xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.ส่งทีมดูแลผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจกที่ขอนแก่น ล่าสุดยังหาต้นตอติดเชื้อไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ไพจิตร์ วราชิต
ปลัด สธ.ส่งทีมเยียวยาช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อหลังผ่าตัดตาต้อกระจกที่ขอนแก่นอย่างใกล้ชิด ล่าสุดผู้ป่วยอาการดีขึ้น และกลับบ้านแล้ว 6 ราย ยังรักษาต่อที่ร.พ.ขอนแก่น 5 ราย พร้อมมอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยและญาติครอบครัวละ 50,000 บาท และยื่นขอรับค่าชดเชยจากมาตรา 41 พ.ร.บ.ประกันสุขภาพแห่งชาติ 50,000 -120,000 บาทต่อราย ส่วนผู้ไม่มีสิทธิจะมอบเงินให้เท่ากัน พร้อมแจ้งกำชับโรงพยาบาลในสังกัดระมัดระวังการติดเชื้อเป็นกรณีพิเศษ ส่วนต้นตอการติดเชื้อยังสรุปหาสาเหตุแท้จริงไม่ได้

กรณีที่มีข่าวโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ได้ทำการผ่าตัดตาต้อกระจกให้ผู้ป่วยจำนวน 28 ราย ระหว่างวันที่ 14-16 ธันวาคม 2552 และหลังผ่าตัดพบผู้ป่วยติดเชื้อ จำนวน 11 ราย และตาบอด 3 ราย จึงต้องปิดห้องผ่าตัดชั่วคราว เพื่อตรวจหาสาเหตุการติดเชื้อดังกล่าว

ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่นว่า ได้ผ่าตัดผู้ป่วยโรคต้อกระจกระหว่าง 14-16 ธันวาคม 2552 จำนวน 25 ราย ต่อมาเมื่อ 16 ธันวาคม 2552 มีผู้ป่วยหลังผ่าตัด 2 ราย มีอาการตาอักเสบ จึงได้รีบส่งรถไปรับผู้ป่วยผ่าตัดทั้งหมดกลับมาตรวจซ้ำที่โรงพยาบาลในวันที่ 17-18 ธันวาคม 2552 ผลการตรวจพบผู้ป่วยตาอักเสบรวมทั้งหมด 11 ราย แพทย์ได้รีบให้การรักษาทันที โดยรับไว้รักษาที่ร.พ.ขอนแก่น 1 ราย ส่งต่อร.พ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 9 ราย และส่งไปที่ร.พ.เมตตาประชารักษ์ จ.นครปฐมตามความประสงค์ของญาติ 1 ราย ต้องขอชื่นชมโรงพยาบาลขอนแก่น หลังเกิดเหตุการณ์ได้รีบดำเนินการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยโดยเร็วที่สุด

ในการรักษาผู้ป่วยที่ตาติดเชื้อ แพทย์ได้ผ่าตัดเอาหนองออกและขูดเนื้อเยื่อตาบางส่วนออก 5 ราย ผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อตาออก 2 ราย และผ่าตัดน้ำวุ้นตาและให้ยาปฏิชีวนะต่อเนื่อง 4 ราย ล่าสุดในวันนี้(4 มกราคม 2553) ผู้ป่วยอาการดีขึ้นและกลับบ้านแล้วจำนวน 6 ราย ได้รับย้ายจาก ร.พ.ศรีนครินทร์ และยังคงรักษาต่อที่ร.พ.ขอนแก่น 5 ราย

“รู้สึกเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยและญาติ และขอแสดงความเสียใจกับญาติในกรณีที่ต้องสูญเสียดวงตา ได้สั่งการให้โรงพยาบาลขอนแก่น ส่งเจ้าหน้าที่ให้การเยียวยาด้านจิตใจและดูแลรักษาผู้ป่วยและญาติทั้ง 11 รายอย่างใกล้ชิด กระทรวงสาธารณสุขรู้สึกไม่สบายใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ให้ระมัดระวังเรื่องดังกล่าวนี้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก” นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว

