xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.สวล.แนะตั้งกรรมการร่วมท่าเรือ-ชาวบ้านถกปัญหาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

– คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ลงพื้นที่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ดูปัญหาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ศูนย์ข่าวศรีราชา - คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ลงพื้นที่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ดูปัญหาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมแนะชาวบ้านและท่าเรือแหลมฉบัง ตั้งคณะกรรมการร่วมถกปัญหาโครงการท่าเรือเฟส 3

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคม คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นำโดย นางภารดี จงสุขธนามณี ประธานคณะอนุกรรมาธิการได้เดินทางมาลงพื้นที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา และ จังหวัดชลบุรี เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงและข้อร้องเรียน โครงการก่อสร้างนิคมอมตะ แห่งที่ 2 และติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของเทศบาลนครแหลมฉบัง และรับฟังข้อเท็จจริงและข้อมูลการร้องเรียนโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3

วันนี้ (19 พ.ค.) คณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้เดินทางมาที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรับทราบปัญหาต่างๆ โดยมีผู้บริหารของท่าเรือแหลมฉบัง และตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมพูดคุย ซึ่งตัวแทนชาวบ้านได้ร้องเรียนถึงความเดือดร้อนต่างๆ ที่ได้รับจากการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ทั้งไม่มีที่ทำกิน และที่ประกอบอาชีพ

นายสนธิ คชวัฒน์ อนุกรรมาธิการและเลขานุการด้านสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เปิดเผยว่าหลังจากรับฟังปัญหา เห็นว่า ในกรณีของนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร มีระบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่ต้องเน้นการสร้างความไว้วางใจแก่ประชาชนโดยรอบให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาเยี่ยมชมโครงการต่างๆ ในเขตนิคมอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนยังเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ส่วนการขยายเขตนิคมฯเพิ่มเติม ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้มาก และฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนด้วย

สำหรับที่เทศบาลนครแหลมฉบังนั้น เห็นควรว่า ให้เทศบาลจัดให้มีการศึกษาโครงการเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม เพื่อรองรับการเป็นเมืองพิเศษในอนาคต และให้เทศบาลนครแหลมฉบังทำการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในปัจจุบันยังมีน้ำเสียที่ปล่อยทิ้งลงคลองสาธารณะ โดยไม่ผ่านการบำบัดมากถึงวันละ 25,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และให้ประสานกับภาคเอกชนในพื้นที่ในการเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่เยี่ยมชมโครงการ และให้ข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความมั่นใจต่อชุมชนและสังคม

ส่วนกรณีที่ประชาชนร้องเรียน เรื่องการก่อสร่างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 นั้น เห็นควรให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยศึกษาภาพรวมของทั้ง 3 เฟส เพื่อเสนอมาตรการการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยการท่าเรือฯ ต้องเสนอแผนในการชดเชยการสูญเสียแหล่งที่ทำกินและการสูญเสียโอกาสของกลุ่มชาวประมงในการประกอบอาชีพ พร้อมทั้งต้องรับข้อห่วงกังวลของประชาชนไปพิจารณา และต้องดำเนินการตามมาตรการ การรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของท่าเรือ เฟส 2 ให้ครบก่อน เพราะปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่อของการกัดเซาะชายฝั่งและการขุดลอกลำคลอง

รวมทั้งต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามามีส่วนร่วม ในการรับทราบข้อเท็จจริง และร่วมให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการ

นอกจากนี้ การท่าเรือฯ จะต้องจัดทำโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมแก่ประชาชนโดยรอบ และที่สำคัญ คือ ทั้งสองฝ่าย คือ การท่าเรือฯ และผู้ร้องเรียน คือ ชาวประมง จะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1ชุด เพื่อหารือร่วมกันโดยการเปิดโต๊ะกลมเจรจา รับฟังความคิดเห็นของทั้งสองฝ่ายอย่างมีเหตุมีผล โดยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดไปหารือกันว่า ตกลงจะส่งตัวแทนเข้าร่วมในการตั้งคณะทำงานชุดดังกล่าวหรือไม่ โดยให้เวลาในการดำเนินการ 3 วัน หลังจากนี้ทางคณกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา จะติดตามความก้าวหน้า และตรวจสอบการทำงานเรื่องดังกล่าวเป็นระยะๆ ต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น