ไม่นานนี้ เกิดความเคลื่อนไหวให้มีการปรับปรุงระบบประกันสังคมของผู้ประกันตน 9.4 ล้านคนขึ้นอีกครั้ง โดยระบุถึงความไม่เป็นธรรมและสิทธิของผู้ประกันตนที่น้อยกว่าระบบสวัสดิการอื่น และยังมีการเปิดตัวเลขว่า หลังจากหักค่าใช้จ่ายจากเงินเหมาจ่ายรายหัวแล้ว โรงพยาบาลเอกชนยังเหลือเงินกินเปล่าถึง 14,000 ล้านบาทต่อปี
หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มีข่าวจากฟากโรงพยาบาลเอกชนออกมาบ้างว่า มีโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งที่ดูแลผู้ประกันตนกว่า 2 แสนราย ต้องการถอนตัวออกจากระบบประกันสังคม เพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ และเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัว
นับเป็นการชิงไหวชิงพริบที่น่าติดตาม เพราะข้อมูลที่ออกมาจากทั้งสองฟากย่อมเป็นประโยชน์แก่การชั่งน้ำหนัก
อย่างไรก็ตาม จุดเล็กๆ ที่ทั้งสองฟากดูจะเห็นตรงกันก็คือ ระบบประกันสังคมจำเป็นต้องปรับการบริหารจัดการกันใหม่
เงินก็เสีย แต่ได้ไม่เท่าคนอื่น
ประเด็นที่ถูกจุดขึ้นรอบนี้พุ่งเป้าไปที่ความไม่เป็นธรรมที่ผู้ประกันตนได้รับ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีระบบประกันตน 4 ระบบ ได้แก่ ระบบสวัสดิการข้าราชการ, ระบบประกันสังคม, ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบอื่นๆ (ดูแลผู้ที่มีปัญหาเรื่องสถานะและสิทธิของ ส.ส.-ส.ว. เป็นต้น)
ถ้าเทียบกันแล้ว รัฐต้องแบกภาระของระบบสวัสดิการข้าราชการมากที่สุด คือรัฐจ่าย 100 เปอร์เซ็นต์ ตกปีละประมาณ 62,195 ล้านบาท ดูแลข้าราชการ 4.9 ล้านคน ส่วนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง รัฐจ่าย 100 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน ปีละ 120,846 ล้านบาท แต่ดูแลคนถึง 47.7 ล้านคน ขณะที่ประกันสังคมรัฐจ่ายสมทบเพียงปีละ 7,490.62 ล้านบาท หรือ 33.3 เปอร์เซ็นต์ ดูแลผู้ประกันตน 9.4 ล้านคน
และอย่างที่รู้ ผู้ประกันตนต้องถูกหักเงินเดือน 5 เปอร์เซ็นต์ทุกเดือนเพื่อเข้ากองทุนประกันสังคม ขณะที่ผู้อยู่ในระบบสวัสดิการอื่นๆ ไม่ต้องเสีย หมายความว่าผู้ประกันตนต้องเสียสองต่อคือต้องจ่ายเงินกองทุนและภาษี ทว่าเรื่องปวดใจก็คือทั้งที่จ่ายมากกว่าคนอื่น แต่สิทธิประโยชน์ที่ได้กลับน้อยกว่า เช่น มีสิทธิประโยชน์หลักน้อยกว่าบัตรทอง 16 รายการ การบริหารจัดการด้อยกว่าบัตรทอง 25 รายการ เป็นต้น ซึ่ง สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม ก็กล้อมแกล้มยอมรับว่าจริงบางส่วน
ด้าน นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการใช้สิทธิการรักษาของบัตรประกันสังคมกับบัตรทอง โดยได้ยกตัวอย่างความแตกต่างให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า
“เช่นเรื่องของยา บัตรทองจะมีการจำกัดยาราคาแพง 15 รายการ ขณะที่บัตรประกันสังคมเน้นค่าจ่ายรายหัว คือขึ้นอยู่กับว่าโรงพยาบาลจะจ่ายให้หรือเปล่า ซึ่งการจัดการให้เข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพมันต่างกัน ขณะที่ค่าฮอร์โมนหรือค่าเคมีบำบัด ประกันสังคมให้แค่ 50,000 บาทต่อคน ขณะที่บัตรทองมีโปรแกรมพิเศษเข้าได้ไม่จำกัด เป็นต้น”
สำหรับความแตกต่างตรงนี้ นพ.พงศธร อธิบายว่าส่วนหนึ่งมาจากการบริหารและจำนวนคนทำงานของ สปส. ที่มีสัดส่วนน้อยกว่าบัตรทองค่อนข้างมาก อีกทั้งระบบการบริหารจัดการก็ด้อยกว่า
