วันแรงงาน ปีนี้ ปธ.จัดงานวันแรงงาน เตรียมร้องรัฐบาล 9 ข้อ ดูแลคุณภาพชีวิต-สวัสดิการ-สร้างสมดุลระหว่างกำไร กับต้นทุนแรงงาน เน้นปฏิรูปประกันสังคม ยกเป็นองค์กรอิสระ ยกเลิกแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกกิจการ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า และสนามหลวง
วันนี้ (22 เม.ย.) ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน มีการประชุมคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2554 โดยนายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ เป็นประธานในการประชุม โดยมีข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล ถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของแรงงานที่ยังไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องของค่าจ้าง สวัสดิการ และความมั่นคงในการทำงานที่ยังไม่เป็นธรรม ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และบริเวณท้องสนามหลวง
นายชินโชติ เผยว่า ประเทศไทยได้แปรสภาพจากประเทศเกษตรกรรม มาเป็นอุตสาหกรรม พึ่งพาการผลิตและการส่งออก โดยอาศัยหยาดเหงื่อของพวกเรา แตกต่างจากสถาบัน หรือองค์กรเอกชนทั้งหลาย ที่เขามีอำนาจในการต่อรองกับภาครัฐสูง จึงนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่ไม่สมดุลระหว่างกำไรกับต้นทุนแรงงาน ในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ ผมถือโอกาสเรียกร้องมายังรัฐบาลให้คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของแรงงานทั้งประเทศ โดยยึดหลักความเสมอภาค และเป็นธรรม ทั้งผู้ผลิตและผู้ประกอบการ
โดยข้อเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ มีทั้งหมด 9 ข้อ ดังนี้ 1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 2.ให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้าง ในกรณีที่สถานประกอบการปิดกิจการ เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน 3.ให้รัฐบาลปรับค่าจ้างที่เป็นธรรมกับลูกจ้าง พร้อมกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และรายได้แห่งชาติทุกสาขาอาชีพ 3.1 ให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้า เข้มงวด และเอาผิดกับผู้ทำผิดกฎหมาย
4.ให้รัฐบาลปฏิรูประบบประกันสังคม 4.1 ให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 ม.39 กรณีการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน ควรจ่ายเพียงเท่าเดียว 4.2 ให้รัฐบาลนิรโทษกรรมให้กับผู้ประกันตน ม.39 กลับมาเป็นผู้ประกันตนได้ 4.3 ให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบให้กับผู้ประกันตน ม.40 ในอัตรา 50% ทุกกรณี 4.4 ให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 โดยขยายสิทธิให้ผู้ประกันตนสามารถรักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาล ในเครือประกันสังคม 4.5ให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 ม.33 โดยให้ขยายสิทธิผู้รับงานไปทำที่บ้าน เข้าเป็นผู้ประกันตน ม.33 ได้ โดยให้ถือว่าผู้ว่าจ้างเป็นนายจ้าง 4.6 ให้รัฐบาลยกระดับสำนักงานประกันสังคม เป็นองค์กรอิสระ
5.ให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 และยกเลิกการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกกิจการ 6.ให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ของลูกจ้าง ในกรณีเงินค่าชดเชยและเงินรายได้อื่นๆ ซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้าย 7.ให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ม.118 ให้กับลูกจ้าง จากเดิม 10 ปีขึ้นไป เพิ่มอีกปีละ 30 วัน 8.ให้รัฐบาลจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กและศูนย์เก็บน้ำนมแม่ 9.ให้รัฐบาลรวมกฎหมายแรงงานทุกประเภทเป็นประมวลกฎหมายแรงงานฉบับเดียว และบังคับใช้ทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ
ทั้งนี้ อีก 2 องค์กร คือ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ไม่ได้เข้าร่วมในงานเดียวกัน โดยจะจัด “โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งขบวนการแรงงานเพื่อคุ้มครองสุขภาพและสวัสดิการแรงงาน (สสร.)” โดย รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กำหนดการจัดงานร่วมกับชมรมผู้ประกันตน เป็นงานเคาตน์ดาวน์ต้อนรับวันกรรมกร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ปทุมธานี ในวันที่ 30 เมษายน 2554 นี้ ภายในงานจะมีกิจกรรมดีๆ ให้ความรู้สร้างจิตสำนึกความเป็นกรรมกร และมีสินค้าจากเครือข่ายเศรษฐกิจมาจำหน่าย