xs
xsm
sm
md
lg

สธ.จ่อแก้กฎคุมรังสีปนเปื้อนอาหารนำเข้า 3 ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
“จุรินทร์” เตรียมแก้ไขประกาศควบคุมปริมาณรังสีปนเปื้อนในอาหารนำเข้า 3 ตัว จากเดิมซีเซียม 137 จะเพิ่มซีเซียม 134 และไอโอดีน 131 ด้วย จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอาหารฯ 7 เมษายนนี้หลัง มีผลบังคับใช้ ผู้นำเข้าจะต้องแนบผลการตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานไอเอส โอ 17025 พร้อมระบุวันเวลาที่ผลิตให้ชัดเจน แจงผลตรวจอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นพบทุกตัวอย่างค่ารังสีไอโอดีน 131 ไม่เกินมาตรฐาน

 
วันนี้ (31 มี.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการเฝ้าระวังผลกระทบจากภัยพิบัติที่ประเทศญี่ปุ่นว่า มาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการต่อไปในเรื่องการเฝ้าระวังอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น จะเน้นหนักใน 4 กลุ่ม ได้แก่
1.อาหารทะเลจะมีการสุ่มตรวจต่อไป ยังไม่มีมาตรการเปลี่ยนแปลง
2.ผัก ผลไม้ และพืชหัว จะตรวจทุกรายการที่นำเข้าจากเกาะฮอนชู
3.นม จะตรวจทุกรายการเช่นเดียวกัน แต่ขณะนี้ไทยยังไม่มีการนำเข้านมจากญี่ปุ่นแต่อย่างใด

และ 4.จะออกประกาศหรือแก้ไขประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยรังสีปนเปื้อนโดยประกาศที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น กำหนดรังสีปนเปื้อนเพียงรายการเดียว คือ ซีเซียม 137 (Caesium-137) จะปรับแก้โดยเพิ่มรังสีปนเปื้อนอีก 2 รายการ คือ ซีเซียม 134 (Caesium-134) กำหนดให้ไม่เกิน 50 เบกเคอเรลต่อกิโลกรัม และไอโอดีน 131 กำหนดให้ไม่เกิน 100 เบกเคอเรลต่อกิโลกรัม จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอาหารในวันที่ 7 เมษายน 2554
 

หลังจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไป เมื่อมีผลบังคับใช้แล้วผู้นำเข้าอาหารรายการต่างๆ ที่ระบุไว้จะต้องแนบผลการวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการในพื้นที่แหล่งกำเนิดที่กำหนดด้วย ทุกรายการ รวมทั้งระบุวันเวลาที่ผลิตหลังจากวันที่ 15 มีนาคม 2554 โดยห้องปฏิบัติการที่ให้การรับรองจะต้องผ่านมาตรฐานไอเอสโอ 17025 (ISO 17025) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเช่นเดียวกับหลายประเทศที่ได้ดำเนินการแล้วในขณะนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มอียู รวมทั้งกลุ่มประเทศอาเซียน

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับการตรวจอาหารนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15-30 มีนาคม 2554 ตรวจแล้ว 122 ตัวอย่าง ทราบผล 103 ตัวอย่าง ทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีเพียง 1 รายการที่ได้อายัดไว้ คือ มันเทศ ที่ตรวจพบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 (Iodine-131) 15.25 เบกเคอเรลต่อกิโลกรัม แม้จะอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือไม่เกิน 100 เบกเคอเรลต่อกิโลกรัม

ส่วนมาตรการเฝ้าระวังการปนเปื้อนรังสีในคนไทยที่เดินทางไปและกลับจากญี่ปุ่น ในส่วนผู้โดยสารขาเข้า ยังคงใช้มาตรการแจกเอกสารคำแนะนำบนเครื่องบินในเที่ยวบินที่มีคนไทยเดิน ทางกลับมาจากญี่ปุ่น และมีหน่วยให้บริการให้คำปรึกษาเรื่องรังสีที่สนามบินสุวรรณภูมิ และผู้โดยสารขาออกที่เดินทางไปญี่ปุ่นจะมีการแจกเอกสารให้คำแนะนำสำหรับทุกเที่ยวบินที่มีคนไทยเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อให้ทราบแนวทางในการปฏิบัติตน
กำลังโหลดความคิดเห็น