ยังไม่เห็นความแตกต่าง
แม้ระบบประกันสุขภาพกับบัตรทองจะมีความแตกต่าง แต่ที่น่าสนใจคือในความเป็นจริง ผู้ป่วยที่รับบริการทั้งสองแบบ กลับไม่ได้รู้สึกถึงความแตกต่างด้านคุณภาพ
“ดิฉันป่วยเป็นไทรอยด์ ก็เคยใช้ทั้งประกันสังคมและประกันสุขภาพ ที่เจอมาจะเป็นหมอที่ไม่พูดอะไรมาก ตรวจเราแป๊บๆ แล้วก็จ่ายยาเลย เป็นทั้งประกันสังคมและบัตรทองนั่นแหละ คือตอนแรกที่เราป่วย เราใช้สิทธิบัตรทองก่อนกับโรงพยาบาลประจำจังหวัดลำพูน ต่อมาเราก็ย้ายมาใช้สิทธิประกันสังคม ที่โรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่แทน”
นภัสวรรณ ยะสง่า ผู้ซึ่งมีอาการป่วยเป็นไทรอยด์มาได้ปีกว่า และเข้ารับการรักษาโดยการใช้สิทธิทั้งบัตรทองและประกันสังคมมาแล้วทั้งสองแบบ บอกว่าจริงๆ แล้วการรักษาไม่ต่างกันมาก
“การใช้สิทธิทั้งสองแบบนี่เหมือนกันเลยนะ คือหมอจะมีเวลาตรวจเราน้อย อาจเป็นเพราะคนไข้เยอะ คุยกันไม่ถึงนาทีก็จ่ายยาแล้ว ยาที่เขาให้มาก็ไม่รู้ว่ามันเป็นแบบเดียวกับรักษาแบบเสียตังค์หรือไม่ แต่คิดว่ายาที่เสียเงินเองนี่น่าจะดีกว่านะ เพราะเคยไปหาแบบเสียเงินบ้าง ยาที่ได้มามันก็คนละอย่างกัน”
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การรักษาโดยใช้สิทธิทั้งสองแบบของนภัสวรรณ ก็เห็นข้อแตกต่างอยู่บ้างในด้านประสบการณ์ของหมอ
“เราป่วย เราก็ต้องหาความรู้เองมาบ้าง แต่ที่โรงพยาบาลที่เราใช้บัตรทองนี่ เจอแต่หมอใหม่ ประเภทที่ตรวจเราไปเปิดหนังสือไป บางทีเขาก็ให้ยาเบื้องต้นไม่ตรงกับที่เราอ่านมา คือไทรอยด์นี่มันจะต้องมีการตัดโด๊สยา ไม่อย่างนั้นคอเราจะบวม ตาจะโปน แต่หมอใหม่เขายังไม่คุ้น ไม่มีประสบการณ์มาก เขาก็ไม่ทำให้เรา แต่พอมาใช้สิทธิประกันสังคมที่โรงพยาบาลเอกชน หมอเขาเคยรักษาอาการแบบเราเขาก็รักษาได้ดีกว่า”
รพ.เอกชน บอกว่าเงินไม่พอ
ทางฝั่ง นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน อธิบายสาเหตุที่โรงพยาบาลเอกชนจำนวนมากถอนตัวจากระบบประกันสังคมว่า เพราะรายรับไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย จึงไม่สามารถเป็นคู่สัญญากับระบบนี้ต่อไปได้
"อย่างโรงพยาบาลที่ผมบริหารงานอยู่ (โรงพยาบาลรามคำแหง) ก็ไม่เคยเป็นคู่สัญญากับประกันสังคม เพราะรับไม่ไหว คือถ้าใครรับไม่ไหว เขาก็ไม่อยากโดนด่าว่า ทำไม่ได้มาตรฐาน เขาก็ออก เพราะฉะนั้นเมื่อใครทำไม่ได้เขาก็ไม่สัญญา จาก 140 กว่าแห่ง จึงเหลือแค่ 92 แห่ง เขาก็ทยอยออกไป แต่ถ้ารายรับพอกับค่าใช้จ่าย เขาก็อยู่"
จริงอยู่ แม้ทุกวันนี้จะมีการจ่ายให้หัวละ 2,105 บาท ซึ่งในจำนวนนี้บางคนอาจจะไม่เคยมาใช้เลย แต่มีเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันก็คือบางคนก็มาใช้สิทธิหลายครั้ง ซึ่งตอนนี้ก็มีสถิติออกมาว่ามีคนใช้สิทธิจากประกันสังคมมากถึง 2.7 ครั้งต่อคนต่อปี
"ถ้ามีผู้ประกันตน 10,000 คนก็มีผู้มาแสดงตน 27,000 ครั้ง พูดง่ายๆ ก็คือผู้ประกันตนไม่ได้มาใช้ทั้งหมื่น แต่มาใช้ 5,000 คน คุณไม่ใช้ เพื่อนคุณอาจจะใช้ 20 ครั้ง ซึ่งเวลานับเราก็นับรวมกัน ใครที่รับตรงนี้ได้ก็อยู่ต่อ ถ้ารับไม่ไหวต้องกู้หนี้ยืมสินมา เขาก็ต้องลาออกเป็นธรรมดา"
ขอเรียกร้องหลักประการหนึ่งของโรงพยาบาลเอกชนจึงต้องการให้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพิ่มค่าเหมาจ่ายรายหัว
เอาไปให้บัตรทองบริหาร?
