xs
xsm
sm
md
lg

อย. เตรียมคลอดประกาศอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้เร็ว ๆ นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี
อย. เตรียมออกประกาศฉบับใหม่ ยกเลิกประกาศฉบับเดิม เรื่อง กำหนดเงื่อนไขการนำเข้าอาหารที่มีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ระบุปรับลดจังหวัดที่มีความเสี่ยง เหลือ 8 จังหวัด มีผลบังคับใช้เร็ว ๆ นี้

 

            นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ได้ดำเนินการเฝ้าระวังอาหารที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ อย. เตรียมยกเลิกประกาศฉบับเดิม เรื่อง กำหนดเงื่อนไขการนำเข้าอาหารที่มีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ลงวันที่ 11เม.ย.2554 และออกประกาศ ฉบับใหม่ เรื่อง กำหนดเงื่อนไขการนำเข้าอาหารที่มีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี โดยกำหนดให้อาหารทุกประเภท ยกเว้น วัตถุเจือปนอาหาร วัตถุแต่งกลิ่นรส วัตถุที่ใช้รักษาคุณภาพอาหารที่ผลิตจากประเทศญี่ปุ่นในเขตพื้นที่ 8 จังหวัด ฟูกูชิมะ กุมมะ อิบารากิ โทจิงิ มิยางิ โตเกียว ชิบะ และคานากาวะ ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ต้องเป็นไปตามมาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ซึ่งตรวจพบได้ไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ลงวันที่ 11 เม.ย.54โดยผู้นำเข้าต้องจัดให้มีหลักฐานระบุประเภท ชนิดอาหาร ปริมาณกัมมันตรังสี และพื้นที่ที่ผลิตอาหารจากหน่วยงานใดหน่วยงาน ได้แก่ หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบของประเทศญี่ปุ่น หน่วย งานอื่นที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบของประเทศญี่ปุ่น ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานของรัฐ ห้องปฏิบัติการที่ได้รับมอบหมายหรือได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ และห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบตาม มาตรฐานสากล

          เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ประกาศฉบับนี้ อย. ได้กำหนดให้ผู้นำเข้าอาหารทุกประเภท ยกเว้นวัตถุเจือปนอาหารวัตถุแต่งกลิ่นรส วัตถุที่ใช้รักษาคุณภาพอาหาร จากประเทศญี่ปุ่นที่ผลิตจากเขตพื้นที่อื่น นอกเหนือเขตพื้นที่ 8 จังหวัด ต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้าที่มีการเพาะปลูกหรือเพาะเลี้ยงหรือผลิตในเขตดังกล่าว (Certificate of Origin: COO) ซึ่ง ออกโดยหน่วยงานของรัฐของประเทศญี่ปุ่น หรือหน่วยงานอื่นที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบของประเทศ ญี่ปุ่น หรือสภาหอการค้าและอุตสาหกรรม (Chamber of Commerce and Industry) ของ ประเทศญี่ปุ่น แสดงที่ด่านนำเข้าทุกครั้งที่นำเข้า กรณีไม่มีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้า ผู้นำเข้าอาจใช้หลักฐานแสดงผลการตรวจวิเคราะห์ (Certificate of Analysis: COA) ระบุ ประเภท ชนิดอาหารและปริมาณกัมมันตรังสี จากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบของประเทศญี่ปุ่น ห้องปฏิบัติการ ที่ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบตามมาตรฐานสากล แทนได้ สำหรับประกาศฉบับใหม่นี้อยู่ระหว่าง รอประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้เร็ว ๆ นี้  

เลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้ อย. ได้เก็บตัวอย่างสุ่มตรวจหาสารกัมมันตรังสี (ณ วันที่ 27 พ.ค.54) จำนวนทั้งสิ้น 332 ตัวอย่าง ได้รับผลตรวจแล้ว 322 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์หาสารกัมมันตรังสี ทุกรายการอยู่ในระดับ “ปกติ” ขอ ผู้บริโภควางใจการดำเนินงานของ อย. ซึ่งที่ผ่านมา อย. ได้ติดตามสถานการณ์รอบด้านอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ อย. ขอบคุณผู้นำเข้าที่ให้ความร่วมมือในการร่วมกันคุ้มครองผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม อย.จะรายงานผลการตรวจวิเคราะห์และสถานการณ์ความคืบหน้าให้ประชาชนได้ทราบ ผ่านทุกสื่อ รวมทั้ง เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th และ Social Media: Facebook: Fda Thai และ Twitter: FDAthai อย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น