xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนเหลวเป๋ว ไม่อาจแก้ไขข้อพิพาทไทย-เขมรได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ประธานาธิบดีสุสิโล บัมบัง ยุโดโยโน ของอินโดนีเซีย (ขวา) นั่งหารือ กับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ของไทย ระหว่างการประชุมนอกรอบการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 18 ที่กรุงจาการ์ตา โดยทั้งผู้นำของไทยและกัมพูชาได้พบกับประธานาธิบดียุโดโยโนเพื่อเจรจาเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งบริเวณพรมแดน.-- AFP PHOTO / POOL / Sonny Tumbelaka. </font></b>

เอเอฟพี - บรรดาผู้นำอาเซียนประสบความล้มเหลวในวันนี้ (8 พ.ค.) ไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งทางชายแดนระหว่างไทย กับกัมพูชา โดยที่ประเด็นนี้ได้กลายเป็นเรื่องที่ครอบงำการประชุมสุดยอดที่อินโดนีเซียคราวนี้ และบดบังความพยายามที่จะบูรณาการกันเพื่อกลายเป็นประชาคมหนึ่งเดียวของภูมิภาคแถบนี้

บรรดาผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน กล่าวว่า ความขัดแย้งดังกล่าวกำลังคุกคามความเป็นหนึ่งเดียวกันของภูมิภาคและบดบังยุทธศาสตร์สำคัญการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้ทั้งสองประเทศประนีประนอมกันได้

ในคำแถลงสุดท้ายของบรรดาผู้นำอาเซียน กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นควรได้รับการแก้ไขในจิตวิญญาณอันเป็นหนึ่งเดียวกันของอาเซียน และยังยินดีกับข้อตกลงในหลักการที่จะอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ทางทหารของอินโดนีเซียเดินทางไปยังพรมแดนที่เป็นข้อพิพาทดังกล่าว และเรียกร้องให้อินโดนีเซียที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปัจจุบันดำเนินความพยายามในการไกล่เกลี่ยต่อไป

ทางด้านประธานาธิบดี สุสิโล บัมบัง ยุทโดโยโน ของอินโดนีเซีย ได้เป็นประธานในการประชุมนอกรอบกับผู้นำของไทยและกัมพูชาในเช้าวันนี้ (8 พ.ค.) แต่ไม่บรรลุความก้าวหน้าในการเจรจา โดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชา กล่าวยอมรับหลังการประชุม ว่า เหตุความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้การประชุมครั้งนี้เสียทิศทาง ซึ่งตั้งใจจะมุ่งเน้นไปที่แผนระยะยาวในการสร้างประชาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในปี 2558

“ทุกคนทราบว่า ปัญหาพรมแดนของไทยและกัมพูชาทำลายบรรยากาศการประชุมและยังสร้างอุปสรรคให้กับอาเซียน และผมไม่แน่ใจว่าจะก้าวหน้าหรือไม่ แต่อย่างน้อยบรรยากาศในการประชุมเป็นไปด้วยดี” นายกฯ ฮุนเซน กล่าว

ในเหตุปะทะกันระหว่างกองกำลังของไทยและกัมพูชา บริเวณพรมแดนที่อ้างสิทธิครอบครองเหนือพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ที่ตัวปราสาทนั้นเป็นของกัมพูชา มีผู้เสียชีวิตไปทั้งหมด 18 คน และประชาชนอีก 85,000 ต้องอพยพจากที่อยู่อาศัย

ก่อนหน้านี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนวันแรก (7 พ.ค.) นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ได้กระทำสิ่งที่ไม่ค่อยปรากฏในการประชุมหารือของอาเซียน โดยได้กล่าวหาไทยรุกราน และพยายามยืดระยะความขัดแย้งให้ยาวนานออกไป เพื่อต้องการที่จะคุกคามกัมพูชาที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านสมาชิกอาเซียนที่อ่อนแอกว่า