คำถามตัวใหญ่ก็คือแล้วควรจะทำอย่างไร นพ.พงศธร แนะนำว่า
“ควรยก สปส. ให้บัตรทองบริหารไปเลยดีกว่า บัตรทองมีทีมเฉพาะทางทำเรื่องนี้อย่างเดียว ในขณะที่ สปส. ทำ 17 อย่าง และมีคนแค่หยิบมือ ประกันสังคมใช้วิธีจ่ายเงินให้โรงพยาบาลและไม่มีใครเข้าไปดูแล โรงพยาบาลรักษาอะไรบ้างไม่เคยมีรายงานไปที่ สปส. เลย ส่วนเงิน 5 เปอร์เซ็นต์ ที่คนทำงานเอกชนถูกหักทุกเดือนตรงนี้ ผมว่าเอาไปทำบำนาญชราภาพ ทำให้ดีไปเลย ส่วนค่ารักษาพยาบาล รัฐควรสนับสนุนตรงนี้ คือรัฐก็ต้องจ่ายมาให้คน 9 ล้านคน ให้ได้รับสิทธิ์ฟรีเหมือนคนอื่น”
ส่วนแนวคิดที่จะมีการทุ่มเงินของ สปส. เพื่อสร้างโรงพยาบาลที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง นพ.พงศธร บอกว่าไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนถึงขนาดนั้น
“ผมว่า สปส. ทำไม่ได้หรอก เพราะต้องใช้หน่วยบริการทั่วประเทศ ผมว่าเราต้องใช้สิ่งที่มีอยู่ เพียงแต่ว่าทำอย่างไรให้มันมีคุณภาพที่ดี เพราะเรามีโรงพยาบาลอยู่แล้ว แต่หัวใจของปัญหาจริงๆ ต้องถามกลับไปที่ตัวคนจ่ายเงิน 5 เปอร์เซ็นต์ ว่าเขาตั้งคำถามไหมว่าทำไมตัวเขาเองต้องจ่าย แล้วจ่ายเสร็จคุณได้สิ่งที่แย่กว่าบัตรทอง แล้วจ่ายทำไม”
ขณะที่ นพ.เอื้อชาติ กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วไม่มีความเห็น แต่ถ้าทำได้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ส่วนนภัสวรรณมองว่าก็เป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง
พิจารณาอย่างเป็นธรรมทั้งจากประสบการณ์ของนภัสวรรณและสิ่งที่ นพ.เอื้อชาติ อธิบาย ระบบประกันสังคมน่าจะมีบางสิ่งที่ไม่เข้ารูปเข้ารอยอยู่จริง ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนบอกว่าเงินไม่พอ ด้านภาคประชาสังคมก็บอกว่าโรงพยาบาลเอกชนเอาเปรียบ แต่ผู้ใช้สิทธิกลับไม่เห็นความแตกต่าง
“จริงๆ สิทธิแบบไหนก็ไม่น่าต่างกันในความเห็นเรานะ มันน่าจะอยู่กับประสบการณ์ของหมอในการรักษามากกว่าว่าเขาทำมานานแค่ไหน เชี่ยวชาญแค่ไหน ที่เจอมา หมอบัตรทองจะเป็นหมอใหม่ๆ เสียส่วนใหญ่” นภัสวรรณ กล่าว
ดังนี้ การจะสร้างกระแสขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในหมู่ผู้ใช้ประกันสังคมก็คงไม่ง่ายนัก เพราะหากไม่เห็นความเหลื่อมล้ำย่อมไม่เห็นปัญหา ขณะที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมกันหาทางออกจากเขาวงกตของระบบสุขภาพที่ทุกฝ่ายสามารถอยู่ได้ สร้างระบบตรวจสอบการทำงานของโรงพยาบาลเอกชน และถึงที่สุดหากเป็นไปได้การเก็บเงินเข้ากองทุนหากไม่ใช่สิ่งการันตีถึงคุณภาพการรักษาที่ดีกว่าแล้ว ก็ควรยกเลิกเสีย
>>>>>>>>>>
เรื่อง: ทีมข่าว CLICK
ภาพ: ทีมภาพ CLICK