กรมควบคุมโรคเรียกถกหน่วยงานเกี่ยวข้องคุมเข้ม สัญญาณหวัด 2009 รีเทิร์นระบาดระลอก 2 ชัดเจน หลังพบผลตรวจแล็ปเชื้อหวัด2009 พุ่งขึ้นเท่าตัวในรอบ 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในโรงพยาบาลเพิ่มเกิน 5 % จ.เชียงใหม่น่าห่วงสุด ป่วยหวัดเพิ่มถึง 35 % มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ในรอบสัปดาห์
วันที่ 19 มกราคม ที่กรมควบคุมโรค นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานในการประชุมผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวฯ คมนาคม ราชทัณฑ์ กรุงเทพมหานคร และอื่นๆ เพื่อแจ้งสถานการณ์แนวโน้มการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ระลอกที่ 2 และระดมความร่วมมือการควบคุมป้องกัน เนื่องจากมีรายงานพบเด็กนักเรียนป่วยพร้อมกันในโรงเรียนหลายแห่ง
นพ.มานิต กล่าวว่า นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในระลอกที่ 2 อย่างเข้มข้นจนกว่าจะถึงฤดูร้อน โดยให้กรมควบคุมโรค เป็นแกนหลักแจ้งสถานการณ์แนวโน้มการระบาดของโรคและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานนอกกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นเครือข่ายควบคุมป้องกัน ซึ่งจะทำให้ระบบของไทยมีความเข้มแข็งและครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นเป้าหมายของการระบาดระลอก 2 หากไม่ควบคุมจุดนี้ ก็จะลุกลามไปสู่บ้านและชุมชนเหมือนรอบที่ผ่านมาได้
นพ.มานิต กล่าวต่อว่า จากการประเมินสถานการณ์ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบโรงเรียนส่วนใหญ่หย่อนกิจกรรมตรวจคัดกรองสุขภาพเด็กทุกวัน ทำให้โรคไข้หวัดใหญ่มีการระบาดระลอก 2 ที่โรงเรียนหลายแห่ง ส่วนมากในต่างจังหวัด แนวโน้มการระบาดครั้งนี้จะอยู่ที่อำเภอและตำบล เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ภูมิต้านโรคนี้ ที่น่าห่วงหากประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเจ็บป่วยโอกาสการไปรับบริการที่โรงพยาบาลเป็นไปด้วยความลำบาก มีค่าใช้จ่ายการเดินทางสูง จึงต้องป้องกันทุกวิถีทางเพื่อลดการป่วยให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งขอความร่วมมือหน่วยงานนอกกระทรวงสาธารณสุขให้รับทราบสถานการณ์และเร่งดำเนินการบูรณาการงานควบคุมป้องกันเป็นไปในแนวเดียวกันกับสธ. ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้มแข็งในระบบมากยิ่งขึ้น
“สำหรับผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีจำนวน 2 ราย เป็นหญิงวัย 37 ปี อาชีพลูกจ้าง ใน จ.เชียงใหม่ ไม่มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุวัย 82 ปี ชาวจ.อยุธยา มีโรคประจำตัวเป็นโรคถุงลมโป่งพองและความดันโลหิตสูง รวมมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 198 ราย ซึ่งหากพบผู้ป่วยประมาณ 3-5 แสนคนจะมีคนตายประมาณ 1 คน ขณะที่สถานการณ์ของโรคที่ จ.เชียงใหม่ขณะนี้ยังน่าเป็นห่วง มีผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดสูงขึ้นถึง 35 % ขณะที่จังหวัดอื่นสูงขึ้นประมาณ 10 % จึงได้ขอความร่วมมือโรงเรียน โรงงาน ร่วมคัดกรองให้ได้มาตรฐานเหมือนการระบาดในเมือง และให้จังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ เพราะพบว่าคนต่างจังหวัดรอให้มีอาการหนักก่อนค่อยพบแพทย์”นพ.มานิตกล่าว
ด้านนพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้มี 5 สัญญาณที่บ่งบอกถึงการระบาดของโรคในระลอก 2 ชัดเจนขึ้น ได้แก่ 1.การพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มๆเกิดขึ้นมากกว่า 10 ครั้งหลังเทศกาลปีใหม่ วันเด็ก วันครู ที่ จ.เชียงใหม่ ลำปาง นครราชสีมา กทม. ระยอง นราธิวาส 2. สถิติผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ที่แผนกผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลต่างๆเพิ่มขึ้นทุกภาค บางแห่งเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ 3.ผลการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 พบมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ร้อยละ 6 และเพิ่มเป็นร้อยละ 10ในช่วงปลายเดือนธันวาคม และร้อยละ20 ในสัปดาห์ที่ 2 เดือนมกราคม 2553 4. การระบาดกระจายทั่วประเทศในระดับอำเภอและในตำบลใหม่ๆเพิ่มขึ้น 5.มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มจาก 0-1 ราย ในเดือนพฤศจิกายน 2552 เป็น 2-4 รายในเดือนมกราคม 2553
นพ.ภาสกร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ทั้งนี้มีปัจจัยเอื้อทำให้โรคระบาดเพิ่มขึ้นคือ 1. สภาพอากาศที่เย็นลงและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ป่วยง่ายขึ้น 2. เชื้อไวรัสอยู่ได้นานในอากาศหนาว 3. ประชาชนป้องกันโรคลดลง และ4.มีกิจกรรมทางสังคมมากเช่นงานเลี้ยง งานบุญ กีฬาสี เข้าค่าย เป็นต้น
ทางด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวเกี่ยวกับการดูแลนักเรียนเรื่องไข้หวัดใหญ่ 2009 ว่า ตนได้รับรายงานว่ามีนักเรียน จำนวน 260 คน จาก 9 เขตพื้นที่การศึกษาใน 8 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ เขต 3 และเขต 3 เชียงราย พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี อุทัยธานี นราธิวาส และสงขลา เข้าข่ายต้องเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทั้งนี้ ทางโรงเรียนติดตามอาการนักเรียนกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องสั่งปิดโรงเรียน หากจำเป็นต้องปิดโรงเรียนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้อำนวยการโรงเรียน อย่างไรก็ตาม ตนกำชับให้ สพท.รายงานสถานการณ์มายังส่วนกลางทุกวันศุกร์ ก่อนเที่ยง