xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นจีโอชง “จุรินทร์“” ของบรายหัวคนไร้สถานะเท่าคนไทย - นร.ได้สิทธิบัตรทองกลุ่มแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางเตือนใจ ดีเทศน์
เอ็นจีโอชี้ให้สิทธิบัตรทองคนไร้สถานะกลุ่มแรก นักเรียน 7 หมื่นราย และ บุคคลที่อยู่ไทยมานาน มีชื่อในทะเบียนราษฎร 1-2 หมื่นราย รับต้องมองหลายมิติ รอบคอบ จำกัดจำนวนชัดเจน หวั่นสร้างแรงจูงใจต่างด้าวแห่เข้าไทย ด้านคณะกรรมการ 4 ฝ่าย แก้ปัญหาคนไร้สถานะ เตรียมชงโครงการพิเศษของบรายหัวผู้ไร้สถานะเท่าคนไทย 2,400 บาท เสนอ “จุรินทร์”

นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จ.เชียงราย กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหากลุ่มคนไร้สถานะในประเทศไทยในด้านสุขภาพนั้น คนไร้สถานะกลุ่มแรกที่ควรได้รับสิทธิรักษาพยาบาลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ควรเป็นกลุ่มนักเรียนที่ก่อนหน้านี้ได้รับสิทธิในการศึกษาในโรงเรียน ของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ที่มีประมาณ 7 หมื่นคน เนื่องจากมีตัวเลขที่ชัดเจน รวมถึงผู้ที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรอีกจำนวน 1-2 หมื่นราย ก็ควรได้รับสิทธิประกันสุขภาพทันทีเช่นกัน ส่วนกลุ่มแรงงานต่างด้าวถือเป็นกลุ่มที่มีประกันสังคมรองรับอยู่แล้วและผู้อพยพที่อาศัยชั่วคราวในค่ายพักพิงมีองค์กรเอกชนต่างชาติดูแลอยู่แล้ว แต่ที่มีปัญหาคือกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายกลุ่มนี้เป็นปัญหาในหลายจังหวัด รัฐบาลควรจะเร่งกระตุ้นให้มีการเปิดเผยตัวมากขึ้น หรือขึ้นทะเบียนแรงงานให้ถูกต้องไม่ซึ่งหากไม่ดูแลควบคุมป้องกันคนกลุ่มนี้จะส่งผลต่อการแพร่กระจายของโรคและยิ่งเป็นการเพิ่มภาระในการรักษา

“การให้สวัสดิการรักษาพยาบาลคนไร้สถานะ คงต้องคิดในหลายมติ เพราะหากเปิดกว้างมากเกินไปอาจเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนกลุ่มหลบเลี่ยงเพื่อเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยควรจะมีการจำแนกกลุ่มคน 5 แสนคน ให้ชัดเจนว่าเป็นคนในกลุ่มใดบ้าง เช่น เป็นกลุ่มที่อยู่มานานจนมีความผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไทย คืออยู่เกิน 25 ปี มีชื่อในทะเบียนราษฎร กลุ่มนี้ควรได้รับสวัสดิการจากรัฐ” นางเตือนใจกล่าว

นางเตือนใจกล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย ของวุฒิสภา พบว่า จากกรณีที่กระทรวงมหาดไทยให้ทำการสำรวจผู้ที่ตกหล่นที่เป็นเครือญาติของผู้ที่สัญชาติไทยตามทะเบียนราษฎร ตั้งแต่ปี 2542 ถือเป็นช่องโหว่ที่เปิดกว้าง ให้ผู้ที่ไร้สัญชาติเข้ามาอยู่ประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งพบว่าตัวเลขผู้ตกสำรวจ มีมากถึง 2-3 หมื่นคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าสงสัย ดังนั้น การให้สิทธิหรือเพิ่มสิทธิประโยชน์ใดๆ ควรกระทำอย่างระมัดระวังและมีขอบเขต

“ตัวเลขกลุ่มไร้สถานะ 4-5 แสนคน ทำให้สำนักงบประมาณต้องหางบประมาณเพิ่มขึ้นอีกหัวละ 2,400 บาทต่อคน ถือเป็นเรื่องน่าหนักใจแต่หากไม่ทำอะไรปล่อยให้คนกลุ่มนี้เป็นโรค ไม่ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ก็อาจส่งผลให้รัฐบาลต้องแบกรับปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น” นางเตือนใจกล่าว

ด้าน นายบารมี ชัยรัตน์ ในฐานะผู้แทนด้านชนกลุ่มน้อยคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สปสช.มีมติเห็นชอบให้กลุ่มคนไร้สถานะได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยคณะทำงาน 4 ฝ่าย ทั้งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ กรมควบคุมโรค เสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในโครงการพิเศษค่าเหมาจ่ายรายหัวให้กับกลุ่มคนไร้สถานะในปีงบประมาณ 2553 เท่ากับคนไทยคือเหมาจ่าย 2,400 บาทต่อหัวประชากร ซึ่งถือเป็นจำนวนไม่มาก ในส่วนแรงงานอพยพหรือต่างด้าวเสนอให้มีการตั้งกองทุนควบคุมโรคติดต่อขึ้นมาดูแลโดยให้กรมควบคุมโรคเป็นผู้คำนวณค่าใช้จ่ายว่าจริงๆ ต้องใช้เท่าใด รวมทั้งบรรเทาปัญหาภาระหนี้สิ้นของโรงพยาบาลชายแดน โดยจะนำเสนอ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข นำเข้าพิจารณาในที่ประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ.ในวันที่ 15 ก.พ.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น