเดินหน้าแผนบริหารจัดการพระวิหาร ท้าทายไทยร้องยูเนสโกระงับ)

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า กัมพูชาจะตัดพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรออกไปจากแผนบริหารจัดการ แต่กัมพูชาหาได้ละความพยายามที่จะผนวกเอาพื้นที่ดังกล่าวเข้ามาด้วยเพื่อให้แผนบริหารจัดการรอบปราสาทพระวิหารมีความสมบูรณ์ เพราะหากทำเพียงแค่โซน 1 และ โซน 2 ทำให้การจัดการพื้นที่เว้าแหว่ง เนื่องจากทำได้เพียงฝั่งกัมพูชาข้างเดียว ดังนั้น กัมพูชาจึงยื่นเรื่องขอให้ศาลโลกให้ความคุ้มครองชั่วคราวและตีความคำพิพากษา ปี 2505 โดยกล่าวอ้างต่อศาลโลกว่า คำตัดสินของศาลโลกเมื่อปี 2505 ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาไปแล้วตามแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ซึ่งตามแผนที่ดังกล่าวรวมอาณาบริเวณถึงพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ด้วย

ขณะที่ไทยโต้แย้งว่าคำตัดสินของศาลโลกตัดสินเฉพาะตัวปราสาทไม่ได้ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดน และไทยได้ปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกครบถ้วนแล้วโดยการขีดเส้นรอบอาณาบริเวณตัวปราสาทและกัมพูชาก็ยอมรับโดยไม่ได้มีการทักท้วงใดๆ กระทั่งปี 2550 กัมพูชาเอาปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียวจึงอยากได้พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รวมเข้าไปด้วยเพื่อให้แผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารมีความสมบูรณ์ โดยกัมพูชาได้ออกพระราชกฤษฎีกาเมื่อปี 2549 กำหนดขอบเขตของปราสาท ซึ่งล้ำเข้ามาในดินแดนไทย ขณะที่ในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ฝ่ายกัมพูชาก็ได้รุกล้ำเข้ามาโดยการสร้างถนน วัด และชุมชน

การต่อสู้ในเวทีศาลโลกสำหรับไทยนั้น ประเด็นสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งก็คือการปฏิเสธอำนาจศาลโลก ซึ่งที่ผ่านมาจนบัดนี้รัฐบาลไทยภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ทำ คล้ายๆ กับการถอนตัวออกจากอนุภาคีมรดกโลกที่มาตัดสินใจเอานาทีสุดท้ายซึ่งแทบไม่มีความหมายอะไร ข้อต่อสู้ที่ฝ่ายไทยขอให้ศาลวินิจฉัยอำนาจของศาลเท่ากับเป็นการยอมรับอำนาจศาลโลกว่าศาลมีสิทธิ์วินิจฉัยว่าศาลมีอำนาจหรือไม่ หากศาลวินิจฉัยว่าศาลมีอำนาจ เท่ากับไทยตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงและขึ้นอยู่กับว่าศาลโลกจะมีคำตัดสินคำขอของกัมพูชาออกมาเช่นใด ทั้งประเด็นขอคุ้มครองชั่วคราว และการตีความคำพิพากษา เมื่อปี 2505

อนึ่ง ศาลโลกไต่สวนคดี เมื่อวันที่ 30 - 31 กรกฎาคม 2554 โดยประธานศาลโลกขอให้ไทยและกัมพูชาจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2554 จากนั้นศาลได้ส่งคำชี้แจงของแต่ละประเทศให้อีกฝ่ายหนึ่งทำข้อมูลแย้งและส่งคืนศาลภายในวันที่ 14 มิ.ย. 2554 จากนั้นคาดว่าประมาณ 3 สัปดาห์ ศาลโลกจะมีคำตัดสินว่าจะรับหรือไม่รับคำขอให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่กัมพูชาร้องขอ

ขณะนี้ ใกล้ถึงเวลาที่ศาลโลกจะพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำขอให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่กัมพูชาขอให้ศาลมีคำสั่งให้ไทยถอนทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารทันทีและไม่มีเงื่อนไข การเคลื่อนไหวของฝ่ายกัมพูชาตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะบริเวณปราสาทพระวิหารทั้งการเสริมกำลัง อาวุธยุทโธปกรณ์ ส่อแสดงถึงเจตนาเพื่อสร้างสถานการณ์ความไม่สงบขึ้นอีกครั้งแล้วป้ายความผิดมายังฝ่ายไทยเป็นผู้เริ่มลงมือก่อนดังเช่นที่กัมพูชาโพนทะนามาโดยตลอด
 
การกระทำของฝ่ายกัมพูชา เพื่อหวังส่งหลักฐานต่อศาลโลกในช่วงที่จะมีการตัดสินชี้ขาดเพื่อโน้มน้าวให้ศาลเห็นว่ามีความไม่สงบเกิดขึ้น สมควรสั่งให้ไทยถอนทหารทันทีและไม่มีเงื่อนไข เพราะเมื่อการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกผ่านไปแล้วกัมพูชาก็ไม่ต้องเสแสร้งสร้างบรรยากาศแห่งความสงบเพื่อให้เข้ากับเงื่อนไขของมรดกโลกและให้ไทยนำไปอ้างเป็นเหตุผลว่าพื้นที่บริเวณรอบปราสาทยังมีปัญหาการปะทะแต่อย่างใด

เมื่อมีโอกาสแล้วกลับไม่ลงมือช่วงชิงปฏิเสธอำนาจศาลโลก ก็ต้องลุ้นระทึกกันต่อไปว่า ไทยจะติดกับดักกัมพูชาถึงขั้นสุดท้ายแล้วต้องถอนทหาร สูญเสียดินแดนตลอดแนวชายแดนไทยกัมพูชาทั้งทางบกและทางน้ำตามแผนที่ 1 ต่อ 200,000 หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น