xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.จ่ายทะลุ 70 ล. ชงของบปี 54 เชื่อแนวโน้มต้องควักเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สปสช.เผยปี 2552จ่ายเงินเยียวยาความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ตาม ม.41 ให้ผู้ป่วยบัตรทอง 660 ราย ตาย พิการเจ็บป่วยเรื้อรัง รวมกว่า 70 ล้านบาท แนวโน้มจ่ายเงินชดเชยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เล็งเสนอของบปี 54 หัวละ 2.60 บาท หรือกว่า 122 ล้านบาท เร่งคลอด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข คลอบคลุม ผู้ป่วยประกันสังคม-สวัสดิการราชการ


นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ในปี 2552 มีผู้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ส.2545 จำนวน 660 ราย เป็นเงิน 73.22 ล้านบาท จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2552 มีผู้ใช้บริการใช้สิทธิตามมาตรา 41 มากที่สุด และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2547 ให้ความช่วยเหลือ 73 ราย เป็นเงิน 4.86 ล้านบาท ปี 2548 จำนวน 178 ราย เป็นเงิน 12.81 ล้านบาท ปี2549 จำนวน 371 ราย เป็นเงิน 36.65 ล้านบาท ในปี 2550 เพิ่มเป็น 433 ราย เป็นเงิน 52.17 ล้านบาท และในปี 2551 มีจำนวน 550 ราย เป็นเงิน 64.80 ล้านบาท

“การที่มีผู้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นมากขึ้นเพราะมีผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น 30% ผู้ป่วยในเพิ่ม 22% ทำให้เกิดความความผิดพลาดเสียหายมากขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับประชาชนรับรู้สิทธิของตนเองจึงมีการมาใช้สิทธิมากขึ้นด้วย” นพ.ประทีป กล่าว

นพ.ประทีป กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตามมาตรา 41 กำหนดให้มีการกันเงินงบประมาณได้ไม่เกิน 1% ของงบฯทั้งหมดของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับใช้ช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล จึงตั้งงบฯส่วนนี้ได้ไม่เกิน 1,200 ล้านบาทต่อปี และนับตั้งแต่มีการใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2545 จนถึงปัจจุบัน ใช้งบฯจ่ายชดเชยเบื้องต้นไปเพียง 224.54 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีการตั้งงบประมาณส่วนนี้จะพิจารณาจากความจำเป็น โดยขณะนี้มีงบประมาณส่วนที่เหลือในแต่ละปีสะสมอยู่ประมาณ 164 ล้านบาท ซึ่งในปี 2552 ตั้งงบฯไว้ 1 บาทต่อหัวประชากร เป็นเงินประมาณ 47 ล้านบาท แต่มีการใช้จริงประมาณ 70 ล้านบาท แม้งบฯที่ตั้งไว้จะไม่เพียงพอ แต่สามารถนำเงินที่เหลือสะสมจากปีก่อนมาใช้ได้ สำหรับในปี 2553 ไม่มีการตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้ แต่จะนำเงินส่วนที่เหลือดังกล่าวอีก 100 กว่าล้านมาดำเนินการ ส่วนในปี 2554 ซึ่งมีแนวโน้มผู้ใช้บริการยื่นคำร้องมากขึ้น จึงเตรียมที่จะเสนอของบประมารณ 2.60 บาทต่อหัวประชากรเป็นเงินประมาณ 122.20 ล้านบาทเพื่อใช้ในการจ่ายค่าชดเชยเบื้องต้น

นพ.ประทีป กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ด้วยว่า จากประสบการณ์การจ่ายเงินชดเชยเบื้องต้นตามมาตรา 41 ยืนยันว่าเงินช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นทำให้ปัญหาคลี่คลาย ผู้เสียหายและแพทย์เกิดความเข้าใจทั้งสองฝ่าย ดังนั้น พ.ร.บ.นี้ถือเป็นการขยายเพิ่มสิทธิตามมาตรา 41 ให้ครอบคลุมผู้ถือสิทธิประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการข้าราการด้วย ไม่เฉพาะผู้ถือสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น และหากพ.ร.บฉบับนี้มีผลบังคับใช้ สปสช,พร้อมที่จะโอนภารกิจด้านงบประมาณและการจัดการไปอยู่ในหน่วยงานตามพ.ร.บ.ใหม่ ที่จะเป็นองค์กรกลาง แต่หากไม่มีการจัดตั้งองค์กรใหม่ สปสช.ก็พร้อมที่จะบริหารจัดการต่อไป อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นกลับมายังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะให้ สธ.เป็นผู้ดำเนินการ จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของครม.ว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่องค์กรภาคประชาชนไม่เห็นด้วยที่จะให้ สธ.เป็นผู้รับผิดชอบ

แหล่งข่าวในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จาการพิจารณาผู้รับบริการที่ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นทั้งหมด 810 ราย แต่อนุกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาแล้วเหลือเข้าหลักเกณฑ์เพียง 660 ราย แบ่งเป็นจ่ายกรณีสูญเสียชีวิต/ทุพลภาพถาวร 344 ราย เป็นเงิน 54.51 ล้านบาท สูญเสียอวัยวะ/พิการ 97 ราย เป็นเงิน 10.20 ล้านบาท บาดเจ็บ/เจ็บป่วยต่อเนื่อง 219 ราย เป็นเงิน 7.81 ล้านบาท และกรณีอุทธรณ์ ซึ่งมีบางรายซ้ำกับรายที่เข้าหลักเกณฑ์ 67 ราย เป็นเงิน 7 แสนบาท ซึ่งจำนวนเงินที่สปสช.จ่ายชดเชยให้กับผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาในปี 2552นี้มากกว่างบประมาณปี 2552 ที่จัดสรรไว้ 47.02 ล้านบาทสำหรับใช้ในกรณีนี้ถึง 150 %

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ส่วนจำนวนเงินที่จ่ายชดเชยเบื้องต้นให้กับผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการในปีงบประมาณ 2552 จำนวนทั้งสิ้น 6.88 ล้านบาท จากจำนวนผู้ยื่นคำร้องทั้งหมด 725 ราย แต่เข้าหลักเกณฑ์เพียง 664 ราย แบ่งเป็นกรณีเสียชีวิต/ทุพลภาพถาวร 3 ราย เป็นเงิน 6 แสนบาท สูญเสียอวัยวะ/พิการ 1 ราย เป็นเงิน 1.2 แสนบาท บาดเจ็บ/เจ็บป่วยต่อเนื่อง 660 ราย เป็นเงิน 6.13 ล้านบาท และกรณีอุทธรณ์ซึ่งมีบางรายซ้ำกับที่เข้าหลักเกณฑ์ 33 ราย เป็นเงิน 2.7 หมื่นบาท โดยการจ่ายเงินลดลงจากปี 2551 คิดเป็น 26.84%

กำลังโหลดความคิดเห็น