“จุรินทร์” สั่งควักเงินกองกลางฉุกเฉินของ สธ. 200 ล้านแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โรงพยาบาลกันดาร-ชายแดน ติดหนี้รักษาพยาบาลคนไร้สถานะ ตั้งกองทุนช่วยเหลือ ระยะยาวมอบ 4 องค์กรถกหาทางแก้ปัญหาการเงินการคลัง เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ ปลัด สธ.เผย รพ.สังกัด สธ.ประสบภาวะเป็นหนี้กว่า 40 แห่ง รพ.แม่สอดอ่วม ติดหนี้ 100 ล้าน หมดเงินรักษาทั้งต่างด้าว-คนไร้สถานะ
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาเกี่ยวกับการให้บริการสาธารณสุขในพื้นที่กันดารและพื้นที่เฉพาะ ซึ่ง สธ.ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากครอบคลุมพื้นที่ครึ่งหนึ่งของประเทศถึง 49 จังหวัด 479 อำเภอและ 4,128 ตำบล โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.พื้นที่บริเวณแนวชายแดน 4 ประเทศ คือ พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย 2.พื้นที่ชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด 3.พื้นที่ห่างไกลที่มีลักษณะเป็นเกาะและติดชายทะเล ห่างไกลและ4.พื้นที่สูง
“ปัจจุบันสถานพยาบาลในพื้นที่เหล่านี้ประสบปัญหา การให้บริการสุขภาพประชาชนด้านการเงินการคลัง โดยเฉพาะพื้นที่แนวชายแดน ทั้งแง่ของการรักษาและการควบคุมโรคจากการแพร่ระบาด ซึ่งผู้ติดเชื้อต่างๆ ที่เป็นบุคคลไร้สัญชาติและแรงงานที่ข้ามเข้ามาทำงานในไทยแพร่เชื้อให้กับคนไทย ส่วนการรักษา โรงพยาบาลก็ไม่สามารถปฏิเสธคนไร้สถานะ คนรอการพิสูจน์สถานะและแรงงามต่างชาติได้ จึงต้องเจียดเงินเหมาจ่ายรายหัวไปรักษาคนกลุ่มนี้ด้วย ส่งผลกระทบต่อการรักษาคนไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในการแก้ปัญหานี้ก็เพื่อช่วยคนไทยไม่ให้ติดโรคและไม่ถูกเจียดเงินไปรักษาคนกลุ่มนี้ แต่ไม่ใช่ปฏิเสธการให้บริการคนกลุ่มนี้” นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในการแก้ปัญหาระยะยาวได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมควบคุมโรค (คร.)และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินการ 2 ส่วน ได้แก่ 1.มาตรการคุมโรคตามแนวชายแดนให้มีคุณภาพ นอกเหนือจากการใช้งบประมาณปกติ เช่น การจัดตั้งกองทุน เป็นต้น 2.ระบบการดูแลกลุ่มคนที่รอพิสูจน์สัญชาติที่มีประมาณ 570,000 คนทั่วประเทศ ไม่ให้กระทบการรักษาคนไทยบริเวณแนวชายแดน ซึ่งจะต้องใช้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ จากนั้นนำเข้าสู่ที่ประชุมผู้บริหารสธ.อีกครั้งหนึ่ง หากจำเป็นต้องเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ตนก็จะดำเนินการต่อไป
“การดูแลรักษาแรงงานต่างชาติมีระบบอยู่แล้ว เช่น แรงงานที่จดทะเบียนจะต้องซื้อบริการสุขภาพหัวละ 1,300 บาท แต่อยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับจดทะเบียนแรงงาน ควรตรวจสุขภาพก่อนขึ้นทะเบียน มิเช่นนั้นจะเป็นภาระค่ารักษาพยาบาลของไทยต่อไป”นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า เบื้องต้นสั่งการให้นำเงินจากกองทุนฉุกเฉินที่มีประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งตามปกติจะจัดสรรให้กับสถานพยาบาลที่ประสบปัญหาภาวะทางการเงิน โดยให้พิจารณาเกลี่ยเงินส่วนนี้ให้กับสถานพยาบาลในพื้นที่พิเศษทั้ง 4 กลุ่มด้วย เนื่องจากต้องแบกรับผู้ป่วยที่เข้าใช้บริการจริงสูงกว่าเงินเหมาจ่ายรายหัวที่ได้รับการจัดสรร ทำให้เกิดปัญหาทางการเงินการคลัง และมอบหมายให้ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดสธ.ไปศึกษาว่าโรงพยาบาลตามแนวชายแดนจะสามารถรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องการบริหารจัดการ วิชาการ การควบคุมโรคและการรักษาพยาบาลภายใต้งบประมาณที่จำกัดได้หรือไม่
