ผู้นำแรงงาน จี้ปฏิรูปประกันสังคม เพราะด้อยกว่าบัตรทอง ค้านเหมาจ่ายค่ารักษารายหัว เนื่องจากกระทบคุณภาพบริการ วอน สปส.ให้รักษาได้ทุกโรค-ทุก รพ.ด้าน สปส.แจงระบบต่างกัน-สิทธิประโยชน์จึงต่างกัน
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการออกมาเปิดเผยความเหลื่อล้ำของสิทธิในการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมที่ปัจจุบันด้อยกว่าระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือบัตรทองว่า เป็นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะต้องเร่งปฏิรูปการดูแลรักษาผู้ประกันตนขนานใหญ่ โดยทำให้ผู้ประกันตนได้รับการรักษาที่อย่างน้อยต้องเท่ากันหรือดีกว่าบัตรทอง เพราะเป็นคนกลุ่มเดียวในประเทศที่ต้องเสียเงินค่ารักษาพยาบาลจากการหักเงินสมทบ
“ที่ผ่านมา ผู้ใช้แรงงานไม่เห็นด้วยกับวิธีการจ่ายเงินให้โรงพยาบาลในลักษณะเหมาจ่ายรายหัวอยู่แล้ว เพราะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพการรักษา โดยโรงพยาบาลพยายามหลีกเลี่ยงการรักษาในกรณีที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และขอเรียกร้องให้สปส.ขยายความคุ้มครองให้บัตรประกันสังคมสามารถรักษาได้ทุกโรค และทุกโรงพยาบาล รวมถึงการตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม 4 มุมเมือง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตน”นายมนัส กล่าว
ขณะที่นางสมพร ทองชื่นจิตต์ ผอ.สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ระบบการรักษาพยาบาลของ สปส.กับ สปสช.นั้น เป็นระบบที่แตกต่างกัน ในส่วนของสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน เช่น ผู้ป่วยยาเสพติด ประกันสังคมไม่คุ้มครอง เพราะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ส่วนโรคไต ประกันสังคมให้ฟอกไตด้วยเครื่องทันที ไม่จำเป็นต้องล้างไตผ่านช่องท้องก่อนเหมือนบัตรทอง ส่วนผลการรักษาทำให้ผู้ป่วยทุพพลภาพหรือเสียชีวิต ก็จะมีเงินทดแทนให้ เรื่องการฟื้นฟูร่างกายหลังการรักษา ประกันสังคมจะใช้วิธีการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้แทน อย่าไรก็ตาม ประกันสังคม ยังมีการจ่ายเงินเพิ่มให้กับโรงพยาบาล นอกจากเงินเหมาจ่ายรายหัว เช่น โรคเรื้อรังจำนวน 26 โรค ที่ประกันสังคมเหมาจ่าย ให้โรงพยาบาล 1,404 บาท แต่หากมีผู้ป่วยมาใช้บริการเพิ่มก็จะจ่ายให้อีกหัวละ 100 บาทต่อคนต่อปี ส่วนโรคที่มีภาวะเสี่ยงจะเป็นโรคเรื้อรังจะเหมาจ่ายให้อีกหัวละ 469 บาท และหากเป็นสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองว่ามีมาตรฐานจะได้รับเพิ่มอีก 77 บาท ต่อคนต่อปี
“สำหรับข้อเสนอที่จะให้มีการให้ผู้ประกันตนเลือกใช้สิทธิการรักษาพยาบาลในระบบบัตรทอง หรือประกันสังคมได้นั้น จะต้องมีการหารือกันในคณะกรรมการประกันสังคม พร้อมฝากให้คิดว่าขณะที่รัฐบาลจ่ายให้ประกันสังคมในเรื่องการรักษาพยาบาล 800 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่จ่ายให้บัตรทอง 2,544 บาท ต่อคนต่อปี จะเป็นการสร้างภารระให้กับระบบการเงินการคลังในระยะยาวหรือไม่” นางสมพร กล่าว