มติบอร์ด สพฉ.ตั้งคณะทำงานหาเงินสนับสนุนเพิ่ม ขีดเส้น 2 เดือนรู้ผล เล็งขอเงินกองทุนประกันสังคม สวัสดิรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถโปะ เซ็งงบประมาณจากรัฐไม่เพียงพอ
วันที่ 23 พฤศจิกายน นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ว่า มติบอร์ด สพฉ.ให้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมพิจารณาหาเงินสนับสนุนกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มเติม เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับในปีงบประมาณ 2553 ไม่เพียงพอ ซึ่งระบบการแพทย์ฉุกเฉินจำเป็นต้องมีงบประมาณในการขยายงานและเพิ่มศักยภาพให้ทันสมัยมากขึ้น เปลี่ยนภาพลักษณ์จากเดิมที่เป็นเหมือนมูลนิธิให้ความช่วยเหลือเข้าสู่ระบบที่มีมาตรฐาน โดยจะให้เวลาคณะทำงานการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน จากนั้นนำมาเสนอในที่ประชุมบอร์ดก่อนจะพิจารณาดำเนินการต่อไป
นายวิทยา กล่าวต่อว่า คณะทำงานดังกล่าวมีหน้าที่ในการศึกษาให้การจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จะต้องมีการศึกษาว่าจะเพิ่มรายได้มาจากส่วนใดได้บ้าง เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งอาจจะมีการคำนวณเงินสนับสนุนบริการการแพทย์ฉุกเฉินต่อหัวประชากร ลักษณะเดียวกับที่รัฐบาลให้งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
“กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ มีข้อมูลที่น่าใจ เนื่องจากมีค่าบริหารจัดการที่สูงมาก 40% แต่มีการชดเชยให้กับผู้ประสบภัยจากรถเพียง 50% ขณะที่อุบัติเหตุจากรถยนต์ถือเป็นอันดับต้นๆ ที่จำเป็นต้องใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ไม่แยกแยะไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ลูกจ้าง ที่สำคัญส่วนตัวผมเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างมากเพราะแพทย์ฉุกเฉินส่วนใหญ่ที่ช่วยเหลือก็เป็นผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งตรงตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว”นายวิทยา กล่าว
นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ระบบการจัดการและกลไกการเงินที่ผ่านมา ยังไม่สามารถส่งเสริมให้มีบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนไม่เพียงพอ โดยในปีงบประมาณ 2553 ได้รับจัดสรรเพียง 444.97 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าชดเชยการบริการการแพทย์ฉุกเฉินเพียง 7 แสนครั้ง และเป็นค่าใช้จ่ายประจำของ สพฉ.เท่านั้น ขณะที่จากการคำนวณจากความจำเป็นที่ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินต้องได้รับบริการก่อนถึงโรงพยาบาลโดยผ่านระบบการแพทย์ฉุกเฉินในปี 2553 มีประมาณ 1.2 ล้านครั้ง ซึ่งต้องใช้งบประมาณสนับสนุนการบริหารดังกล่าวประมาณ 797 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ สพฉ.ยังไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณสำหรับการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายของศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ การพัฒนาบุคลากร เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาอย่างมาก