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.กล่าวว่า ในการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนฉุกเฉินจะมีคณะกรรมการในการพิจารณา โดยตามระเบียบเงินจากส่วนนี้จะจัดสรรให้กับสถานพยาบาลที่ประสบภาวะหนี้สิน ปัจจุบันมีอยู่กว่า 40 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาตามความเหมาะสมว่าสถานพยาบาลแห่งใดควรได้รับการจัดสรรงบฯเพิ่มเติม เพื่อให้สถานพยาบาลใช้ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.30 น. เครือข่ายโรงพยาบาลชายแดน ได้แก่ โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก โรงพยาบาลปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก เป็นต้น ได้เข้าพบนายจุรินทร์ เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของโรงพยาบาลแนวชายแนวซึ่งดูแลผู้ป่วยซึ่งเป็นบุคคลไร้สถานะจำนวนมากจนทำให้เกิดหนี้สินขึ้น
โดย นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า ถือว่านายจุรินทร์มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา โดยการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะการช่วยเหลือคนกลุ่มที่อยู่ในเมืองไทยมาเป็นเวลานานแต่อยู่พื้นที่ห่างไกลทำให้ไม่ได้รับสัญชาติ ซึ่งคนกลุ่มนี้หากได้รับการดูแลเป็นมาตรฐานเดียวกับคนไทยทั่วไป ในด้านความมั่นคงก็จะทำให้เกิดความรู้สึกรักประเทศไทยและร่วมกันดูแลประเทศด้วย สำหรับกลุ่มคนต่างด้าวซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่และเป็นกลุ่มที่หลบหนีเข้าเมือง การให้หลักประกันคงไม่เหมาะสม แต่สามารถช่วยเหลือได้ด้วยการตั้งกองทุน ในการสนับสนุนโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ ได้
“การจัดระบบการดูแลคนทั้งสองกลุ่ม หากสามารถทำได้จะถือเป็นตัวอย่างแก่ประเทศอื่นๆ และกองทุนดังกล่าวจะถือเป็นช่องทางในการรับความช่วยเหลือจากองค์กรระดับโลก เช่น ยูนิเซฟ องค์การอนามัยโลก ถือเป็นการดูแลร่วมกันกับคนทั้งโลกและไม่ว่าจะเป็นคนชนชาติใด ทางสาธารณสุขไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าจะไม่ช่วยเหลือหากไม่ใช่ชาติเดียวกัน นอกจากเรื่องมนุษยธรรมยังเป็นการป้องกันปัญหาโรคระบาดต่างๆ ด้วย” นพ.วรวิทย์ กล่าว
นพ.รณไตร เรืองวีรยุทธ ผู้อำนวยการรพ.แม่สอด กล่าวว่า สัดส่วนการดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลถือว่ามีกลุ่มคนต่างด้าวเข้าใช้บริการมากที่สุดในประเทศ คือ ร้อยละ 28 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยใช้งบประมาณในการดูแลคนกลุ่มดังกล่าวประมาณปีละ 50 ล้านบาท ขณะนี้มีโรงพยาบาลมีหนี้สินอยู่ประมาณ 100 ล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการดูแลคนต่างด้าว และอีกครั้งเป็นหนี้ที่เกิดจากการดูแลผู้ป่วยไทยไร้สถานะ ที่ผ่านมา ใช้วิธีการช่วยเหลือกันเองภายในจังหวัด ซึ่งโรคที่พบโดยส่วนใหญ่จะมีทั้งโรคติดต่อชายแดน มาลาเรีย วัณโรค โรคติดต่อทางเดินหายใจ