สปสช.ปรับแนวทางจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวจากจำนวนผู้มีสิทธิ์ เป็นตามโครงสร้างอายุประชากร ระบุผู้สูงอายุได้งบรายหัวมากกว่าคนหนุ่มสาว 2-3 เท่า เหตุพบ รพ.ใน กทม.หลายแห่งเลือกให้บริการเฉพาะคนหนุ่มสาว เพราะต้นทุนรักษาผู้สูงอายุสูง พร้อมเปลี่ยนระบบจ่ายเงินให้ สปสช.พื้นที่จัดสรรให้ รพ.เองนำร่อง 2 เขตพื้นที่ นครราชสีมา และ กทม. “อัมมาร” ฝันอยากเห็น สปสช.แยกจาก สธ.ชัดเจน เป็นแค่ผู้ซื้อบริการกับผู้ให้บริการ
วันนี้ (28 ก.ค.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้น ในการสัมมนาคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต ประจำปี 2552 หัวข้อ “ทิศทางการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในพื้นที่” โดย ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บรรยายพิเศษเรื่อง “หลักประกันสุขภาพ : สุขภาพและการเงิน” ว่า ในปีงบประมาณ 2553 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะปรับแนวทางการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวให้กับสถานพยาบาล จากเดิมที่จัดสรรให้ตามจำนวนประชากรสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ที่ขึ้นทะเบียนกับสถานพยาบาลแต่ละแห่ง เปลี่ยนเป็นจัดสรรให้ตามโครงสร้างอายุของประชากร โดยสถานพยาบาลที่ให้บริการกับผู้สูงอายุจะได้การจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวให้มากกว่าสถานพยาบาลที่ให้บริการคนวัยหนุ่มสาว 2-3 เท่า
“ที่ผ่านมามีรายงานว่า สถานพยาบาลบางแห่งในเขตกรุงเทพฯ มีการตั้งโต๊ะให้บริการคนวัยหนุ่มสาวอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ก่อประโยชน์ต่อประชาชน การจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวให้กับสถานพยาบาลโดยจ่ายตามโครงสร้างอายุของประชากร ทำให้เกิดการจัดสรรงบประมาณที่แฟร์ สถานพยาบาลที่เลือกให้บริการกับคนหนุ่มสาวก็ต้องได้รับเงินตามต้นทุนที่ต่ำกว่า ไม่ใช่ได้เท่ากับแห่งที่ให้บริการผู้สูงอายุ จะช่วยให้สถานพยาบาลไม่เลือกรับให้บริการเฉพาะคนวัยหนุ่มสาว แต่ผู้สูงอายุไม่มีใครอยากให้บริการเพราะต้นทุนการรักษาสูงกว่า” ศ.ดร.อัมมารกล่าว
ศ.ดร.อัมมาร กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในส่วนของบริการผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก จากเดิมส่วนกลางจะดำเนินการจัดสรรให้กับสถานพยาบาลแต่ละแห่ง จะเปลี่ยนเป็นให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขตพื้นที่ ดำเนินการพิจารณาจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ให้กับสถานพยาบาลในพื้นที่เอง เพราะเชื่อมั่นว่า สปสช.เขตพื้นที่จะมีข้อมูลการให้บริการประชาชนของสถานพยาบาลแต่ละแห่งดีกว่า สปสช.ส่วนกลาง โดยในปีงบประมาณ 2553 จะเริ่มนำร่องในเขตพื้นที่ 9 นครราชสีมา และเขตพื้นที่ 13 กรุงเทพมหานคร
“จุดมุ่งหมายสุดท้ายที่ต้องการให้เกิดขึ้นในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่เป็นไปได้ยากในประเทศไทย คือ การแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ระหว่าง สปสช.กับหน่วยบริการซึ่งในประเทศไทย หมายถึงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เนื่องจากหน่วยบริการ 95% อยู่ในสังกัดสำนักงานปลัด สธ. โดยให้อยู่ในสถานะผู้ซื้อบริการ ขณะที่หน่วยบริการอยู่ในสถานะผู้ให้บริการ จึงอยากให้ สปสช.เขตพื้นที่ เริ่มดำเนินการทำสัญญาแลกเปลี่ยนการบริการกับหน่วยบริการด้วยความสมัครใจอย่างจริงจัง และมีระบบการติดตามการดำเนินการของหน่วยบริการเป็นไปตามสัญญาหรือไม่ จะทำให้ สปสช.เขตพื้นที่มีความคล่องตัวและการบริการประชาชนของหน่วยบริการมีความเหมาะสมกับลักษณะของแต่ละพื้นที่มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยบริการจะดำเนินการให้บริการประชากรตามสิทธิบัตรทองตามคำสั่ง หรือระเบียบจาก สปสช.ส่วนกลางที่จะต้องใช้ดำเนินการเหมือนกันทั่วประเทศ อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่” ศ.ดร.อัมมาร กล่าว
ทั้งนี้ งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่จัดสรรให้แก่สถานพยาบาล แบ่งเป็น 13 ประเภทบริการ ได้แก่ 1.บริการผู้ป่วยนอก 2.บริการผู้ป่วยใน 3.บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชนเงื่อนไขพิเศษ 4.บริการส่งเสริมป้องกัน 5.บริการเฉพาะโรค/บริการ/ราคาแพง/ยา 6.งบค่าเสื่อม (งบลงทุนเพื่อการทดแทนเดิม) 7.บริการฟื้นฟูสมรรถภาพ 8.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการ 9.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ให้บริการ 10.เกณฑ์คุณภาพบริการ 11.สนับสนุนบริการแพทย์แผนไทยและทางเลือก 12.ส่งเสริมบริการปฐมภูมิ และ13.ส่งเสริมบริการตติยภูมิเฉพาะด้าน