xs
xsm
sm
md
lg

“นายหัวชิน” เร่งลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เดินหน้ายกระดับการเรียนการสอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศธ.
รมว.ศึกษาฯ ประชุมจังหวัด-ชุมชนท้องถิ่น เสริมสร้างครูดี ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับจังหวัดและท้องถิ่น เดินหน้าการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ด้วยการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน ชี้เด็กไทย 1 ใน 3 มีปัญหา

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานการประชุม “จังหวัดและชุมชนท้องถิ่นจะปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้อย่างไร” ผ่านคณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับจังหวัดและท้องถิ่นทั่วประเทศ จัดโดยความร่วมมือของหลายองค์กรภายใต้การประสานของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

รมว.ศธ.กล่าวว่า มีรายงานพบว่า 1 ใน 3 ของเด็กไทยยังเป็นกลุ่มที่มีปัญหา การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของไทยมุ่งไปที่ตัวเด็กและเยาวชน ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 มีเป้าหมาย 3 ข้อ คือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษา, การขยายโอกาสทางการศึกษา และ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารการจัดการศึกษา จึงเป็นที่มาของแผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษา ซึ่งนำมาสู่การเกิดคณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อสร้างสังคมให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ มีความสามารถทางการแข่งขัน และยังสามารถยึดโยงกับท้องถิ่น และภูมิปัญญาของแต่ละพื้นที่ ก้าวต่อไปของรัฐบาลคือการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน 2 โครงการ คือ 1.โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง “ครูสอนดี” และการสร้างโอกาสเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 2.โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาทักษะอาชีพ ให้เด็กเยาวชนด้อยโอกาสสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมถึงกลุ่มประชากรที่ต้องการพัฒนาศักยภาพ

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางและนโยบายการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวถึงสถานการณ์เด็กเยาวชนที่ขาดโอกาสทางสังคม รวมถึงกลุ่มแรงงานขั้นต่ำ จำนวน 13.8 ล้านคน จำแนกได้ 5 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กนอกระบบการศึกษา 2-3 ล้านคน, เด็กพิการทางกายและทางสมอง 1.7 ล้านคน, เด็กชนบทห่างไกล 1.6 แสนคน, เด็กเยาวชนที่ต้องคดี 50,000 คน และ กลุ่มแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่หลุดจากระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค. กล่าวถึงภาระของจังหวัดในการแบกรับภาระเด็กเยาวชนในแต่ละกลุ่ม อาทิ เด็กยากจนที่รายได้ครอบครัวไม่ถึง 20,000 บาทต่อปี มีราว 50,000 คน เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะออกกลางคัน และก้าวเข้าสู่ปัญหาและความเสี่ยงอื่นๆ, ค่าเฉลี่ยแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปี ที่มีอัตราทำคลอด 3-4 คนต่อวัน หรือปีละ 1,000-1,500 คน, เด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ จำนวนถึง 20,000-25,000 คน หากขาดระบบดูแลที่ถูกต้องทันเวลาจะกลายเป็นเด็กมีปัญหา และ จำนวนเด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้ง เด็กถูกบังคับค้าประเวณี เด็กต้องคดี และเด็กติดเชื้อเอชไอวี รวมกันไม่ต่ำกว่า 3,000 คน/จังหวัด ที่ต้องการโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาศักยภาพในการทำงาน

ดร.อมรวิชช์ แนะนำให้ใช้วิธีประกบตัวเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา สสค.จะขับเคลื่อนโดยวิธีปลดล็อคระบบที่เป็นอุปสรรค เป้าหมายปี 2554 คือการช่วยเหลือเยาวชนผู้ด้อยโอกาส 30,000-50,000 คน และ เมื่อขยายผลเต็มรูปแบบจะส่งผลต่อเด็ก 5 ล้านคน และ พ่อแม่กว่า 10 ล้านคน
กำลังโหลดความคิดเห็น