ทางด้านนายแพทย์วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า เหตุการณ์การติดเชื้อหลังผ่าตัดตา ที่ผ่านมาเกิดขี้นน้อยมากๆ เนื่องจากโรงพยาบาลขอนแก่นมีระบบควบคุมป้องกันที่เข้มแข็งมาตลอด โดยได้มอบหมายให้คณะกรรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลและผู้เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริง ได้เก็บสิ่งคัดหลั่งจากแผลผู้ป่วย ส่งตรวจเพาะเชื้อทันที ผลการตรวจสิ่งคัดหลั่งจากแผล 8 ตัวอย่าง พบติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ซูโดโมแนส เออโรจิโนซ่า (Psudomonas aeruginosa) 6 ตัวอย่าง พบเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนอี (Streptococcus pneumoniac) 1 ตัวอย่าง ไม่พบติดเชื้อรา

ส่วนผลการตรวจเพาะเชื้อในเครื่องมือ อุปกรณ์ชุดเดียวกับที่ใช้ในวันที่ผ่าตัดเมื่อวันที่ 14-16 ธันวาคม 2552 รวมทั้งสารน้ำ อากาศและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ จำนวน 85 ตัวอย่าง เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552 ไม่พบเชื้อแต่อย่างใด ซึ่งเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ครั้งนี้ สาเหตุส่งเสริมอาจจะเกิดมาจากสิ่งแวดล้อม ฝุ่นละออง ความชื้น อุณหภูมิ อุปกรณ์ รวมทั้งผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก

นพ.วีระพันธ์ กล่าวต่อไปว่า ในเบื้องต้น คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลของแก่น ได้มีมติให้หยุดการผ่าตัดผู้ป่วยตาไว้ก่อนชั่วคราว เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยโดยเร็วได้ประสานงานกับทีมแพทย์ พยาบาล ทั้งใน ร.พ.ขอนแก่น ร.พ.ศรีนครินทร์ และร.พ.เมตตาประชารักษ์ ทุกคนมีความตั้งใจในการดูแลรักษาผู้ป่วย และได้มอบหมายให้ทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เยี่ยมผู้ป่วยและญาติ ส่งรถไปรับที่บ้าน จัดห้องพิเศษให้พัก รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนเกิน โดยได้มอบของขวัญปีใหม่และเงินไว้เป็นค่าใช้สอยเบื้องต้นให้ผู้ป่วยและครอบครัวคนละ 4,000 บาท และมอบเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวเบื้องต้นครอบครัวละ 50,000 บาท พร้อมทั้งยื่นคำร้องให้ผู้ป่วยที่มีสิทธิบัตรประกันสุขภาพซึ่งมีจำนวน 7 ราย เพื่อรับการช่วยเหลือกรณีได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุขตามมาตรา 41 พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเข้าเกณฑ์การช่วยเหลือประเภท 2 คือกรณีพิการหรือสูญเสียอวัยวะจะได้รับเงินช่วยเหลือไม่เกิน 120,000 บาท และกรณีประเภท 3 บาดเจ็บและเจ็บป่วยต่อเนื่องจะได้รับเงินช่วยเหลือไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ ซึ่งมีสิทธิสวัสดิการข้าราชการจำนวน 4 ราย โรงพยาบาลจะพิจารณาเงินช่วยเหลือในจำนวนที่เท่ากัน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าขณะนี้โรงพยาบาลขอนแก่น ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แท้จริงได้ แต่โรงพยาบาลได้ทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานการดูแลผู้ป่วยผ่าตัดทุกชนิด ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ระหว่างผ่าตัดและหลังผ่าตัด รวมทั้งขั้นตอนทำความสะอาดให้ปราศจากเชื้อ เพื่อสรุปหาสาเหตุที่ชัดเจน และวางแผนป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก นายแพทย์วีระพันธ์กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น