xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยชี้เด็กกรุงอ้วนกว่าชนบท 2 เท่า เสี่ยงเบาหวาน-หัวใจ-ความดันสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ผลวิจัยชี้เด็กกทม.อ้วนมากกว่าเด็กชนบท 2 เท่า เหตุกินดีอยู่ดี ส่งผลเบาหวาน ความดันสูง เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ตะลึงรวมตัวเลขค่ารักษาสูงประมาณ 1 แสนล้านบาท/ปี ส่งผลต่อภาระทางสังคมประเทศชาติ

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมอมารีดอนเมือง นพ.วินัย สวัสดิสวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการควบคุม/ป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน/ความดันโลหิตสูงว่า โรคเรื้อรังเป็นภัยเงียบที่คุกคามคนในสังคมและกำลังเป็นปัญหามากยิ่งขึ้นในประเทศ ซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญกับโรคของการกินดีอยู่ดี ซึ่งพบว่าประชาชนที่เป็นผู้ใหญ่เกือบร้อยละ 30 หรือราว 15 ล้านคน มีรูปร่างท้วมและอ้วน นอกจากนี้ พบว่าเด็กชั้นประถมศึกษาที่เกือบ 1 ใน 5 เป็นโรคอ้วน เด็กชั้นอนุบาล และประถมต้น ประมาณร้อยละ 15 อ้วนมาก โดยเด็กในเมืองอ้วนจำนวนมากกว่าเด็กชนบทเกือบ 2 เท่า เฉพาะเด็กกรุงเทพฯ อ้วนมากถึงร้อยละ 25

“ขณะนี้ทั่วโลกก็กำลังประสบกับปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานประมาณ 1,000 ล้านคน และอ้วนอย่างต่ำ 300 ล้านคน น้ำหนักเกินและอ้วนส่วนใหญ่เกิดจากการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม และออกกำลังที่ใช้แรงน้อย เป็นสาเหตุของเบาหวาน และความดันโลหิตสูง และยังเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง”นพ.วินัยกล่าว

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า ที่น่าตกใจมากที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท และหากรวมการรักษาโรคแทรกซ้อน เช่น เบาหวานขึ้นตา ไตวาย โรคหัวใจ ค่าใช้จ่ายอาจเพิ่มสูงถึงแสนล้านบาทต่อปี โรคอัมพาตอัมพฤกษ์เพิ่มขึ้นปีละ 150,000 คน เสียค่าใช้จ่ายดูรักษาประมาณ 75,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาระแก่ประเทศและครอบครัวของผู้ป่วยเองที่ค่อนข้างสูงมาก

นพ.วินัย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ตั้งเป้าลดภาวะแทรกซ้อนจากโรค เช่น การตัดขาลดลงร้อยละ 50 ตาบอดจากเบาหวานลดลงร้อยละ 30 และโรคหลอดเลือดสมองลดลงร้อยละ 10 ในระยะเวลา 3 ปีจากนี้ไป และที่สำคัญเร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์โรคเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงบริการสาธารณสุขของผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงยังมีปัญหาอยู่ จากข้อมูลระบุว่า มีผู้ป่วยเบาหวานมากกว่าร้อยละ 30 ยังเข้าไม่ถึงบริการและร้อยละ 50 สำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยที่เข้าถึงบริการและควบคุมได้มีเพียงร้อยละ 35 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดและร้อยละ 20 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงทั้งหมด ซึ่งสาเหตุเกิดจากประชาชนไม่รู้ว่าตนเองป่วย และระบบบริการทางการแพทย์ปัจจุบันออกแบบมาเพื่อการรักษาโรคติดต่อหรือปัญหาสุขภาพแบบเฉียบพลัน ไม่สอดรับกับการบริการโรคเรื้อรังซึ่งต้องการการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง และในการดูแลรักษา เน้นบทบาทของบุคลากรทางการแพทย์มากกว่าบทบาทของผู้ป่วยครอบครัวและชุมชน
กำลังโหลดความคิดเห็น