xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ทุ่มร้อยล้าน ตั้งกองทุนเบาหวาน-ความดัน แห่งแรกของเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มติ สปสช.ทุ่มงบ กว่า 300 ล้านบาท ตั้งกองทุนเบาหวานและความดันดูแลผู้ป่วย อวดเป็นแห่งแรกของเอเชีย หวังตั้งเป้าลดภาระค่าใช้จ่ายรักษาโรคเรื้อรังไม่เกิน 5% ของค่าใช้จ่ายครัวเรือนภายในปี 53 ชี้วัด สปสช.ทำงานมีประสิทธิภาพ

เมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 8 กุมภาพันธ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การกำหนดตัวชี้วัดเพื่อการทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปี 2553 และ 2.การดูแลป้องกันการเกิดโรคเบาหวานและความดันโดยจัดตั้งกองทุนโรคเบาหวานและความดัน


นายจุรินทร์กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคที่มีภาระค่าใช้จ่ายสูงและเป็นภาระระยะยาว เช่น ไตวายเรื้อรัง โรคเอดส์ โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง ในปี 2553 จะต้องทำให้ภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาของประชาชนเมื่อเทียบกับค่าใช้ครัวเรือนไม่เกินร้อยละ 5 ส่วนที่เหลือต้องเป็นภาระของภาครัฐหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าคนไทยมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโรคเรื้อรังมากน้อยแค่ไหน โดยจะประสานกับสำนักงานสถิติแห่งชาติในการทำสำรวจค่าใช้จ่ายที่แท้จริง แต่จากการประมาณการน่าจะเกินร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดว่าไม่ควรเกินร้อยละ 10

“นอกจากนี้ ในปี 2553 โรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน HA หรือการรับรองคุณภาพของสถานพยาบาลต้องผ่านอย่างน้อยร้อยละ 98.3 หรือจำนวนโรงพยาบาลที่เข้าร่วมกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องได้รับการรับรองจากเดิม 264 แห่ง เป็น 364 แห่ง อย่างน้อยต้องเพิ่มขึ้น 50 แห่ง รวมถึง ต้องมีเขตบริการด้านสาธารณสุขของ สปสช. อย่างน้อย 10 แห่ง ที่มีเครือข่ายตติยภูมิเฉพาะด้านที่ได้มาตรฐาน เช่น หัวใจ มะเร็ง หลอดเลือดสมอง เป็นต้น” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ส่วนเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้รับบริการโดยตรง เช่น ผู้ป่วยที่ไม่ใช่บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือรักษาฟรีต้องไม่เกินร้อยละ 30 ในปี 2553 เพราะในปี2552 กำหนดไว้สูงกว่านั้น จึงต้องทำระบบรักษาฟรีให้มีคุณภาพมากขึ้น จึงจะทำให้ตัวเลขผู้ที่ไม่ใช้บริการลดลงเรื่อยๆ เพื่อสะท้อนถึงความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือตัวชี้วัดอื่นที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองความพอใจของประชาชน เช่น ความพอใจต่อบุคลากรที่ให้บริการต้องสูงกว่าร้อยละ 67.5 ความพอใจต่อระบบรักษาฟรีต้องสูงว่าร้อยละ 87 การแก้ปัญหาร้องเรียนต้องแล้วเสร็จภายใน 30 วันเป็นอย่างช้า และการทำหน้าที่ของกองทุนหมุนเวียน ทั้งกองทุนจิตเวช กองทุนเบาหวานและความดันโลหิตสูง กองทุนไตวายเรื้อรัง ต้องมีประสิทธิภาพประสิทธิผล ทั้งในแง่บริหารการจัดการและระบบสารสนเทศ โดยต้องผ่านเกณฑ์ 100 เปอร์เซ็นต์

“เชื่อว่าหาก สปสช.สามารถดำเนินการได้ตามตัวชี้วัดที่มีการกำหนดจะทำให้คุณภาพการรักษาและการให้บริการประชาชนที่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสิทธิบัตรทองดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งผมในฐานะประธานบอร์ดสปสช.จะเข้ามากำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง”นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า อีกเรื่องคือการดูแลป้องกันการเกิดโรคเบาหวานและความดัน ซึ่งปัจจุบันคนไทยป่วยโรคนี้สูงมาก ผู้ป่วยเบาหวาน 3.2 ล้านคน เข้าถึงระบบบริการแค่ร้อยละ 41 ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 10 ล้านคน เข้าถึงระบบบริการแค่ร้อยละ 29 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ามาบริหารจัดการ 2 โรคนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นบ่อเกิดของโรคที่ต้องใช้ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลมาก เช่น ไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดหัวใจ และมะเร็ง โดยจากนี้จะต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการ และจัดตั้งกองทุนควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง เน้นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง จำนวน 304.59 ล้านบาท นับว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีงบประมาณเข้ามาดูแลจัดการกับโรคเบาหวานและความดันเป็นการเฉพาะ โดยสปสช.จะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการดำเนินการมาตรการป้องกัน และจะใช้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) คัดกรองกลุ่มเสี่ยง

“ขณะเดียวกันจะมีการจัดตั้งกองทุน 5,500 กองทุน โดยใช้งบฯสปสช.ร่วมกับอปท. โดยในส่วนของเทศบาล สปสช.จะออก 2 ส่วน เทศบาลออก 1 ส่วน ระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สปสช.จะออก 10 ส่วน ขณะที่ อบต.ออก 2 ส่วนเพื่อตั้งกองทุนป้องกันโรคให้กับกลุ่มเสี่ยง และ สปสช.จะเพิ่มงบประมาณต่อหัวจากเดิม 2,402 บาท เพิ่มอีก 50 บาทต่อหัวประชากรให้กับองค์กรที่มีความพร้อมเป็นไปตามเกณฑ์ของ สปสช. นอกจากนี้ ได้มอบให้ปลัด สธ.ไปทำแผนยุทธศาสตร์โรคไม่ติดต่อเรื้อรังในระดับชาติอีกด้วย”นายจุรินทร์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น