ทางด้าน นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ของไทย กล่าวตอบ เขาพร้อมที่จะเจรจาหารือและยืนยันให้แก้ไขปัญหานี้ในลักษณะระหว่างสองประเทศ แทนการแก้ไขภายใต้การดำเนินการของสหประชาติตามที่กัมพูชาต้องการ และเห็นพ้องว่า ปัญหาความขัดแย้งนี้ ซึ่งไม่ได้เป็นวาระอย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งนี้ ได้ทำลายความน่าเชื่อถือของอาเซียนในเรื่องการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาคและการมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในกิจการระดับโลก

“ผมยอมรับว่า ประเด็นดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของอาเซียน ดังนั้น เราต้องแน่ใจว่าปัญหาควรได้รับการแก้ไขระหว่างสองประเทศ และหากจำเป็นก็ควรแก้ไขโดยได้รับการอำนวยความสะดวกในระดับภูมิภาค” นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าว และว่า ฝ่ายไทยทราบเป็นอย่างดีว่าปัญหาความขัดแย้งใดๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถบ่อนทำลายความพยายามในการสร้างประชาคมอาเซียน
<br><FONT color=#000033>นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชา (กลาง) พร้อมกับนายฮอนัมฮอง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา (ซ้าย) และเจ้าหน้าที่รายหนึ่ง แถลงข่าวการประชุมนอกรอบที่มีขึ้นในวันนี้ (8พ.ค.) หลังหารือกับนายกรัฐมนตรีของไทย โดยระบุว่า การเจรจาไม่คืบหน้ามากนักแต่บรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยดี.-- AFP PHOTO/POOL/Sonny Tumbelaka. </font></b>
อินโดนีเซียนั้นกำลังพยายามหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาในนามของอาเซียน แต่จนถึงขณะนี้สำเร็จเพียงแค่การทำให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับในเชิงหลักการที่จะรับคณะผู้สังเกตการณ์ทางทหารจำนวนหนึ่งไปยังบริเวณพรมแดนดังกล่าว

เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ผู้นำของทั้งสองประเทศเพียงแค่เห็นชอบที่จะจัดให้มีการหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยกับกัมพูชาขึ้นอีกครั้งในวันจันทร์ (9 พ.ค.) ที่กรุงจาการ์ตา เพื่อหารือประเด็นความขัดแย้งอื่นๆ เพิ่มเติม

ทางด้าน นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน พยายามมองโลกในแง่ดีโดยกล่าวว่า การหารือที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสัญญาณที่ดี แต่บรรดาผู้นำประเทศสมาชิกคนอื่นๆ กลับไม่เห็นพ้องด้วยเช่นนั้น

ประธานาธิบดี เบนิกโน อะคีโน ของฟิลิปปินส์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันเสาร์ (7 พ.ค.) ว่า ความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนกำลังอยู่ในอันตราย และกล่าวย้ำถึงความกังวลว่าปัญหาความขัดแย้งอาจเลวร้ายลง

“เราจะสามารถทำให้อาเซียนรวมเป็นหนึ่งได้อย่างไร หากสองส่วนสำคัญไม่สามารถแก้ปัญหาของพวกเขาได้” ประธานาธิบดีอะคีโน กล่าว

นอกเหนือไปจากเรื่องการบูรณาการในทางยุทธศาสตร์แล้ว ประเด็นอื่นๆ ที่นำมาเจรจาในที่ประชุมคราวนี้ยังประกอบไปด้วย ประเด็นความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนในทะเลจีนใต้ การค้ามนุษย์ และการเสนอชื่อติมอร์ตะวันออกเข้าร่วมเป็นสมาชิก

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่อาเซียนหลายรายแจ้งในวันศุกร์ (6 พ.ค.) ว่า พม่ามีความต้องการที่จะทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนในปี 2557 ปรากฏว่า ในคำแถลงของประธานอาเซียนในช่วงท้ายของการประชุมได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในเวลาต่อไป

นอกจากนั้น อาเซียนยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนาการเจรจากับรัฐบาลจีน เกี่ยวกับข้อปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ทางทะเลที่จีนกับประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศต่างอ้างสิทธิเหนือเขตแดนดังกล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น