เวทีถกมาตรการเก็บภาษีร.ร.กวดวิชา ยังไร้ข้อสรุป ตัวแทน ป.ป.ช. ยันตัวเลขรายได้กวดวิชามหาศาล ต้องจัดเก็บ ด้าน นายกสมาคม ร.ร.กวดวิชา โบ้ยถูกจับโยงกวดวิชาเถื่อน แย้มคำนวนต้นทุนใหม่หากโดนเก็บเพิ่ม โยนภาระตกผู้ปกครองแน่ หนุนยกเป็นวาระแห่งชาติ ขณะที่ นักวิชาการ ชงเก็บภาษีเงินได้ฯ ครูกั๊กสอนในห้อง แอบติวเด็กรายตัว รายกลุ่ม
วันนี้(7 ก.พ.) ที่โรงแรมสยามซิตี้ กทม. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง “การระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา กับการใช้มาตรการทางภาษีต่อโรงเรียนกวดวิชาเอกชน” โดย ว่าที่ร้อยตรีสมบัติ พูลสงวน เจ้าหน้าที่ชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ป.ป.ช.มองว่าโรงเรียนกวดวิชาได้เปิดให้บริการในเชิงธุรกิจมากขึ้น จะเห็นได้จากการขยายสาขาของโรงเรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น ป.ป.ช.จึงสงสัยว่าเหตุใดรัฐจึงไม่หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณา หรือมีการเรียกรับผลประโยชน์กันหรือไม่ ทั้งนี้ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อปี 2550 ระบุว่า แต่ละปีจะมีนักเรียนเข้าเรียนโรงเรียนกวดวิชาประมาณ 3 แสนกว่าคน โดยผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 - 3,000 บาทต่อเดือน ส่งผลให้โรงเรียนกวดวิชามีรายได้รวมประมาณ 6,039 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น ป.ป.ช.จึงเห็นควรให้มีการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา โดยเฉพาะโรงเรียนกวดวิชาที่มีลักษณะประกอบธุรกิจ
นายอนุสรณ์ ศิวะกุล ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์ ในฐานะนายกสมาคมโรงเรียนกวดวิชา กล่าวว่า การเก็บภาษีจากธุรกิจการศึกษาไม่ควรมองแค่โรงเรียนกวดวิชา ควรทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ ทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยที่ไปสอนนอกที่ตั้ง และโรงเรียนเอกชนนอกระบบอื่นๆ เช่น โรงเรียนสอนภาษา โรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ เป็นต้น โดยตนเห็นว่าควรหยิบยกเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญแห่งชาติ โดยตนพร้อมจ่ายภาษี เพราะทุกวันนี้โรงเรียนกวดวิชาต้องเสียภาษีอยู่แล้ว จะได้รับการยกเว้นเฉพาะในส่วนของกำไรสุทธิเท่านั้น โดยปัจจุบันสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้กำหนดให้โรงเรียนกวดวิชามีกำไรได้ไม่เกิน 20% อยู่แล้ว และตนมองว่าขณะนี้ยังมีการผูกโยงโรงเรียนกวดวิชาเถื่อนเข้ากับโรงเรียนกวดวิชาที่ถูกกฎหมาย จึงทำให้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด อย่างไรก็ตามหากเก็บภาษีเพิ่มโรงเรียนกวดวิชาก็จะต้องจ่ายภาษีอีกประมาณ 13% ซึ่งก็ต้องไปคำนวณต้นทุนกันใหม่ และในส่วนนี้ก็อาจจะเป็นภาระต่อผู้ปกครอง
ศ.ดร.บุญเสริม วีสกุล อธิการกิตติคุณมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีครูสอนกั๊กวิชาในห้องเรียนจริง และมีครูจำนวนมากที่ไปสอนกวดวิชาเสริมนอกห้องเรียน โดยบางคนวิ่งรอกสอนเป็นจำนวนมาก เปิดสอนเป็นรายคน รายกลุ่ม แต่ไม่มีใครจับตาดูครูกลุ่มนี้ ซึ่งตนอยากให้มีการคิดกันว่าจะต้องมีการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากครูกลุ่มนี้หรือไม่ แต่ก็ยอมรับว่าเรื่องนี้คงทำได้ยาก เพราะไม่มีกระบวนการติดตาม หรือข้อมูลต่างๆ เก็บไว้
ด้าน ศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า การที่โรงเรียนกวดวิชาได้รับความนิยมมากขึ้น มาจากการสอนของโรงเรียนในระบบยังไม่ตรงกับความต้องการของนักเรียน และยังผูกโยงไปถึงการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ดังนั้นการมากวดขันเฉพาะโรงเรียนกวดวิชาจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมด ส่วนประเด็นการเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชานั้น ความจริงแล้วโรงเรียนกวดวิชาจะเสียภาษีในส่วนของภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีการจัดเก็บก็จะเป็นการจัดเก็บเพิ่มในอีกหมวดหนึ่ง ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้ต้องพิจารณาให้ดี เพราะยังมีการเกรงกันว่าจะเป็นการผลักภาระให้ผู้ปกครอง และจะเพิ่มช่องว่างทางการศึกษามากขึ้น ขณะเดียวกันอาจจะส่งผลกระทบต่อโรงเรียนประเภทอื่นๆ ที่จะต้องถูกจัดเก็บภาษีด้วย
“ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าควรมีการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาหรือไม่ แต่ สกศ.จะกลับไปคำนวณว่า ความเหมาะสมในการจัดเก็บค่าเล่าเรียนของโรงเรียนกวดวิชาควรเป็นเท่าไหร่ ที่ไม่ใช่เป็นการค้ากำไรเกินควร และคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชนทุกประเภทเป็นอย่างไร เพื่อสรุปสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป” เลขาธิการ สกศ.กล่าว