เผยผลสำรวจความทุกข์ผู้ประกันตนจากการใช้บริการสุขภาพช่วงปี 51-52 พบกรณีถูกปฏิเสธการรักษา วินิจฉัยพลาด ความไม่ชัดเจนเรื่องการเข้าถึงยาจำเป็นแต่มีราคาแพง และอุปกรณ์อวัยวะเทียม ระบุ พบกรณีวินิจฉัยพลาดพบบ่อยครั้ง แม้ผู้ประกันตนไปรักษา รพ.ตามสิทธิ แพทย์ระบุเป็นโรคทั่วไป แต่รักษาไม่หาย จนต้องย้าย รพ.ถึงตรวจพบเป็นไส้ติ่งแตก เป็นโรคมะเร็ง จนต้องจ่ายเงินเองอยู่ระหว่าง 70,000-200,000 บาท ย้ำ ผู้ประกันตน 9.4 ล้านคน เป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาล ทั้งยังได้รับบริการไม่มีคุณภาพ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตน
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า จากการสำรวจข้อร้องทุกข์ของผู้ประกันตนเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาล ไปยังคณะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม ระหว่างปี 2551-2552 สุ่มเลือกมา 45 ราย พบว่า ผู้ประกันตนต้องประสบกับความทุกข์ในการไปใช้บริการสุขภาพตามระบบประกันสังคม เช่น ด้านคุณภาพมาตรฐานการรักษา การวินิจฉัยพลาด การปฏิเสธการรักษา ระบบส่งต่อล่าช้า การส่งกลับต้นสังกัดช้า หรือไม่ได้ส่งต่อ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ การคลอดล่าช้าทำให้ลูกเสียชีวิต กรณีการเหมาจ่ายค่าคลอด ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อแม่และลูก เนื่องจากผู้ประกันเลี่ยงการฝากครรภ์เป็นประจำและต่อเนื่อง เพราะต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย กรณีผู้ประกันตนเลือกขึ้นทะเบียนที่รพ.เอกชน หากเป็นการคลอดที่ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องผ่าตัดค่าใช้จ่ายจะต่ำกว่า 13,000 บาท แต่หากต้องผ่าตัดค่าใช้จ่ายจะสูงกว่า ซึ่งส่วนเกินนี้ผู้ประกันตนต้องจ่ายเอง จึงพบผู้ประกันตนหลายรายเลือกไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลรัฐ ซึ่งค่าใช้จ่ายถูกกว่าแทน
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ยังมีกรณีต้องจ่ายเงินเอง เพราะไม่ได้เข้า รพ.ที่ขึ้นทะเบียน สาเหตุเพราะ รพ.ต้นสังกัดวินิจฉัยช้า ให้รอการวินิจฉัย ไม่ตรวจอย่างละเอียดตามข้อเรียกร้องของผู้ป่วย ทำให้ต้องตัดสินใจไปรับการรักษาที่อื่น ไม่มั่นใจคุณภาพมาตรฐานของรพ.ต้นสังกัด การวินิจฉัยว่าฉุกเฉินหรือไม่ เป็นดุลพินิจของแพทย์ กรณีสำรองจ่าย แต่ไม่สามารถเบิกคืนได้เต็มจำนวน ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเองมีตั้งแต่ 70,000 บาท ถึง 200,000 บาท และกรณีการเข้าถึงยาจำเป็นที่ต้องใช้ในการรักษาพยาบาลแต่มีราคาแพง รวมถึงความไม่ชัดเจนเรื่องการเบิกค่าใช้จ่ายอุปกรณ์อวัยวะเทียม เช่น อุปกรณ์ประสาทหูเทียม รถเข็นผู้พิการ
“กรณีศึกษาที่พบบ่อย คือ การวินิจฉัยไม่ครบถ้วน ผู้ประกันตนไปพบแพทย์ตาม รพ.ต้นสังกัดหลายครั้ง แต่อาการไม่ดีขึ้น จนต้องย้ายไปรักษาที่อื่น และแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคอื่น ทำให้ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงิน และประสบกับความทุกข์ทั้งทางกายและจิตใจ เช่น ผู้ประกันตนรายหนึ่งเข้ารักษาด้วยอาการถ่ายเป็นเลือด ที่ รพ.ตามสิทธิ แพทย์ระบุเป็นโรคริดสีดวงทวาร รักษาด้วยยา อาการไม่ดีขึ้น ผู้ประกันตนจึงไปรักษาอีกรพ. แพทย์ตรวจพบก้อนที่ลำไส้ใหญ่ วินิจฉัยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เสียค่ารักษา 1.3 แสนบาท หรือกรณีที่พบบ่อย คือ ปวดท้องรุนแรง แพทย์รพ.ต้นสังกัดให้ยาแก้ท้องอืด แต่ไม่หาย จนปวดรุนแรงมาก ย้ายไปรักษาที่ รพ.อื่น พบว่า เป็นไส้ติ่งแตก รวมถึงปฏิเสธการรักษา เช่น ผู้ประกันตนรักษาก้อนเนื้อที่รพ.ตามสิทธิ แต่สงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็ง จึงไปตรวจที่ รพ.ศิริราช แพทย์แนะนำให้ทำเคมีบำบัด โดยให้กลับไปรักษาที่รพ.ตามสิทธิ แต่ถูกปฏิเสธว่าจะตรวจให้เฉพาะผู้ป่วยเงินสดเท่านั้น ทำให้ผู้ประกันตนต้องกลับไปรักษาที่ รพ.ศิริราช และต้องรับผิดชอบเอง”
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวและว่า ประเด็นที่สำคัญ คือ ผู้ประกัน 9.4 ล้านคน เป็นกลุ่มเดียวที่ยังต้องจ่ายสมทบสำหรับสิทธิรักษาพยาบาล แต่ได้รับบริการที่ไม่เป็นธรรมและไม่มีคุณภาพในหลายเรื่อง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับการแก้ไข ผู้ประกันตนยังเผชิญกับความไม่มั่นใจและความทุกข์จากการใช้บริการอยู่ จึงอยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในกรณีนี้โดยเร็ว เพราะผู้ประกันตนจะได้ใช้เงินสมทบรายเดือนไปเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น ชราภาพ ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ประชาชนทุกคนอยู่แล้วในระบบบัตรทองที่บริการไม่ได้ด้อยไปกว่าที่ผู้ประกันตนเคยได้รับ และสิทธิประโยชน์บางอย่างบัตรทองให้ได้ดีกว่าด้วย