สปสช.ช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายผู้ป่วยตาต้อกระจกที่ขอนแก่น ตามมาตรา 41 รายละไม่เกิน 2 แสนบาทพร้อมกำชับสปสช.เขตขอนแก่นประสานรพ.ศูนย์ค้นหาต้นเหตุการเกิดเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส
จากกรณีที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นผ่าตัดตาต้อกระจกให้ผู้ป่วยจำนวน 28 ราย ระหว่างวันที่ 14-16 ธันวาคม 2552 และหลังผ่าตัดพบผู้ป่วยติดเชื้อจำนวน 11 ราย และตาบอด 4 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยในสิทธิหลักประกันสุขภาพ 7 ราย และสิทธิข้าราชการ 4 รายนั้น
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สปสช.มีความเสียใจเป็นอย่างสุดซึ้งกับผู้ป่วยและญาติ ขณะนี้ได้เร่งรัดให้สปสช.เขต 7 ขอนแก่น ซึ่งดูแลพื้นที่ดังกล่าว ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเร่งด่วนทั้งการเยียวยาด้านจิตใจและการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด รวมถึงการประสานงานเพื่อขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแล้ว ทั้งนี้ในกรณีทุพพลภาพนั้นจะได้รับการช่วยเหลือได้ไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย
“นอกจากเร่งช่วยเหลือผู้ป่วยแล้ว ได้มอบให้สปสช.เขต 7 ขอนแก่น ให้ความร่วมมือช่วยเหลือทางโรงพยาบาลในการตรวจหาสาเหตุ และหาหนทางร่วมกันในการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดังกล่าวขึ้น ในกรณีที่จะต้องการผ่าตัดต่อไป ทั้งนี้การผ่าตัดตาต้อกระจกดังกล่าวนั้น เป็นการผ่าตัดเพื่อการรักษาตามปกติของทางโรงพยาบาลอยู่แล้ว ที่ผ่านมาสปสช.มีโครงการให้ผู้ป่วยเข้าโครงการผ่าตัดตาต้อกระจก เป้าหมายเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยตาต้อกระจกโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุที่สะสมจำนวนมากในประเทศไทย จากการดำเนินการที่ผ่านมาสามารถผ่าตัดผู้ป่วยตาต้อกระจกได้ประมาณปีละ 80,000 ราย ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปี 2549 จนถึงขณะนี้สามารถผ่าตัดตาต้อกระจกให้กับผู้ป่วยประมาณ 4 แสนราย” นพ.ประทีปกล่าว
นพ.ประทีป กล่าวด้วยว่า โรคตาต้อกระจก นั้นเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของภาวการณ์สูญเสียการมองเห็นของคนไทย ซึ่งแก้ไขได้ โดยทั่วไปแล้ว ต้อกระจกจะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ อันมีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อเลนส์แก้วตาดังกล่าวและจาก ภาวะผิดปกติมาแต่กำเนิด ยาบางชนิด หรือโรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน ทั้งนี้ต้อกระจกไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยา การรักษาที่ได้ผลดีที่สุดคือวิธีการผ่าตัดเท่านั้น