xs
xsm
sm
md
lg

หยุด! จ่ายค่ารักษาพยาบาลประกันสังคม วัดกึ๋น 2 รัฐมนตรี ‘จุรินทร์-เฉลิมชัย’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...ทีมข่าวสาธารณสุข

“...หาก 2 รัฐมนตรี กล้าที่จะร่วมสร้างระบบหลักประกันสุขภาพไทยให้เท่าเทียม จะถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่และเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของหลักประกันสุขภาพ…”
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน
“หากยังไม่มีการแก้ไขความเหลื่อมล้ำที่ผู้ประกันตนต้องได้รับภายใน 30 วัน กลุ่มผู้ประกันตนจะหยุดจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาลทันที” นั่นเป็นคำประกาศล่าสุดจากเลขาธิการชมรมพิทักษ์ผู้ประกันตน “นิมิตร์ เทียนอุดม” ที่ดูเหมือนจะสิ้นสุดความอดทนกับท่าทีลอยตัวอยู่เหนือปัญหาของฝ่ายการเมือง ทั้งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน และ นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข 2 รัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์

เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว นับตั้งแต่ผู้ประกันตนลุกขึ้นทวงสิทธิ์ โดยพยายามบอกต่อสังคมว่าสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนได้รับ โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายสมทบทุกเดือนนั้นไม่เป็นธรรมเพราการรักษาไม่คลอบคลุมเท่ากับผู้ที่ไม่ต้องจ่ายเงินในระบบอื่นๆ และยังน่ากังขาถึงคุณภาพการบริการ กระทั่งตั้งชื่อเล่นล้อเลียนเสียดสีว่า “พารารักษาทุกโรค” และเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมเกิดการปฏิรูป

เมื่อกระแสสังคมโหมกระหน่ำ รมว.แรงงาน ก็ออกมาระบุว่า อาจจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนได้มีสิทธิ์เลือกว่าอยากจะอยู่กับระบบไหน บัตรทองหรือประกันสังคม แต่นั่นก็ไม่ได้มีความหมายเพราะเป็นเพียงคำพูดที่ไม่มีมีอะไรชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ด้าน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เจ้ากระทรวงหมอ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการดูแลสุขภาพประชาชนไทยทุกคน กลับไม่แตะเรื่องนี้ เพราะมัวแต่ยุ่งกับการจับน้ำมันทอดซ้ำ ครีมหน้าขาว ทลายคลินิกทำแท้งเถื่อน หรือ จับบิ๊กอาย เรียกว่า จับแต่งานออกสื่อจนชิน แม้แต่นโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่คุยว่าเป็นนโยบายเด่น ก็แค่สถานีอนามัย (สอ.) เปลี่ยนป้ายชื่อใหม่ ขณะที่ยังขาดบุคลากรทางการแพทย์เหมือนเดิม ขณะที่ปัญหาใหญ่ความเหลื่อมล้ำของระบบ สาธารณสุขยังคงอยู่ ประชาชน 9.4 ล้านคน ต้องจ่ายคาโง่อยู่กลุ่มเดียว
นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข
จากข้อมูลพบว่าในแต่ละปีประกันสังคมใช้เงินกับค่ารักษาพยาบาลผู้ประกันตน 28,000 ล้านบาท ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็น รพ.เอกชน และเมื่อคำนวณจากฐานอายุกลุ่มผู้ประกันตน ซึ่งเป็นวัยแรงงาน อัตราการเจ็บป่วยต่ำ นี่จึงเป็นเหตุผลที่มีเสียงค้านจาก รพ.เอกชนทันที เพราะเท่ากับว่าขุมทรัพย์ปีละกว่าหมื่นล้านบาทอาจจะได้รับผลกระทบ ทันทีหากมีการปฏิรูประบบ ที่น่าสนใจคือเบื้องลึกเบื้องหลังพบว่าคนใกล้ชิดรัฐมนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องกับรพ.เอกชนแห่งหนึ่ง สธ.จึงไม่อยากยื่นมือไปยุ่งเกี่ยวหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หาก 2 รัฐมนตรี กล้าที่จะร่วมสร้างระบบหลักประกันสุขภาพไทยให้เท่าเทียม จะถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ และเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของหลักประกันสุขภาพ พร้อมกันกับปฏิรูปประกันสังคม ก็ทำให้ผู้ประกันตนได้รับบำนาญชราภาพมากขึ้นสร้างความมั่นคงให้ชีวิตยามเกษียณอายุ

ที่น่าเป็นห่วงคือ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพยายามแก้ไขระบบเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมเพื่อสร้างผลงาน เช่น เพิ่มค่าคลอดบุตร การทำฟัน และขยายสิทธิประโยชน์ครอบคลุมโรคจิตเวช และอื่นๆ ไปจนถึงนโยบายประชาวิวัฒน์ ที่ให้แรงงานนอกระบบเข้ามาสู่ระบบประกันสังคมนั่น อาจแค่เพียงสร้างคะแนนนิยมโดยที่ไม่ให้ทับรอยเดิม 30 บาทของพรรคไทยรักไทยเท่านั้น

แต่คงน่าเสียดายหาก ประชาธิปัตย์กำลังจะกลับไปซ้ำรอยเดิม เหมือนเมื่อครั้งปฏิเสธข้อเสนอของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชน ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ถูกเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์ก่อน กระทั่งพรรคไทยรักไทย คว้า “30 บาท รักษาทุกโรค” ไปใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงสร้างคะแนนนิยมครองใจชาวบ้านมาเนิ่นนาน และที่สำคัญ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลายเป็นเงามาคอยหลอกหลอนประชาธิปัตย์ จนทุกวันนี้

ช่วงเวลาต่อจากนี้ จึงถือเป็นเวลาที่สำคัญในการพิสูจน์ ว่า ผู้ประกันตน 9.4 ล้านคน จะได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยกลุ่มอื่นหรือไม่ หรือในที่สุดเรื่องนี้อาจกลายเป็นมหากาพย์ที่ต้องต่อสู้ผลักดันกันอย่างยาวนาน หรือรัฐบาลประชาธิปัตย์จะโชว์ฝีมือแสดงความสามารถมอบของขวัญให้กับแรงงานงาน ขึ้นอยู่กับ “กึ๋น” ของผู้นำว่า “เจ๋ง” พอที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างแบบนี้เป็นหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น