xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ใส่ตาเทียมฟรีให้ ผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจกตาบอดรพ.ขอนแก่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สธ.ใส่ลูกตาเทียมให้ผู้ป่วยที่ตาบอดหลังผ่าตัดตาต้อกระจกที่รพ.ขอนแก่น ฟรี พร้อมมอบเงินชดเชยรายละ 170,000 บาท รับดูแลสุขภาพ รักษาฟรีทุกโรคตลอดชีวิต ล่าสุดเหลือผู้ป่วยนอนรพ. 4 ราย ทุกรายอาการดีขึ้น 3 รายมองเห็นเลือนราง แนะผู้ป่วยตาต้อกระจกรับการรักษาตามแพทย์นัด ป้องกันตาบอดถาวรจากต้อกระจก ย้ำทุกโรงพยาบาลเข้มงวดความปลอดเชื้อตามมาตรฐานสากล ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันออกกฎหมายกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข 


วันนี้ (6 ม.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่ตาบอดหลังเข้ารับการผ่าตัดใส่เลนซ์เทียมรักษาโรคตาต้อกระจก ว่า สธ.ได้วางแผนให้การดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดยังมีนอนรักษาที่โรงพยาบาลขอนแก่นอีก 4 ราย ทุกรายอาการดีขึ้น การอักเสบลดลง โดยมี 1 รายมองเห็นดี อีก 3 รายมองเห็นเลือนราง สรุปแล้วจากผู้ป่วยผ่าตัดทั้งหมด 25 ราย มีการอักเสบหลังผ่าตัด 11 ราย ตาบอด 7 ราย ในจำนวนนี้ผ่าตัดควักดวงตาแล้ว 2 ราย ที่เหลือรักษาโดยการขูดเนื้อเยื่อออก 5 ราย แต่ผู้ป่วยทั้งหมด ตาที่เหลืออีก 1 ข้างยังมองเห็นได้ดี ผู้ป่วยยังสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติ

“ผู้ป่วยที่ควักลูกตาออกแล้ว สธ.จะใส่ลูกตาเทียม ซึ่งเป็นพลาสติกที่มีความสวยงาม คล้ายดวงตาจริง เพื่อให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจ สามารถเข้าสังคมได้ โดยโรงพยาบาลขอนแก่น จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ป่วยว่าต้องการไปใส่ที่ใด ซึ่งขั้นตอนในการผ่าตัดใส่ตาเทียมไม่ยุ่งยาก และแพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการเป็นระยะๆ” นพ.ไพจิตร์ กล่าว

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนที่เป็นโรคตาต้อกระจก อย่าตื่นตระหนกจนไม่ยอมรับการผ่าตัด เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาน้อยมาก และโรคนี้เมื่อเลนส์แก้วตาสุกเต็มที่ หากไม่ผ่าตัดออกและเปลี่ยนใส่เลนซ์ตาเทียม ผู้ป่วยจะมีโอกาสตาบอดอย่างถาวร จึงขอให้ไปรับบริการตามที่แพทย์นัด โดยสธ.ได้เน้นย้ำให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ถือกรณีที่เกิดขึ้นที่รพ.ขอนแก่นเป็นอุทาหรณ์ และให้เจ้าหน้าที่ในสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง เข้มงวดความสะอาดตามมาตรฐานสากลทุกหน่วย และให้ติดตามอาการผู้ป่วยหลังให้บริการอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลและให้การรักษาอย่างทันท่วงทีในรายที่ผิดปกติ สร้างความมั่นใจแก่ผู้ป่วยยิ่งขึ้น สำหรับในปี 2551 มีผู้ป่วยโรคตาต้อกระจกเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 121,383 ราย

ด้านนพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลขอนแก่นได้เปิดบริการห้องผ่าตัดตาตามปกติแล้ว มีผู้ป่วยรอผ่าตัดตาต้อกระจกนานประมาณ 6 เดือน แพทย์จะนัดผ่าตัดวันละ 8-10 ราย โดยเจ้าหน้าที่ได้เปลี่ยนเครื่องมือ วัสดุ และน้ำยาต่าง ๆ ที่ใช้ในห้องผ่าตัดทั้งหมด เครื่องมือทั้งหมดจะผ่านการฆ่าเชื้อและตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคทุกวัน ขณะนี้ได้ให้บริการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บฉุกเฉินที่ตาทุกวัน ไม่พบปัญหาติดเชื้อหลังผ่าตัดแต่อย่างใด

นพ.วีระพันธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยทั้ง 11 ราย ซึ่ง 7 รายเป็นผู้ป่วยบัตรทอง เบื้องต้นทางโรงพยาบาลได้จ่ายค่าชดเชยรายละ 50,000 บาท และจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการเยียวยาตามพรบ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มาตรา 41 ในวันที่ 13 มกราคม 2553 เพื่อจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์วงเงิน 120,000 บาท รวมรายละ 170,000 บาท ส่วนรายที่ใช้สิทธิ์ราชการ 4 รายก็จะได้รับสิทธิ์เท่ากัน ขณะนี้ได้มอบแล้ว 1 ราย ที่เหลืออีก 3 รายจะมอบให้ภายในสัปดาห์นี้ และจะรับผิดชอบดูแลสุขภาพรักษาผู้ป่วยทั้ง 11 รายทุกโรค ฟรี ตลอดชีวิต

ด้านน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้การให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายทางการแพทย์ ตามมาตรา 41 ของกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นการให้ความช่วยเหลือเฉพาะผู้ป่วยบัตรทองเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมระบบสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม นอกจากนี้การช่วยเหลือเบื้องต้นยังมีความจำกัดในเรื่องวงเงินงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถเยียวยาความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขที่เกิดขึ้นได้จริง จึงเรียกร้องให้สธ.ได้เสนอกฎหมายพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข โดยให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีสำนักงานที่มีความเป็นกลาง เป็นอิสระ และเข้าถึงได้ง่าย เพื่อประสิทธิภาพในการชดเชย และเยียวยาความเสียหายตลอดตนลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น