xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ แปดริ้วเตรียมแผนรับมือภัยแล้งหลังคลองน้ำแห้งขอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราเตรียมแผนรับมือภัยแล้ง หลังพื้นที่การเกษตรน้ำหดหายรวดเร็วกว่าทุกปี ขณะน้ำเค็มในตอนล่างดันขึ้นสูงตลอดลำน้ำบางปะกง ก่อนเกษตรกรตั้งตัวพร้อมประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันจัดสรร บริหารจัดการผันใช้น้ำอย่างคุ้มค่า

นายกิตติ ทรัพย์วิสุทธิ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้นำคณะหัวหน้าส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ต่อการบริหารจัดการใช้น้ำในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ด้านฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกง ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานโครงการชลประทาน จ.ฉะเชิงเทรา โครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต เกษตรจังหวัด การประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดฉะเชิงเทรา และบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีทส์วอเตอร์ เพื่อชี้แจงสถานการณ์ภัยแล้ง ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมแถลงข่าวถึงการเตรียมการรับมือภัยแล้ง ซึ่งเชื่อว่าอาจมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าทุกปี หลังพบสัญญาณบอกเหตุจากปัจจัยหลายด้าน จนทำให้ลำคลองหลายสายในพื้นที่ น้ำแห้งขอดลงอย่างรวดเร็ว

นายไชยงค์ จงอาสาชาติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวชี้แจ้งสถานการณ์น้ำในภาพรวม ของจังหวัดฉะเชิงเทราว่า สถานการณ์ภัยแล้งในเขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ในปีนี้นั้น มีแนวโน้มที่จะรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัจจัยหลายด้าน ทั้งจากปัญหาน้ำเค็มหนุนขึ้นเร็วไหลเข้ามาในลำน้ำบางปะกงตลอดสายอย่างรวดเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ม.ค.54 น้ำเค็มได้หนุนสูงขึ้นไปจนถึงประตูน้ำบางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว ซึ่งเป็นแนวสุดเขตของจังหวัดฉะเชิงเทรา รอยต่อกับ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งถือว่าน้ำเค็มหนุนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ถึงกว่า 1 เดือนเศษ

จึงทำให้ทางชลประทานจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงต้องทำการเร่งปิดทำนบ และประตูกั้นน้ำเค็มที่ตัวอาคารระบายน้ำจำนวน 24 แห่ง และทำนบชั่วคราวที่บริเวณปากคลองในพื้นที่ตลอดแนวด้านฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกง 10 แห่ง รวม 34 แห่ง เพื่อไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้ามาสู่ในพื้นที่ภาคการเกษตรกรรม หลังจากปิดประตูระบายน้ำ จึงทำให้น้ำในลงคลองสาขาลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเกษตรกร ต่างได้พากันเร่งระดมสูบน้ำไปใช้ทำนาปรัง จนทำให้น้ำจืดที่ได้ทำการปิดประตูทำนบกักเก็บเอาไว้ภายในลำคลองในโครงการฯ พระองค์ไชยานุชิต แห้งขอดหมดลงไปอย่างรวดเร็วในที่สุด

ขณะที่ นายสมชาย คณาประเสริฐกุล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางโครงการฯ ได้ร้องขอรับน้ำสนับสนุน จากเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่ประมาณ 200 กม.ให้ช่วยระบายน้ำจากตอนบน เพื่อนำมาช่วยเหลือพื้นที่ภาคการเกษตร จำนวน 987,352 ไร่ วันละ 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบม.) ตั้งแต่เมื่อต้นเดือน ม.ค.54 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการทำนาปรัง เนื่องจากต้นเหตุของปัญหาที่สำคัญ และเป็นปัจจัยทำให้น้ำในคลองชลประทานขาดแคลน และหมดลงไปอย่างรวดเร็วนั้น

ส่วนหนึ่งมาจากโครงการประกันราคาข้าวจากชาวนา ของรัฐบาล ที่เกษตรกรผู้ทำนาปรังจะต้องหยุดชะงักการทำนาลง ให้ล่าช้ากว่าทุกปี เพื่อชะลอการทำนาให้อยู่ในช่วงของกำหนดระยะเวลาการประกันราคาข้าวของรัฐบาล ซึ่งล่าช้ากว่าทุกปีถึงเกือบ 2 เดือน จึงทำให้ในช่วงเวลาก่อนที่น้ำเค็มจะหนุนขึ้นสูงนั้น เกษตรกรจึงยังไม่ได้เริ่มทำการสูบน้ำเข้าทำนา หรือสูบน้ำเพื่อกักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ทำนา และเมื่อถึงช่วงกำหนดระยะเวลาตามที่ รัฐบาลกำหนดประกันราคาข้าว เกษตรกรจึงได้พากันเร่งระดมแย่งชิงกันสูบน้ำขึ้นมาทำนา จึงทำให้น้ำในลำคลองแห้งขอดลงไปอย่างรวดเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา

ด้านนายกิตติ ทรัพย์วิสุทธิ์ กล่าวว่า ในปีนี้ทางจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เร่งเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการวางแผนรับมือ ต่อสถานการณ์ภัยแล้งไว้แล้ว โดย ได้ให้ทางชลประทาน โครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต ขอรับน้ำจากแหล่งต้นทุนน้ำตอนบน ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนเจ้าพระยา และป่าสักชลสิทธิ์ ให้ช่วยระบายน้ำสนับสนุนลงมาช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมทั้งได้ให้ทางผู้ผลิตประปา ทั้งการประปาส่วนภูมิภาค จ.ฉะเชิงเทรา และบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีทส์ วอเตอร์ งดการสูบน้ำจากคลองชลประทาน

โดยให้ทั้งสองหน่วยงาน หันไปใช้น้ำจากแหล่งน้ำสำรอง ที่เคยสูบขึ้นจากแม่น้ำบางปะกง ในช่วงฤดูน้ำหลาก ไปกักเก็บไว้ยังแหล่งพักน้ำ ทั้งในเขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ประมาณ 1.4 ล้าน ลบม. และในพื้นที่ จ.ชลบุรี 4.4 ล้าน ลบม. นำกลับออกมาใช้ในช่วงฤดูแล้งระยะนี้ พร้อมทั้งยังขอให้ ทางสำนักงานเกษตรจังหวัด เร่งเข้าไปทำความเข้าใจต่อเกษตรกร ไม่ให้แย่งกันสูบน้ำเพื่อนำไปกักเก็บไว้เองโดยไม่จำเป็น เพราะจะมีการสูญเสียน้ำมากกว่าการปล่อยให้น้ำอยู่ในระบบของชลประทาน เพราะหากทุกคนพากันเร่งสูบน้ำขึ้นไปกักเก็บไว้เองทั้งหมด น้ำที่จะส่งมาช่วยเหลือจากแหล่งน้ำตอนบน ก็จะหายไปจากระบบจนทำให้การระบายน้ำส่งมาสนับสนุนเท่าใดก็ไม่เพียงพอทั่วถึงกัน



กำลังโหลดความคิดเห็น