xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ยกระดับแพทย์ฉุกเฉินได้มาตรฐานเดียวกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิทยา แก้วภราดัย
“วิทยา” มอบนโยบายการแพทย์ฉุกเฉินปี 2553 เน้นการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทุกจังหวัด และดูแลบุคลากรทุกระดับ สร้างแรงจูงใจในการทำงาน เพิ่มสวัสดิการ พร้อมเร่งผลิตแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินและพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลฉุกเฉินเพิ่ม

วันที่ 19 พฤศจิกายน ที่โรงแรมริชมอนด์ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมชี้แจงการดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉิน ปีงบประมาณ 2553 โดยมี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไป ผู้รับผิดชอบงานการแพทย์ฉุกเฉินของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผู้รับผิดชอบศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ผู้ปฏิบัติงานการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาล และผู้นิเทศงานการแพทย์ฉุกเฉินของเขตตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงองค์กรเอกชน สมาคม และมูลนิธิที่เกี่ยวข้องผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 363 คน

โดย นายวิทยา กล่าวในการบรรยายพิเศษ เรื่อง “การดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉินไทยในภาวะวิกฤต” ว่า การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินต้องได้รับการพัฒนาให้มีมาตรฐานและคุณภาพ และให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เตรียมพร้อมทุกสถานการณ์ ทั้งสถานการณ์ปกติ และภัยพิบัติ รวมทั้งต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานและภาคีต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) เป็นหน่วยงานด้านบริหาร โรงพยาบาลเป็นหน่วยให้บริการ นอกจากนี้ รวมถึงมูลนิธิต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

นายวิทยา กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการปฏิบัตินั้น จะต้องมีแผนเตรียมความพร้อม และบริหารจัดการการแพทย์ฉุกเฉินในสภาวะภัยพิบัติ ทั้งในระดับชาติ และระดับจังหวัด โดยประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้ สสจ.และโรงพยาบาล ประสานการซ้อมแผนเตรียมรับสถานการณ์สาธารณภัย หน่วยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกปี

นายวิทยา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ให้มีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการระดับจังหวัดทุกจังหวัด และใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อสนับสนุนระบบการบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ ที่มีความพร้อมและปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสามารถให้บริการได้ทั่วถึงทุกหมู่บ้าน ที่สำคัญคือ ต้องส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้เพียงพอ

“ได้ให้ สพฉ.เป็นผู้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัด การผลิตแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินและพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลฉุกเฉินอย่างน้อย 2 คน ในโรงพยาบาลศูนย์ และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการผลิตนักวิชาชีพปฏิบัติการฉุกเฉินระดับต่างๆ ในระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีคุณภาพและจำนวนเพียงพอตามมาตรฐานมีการสร้างแรงจูงใจในการกระจายบุคลากร และการทำงานของบุคลากร เพื่อให้ปฏิบัติการฉุกเฉิน ทั้งด้านการเงินและสวัสดิการอื่นๆ”นายวิทยา กล่าว

นพ.สถาพร วงษ์เจริญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การนำนโยบายการแพทย์ฉุกเฉินสู่การปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ตั้งเป้าภายในปี พ.ศ.2555 เตรียมสถานบริการทั่วประเทศให้พร้อมในการรับภาวะภัยพิบัติ โดยเน้นที่บุคลากรให้มีแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินอย่างน้อย 2 คนต่อ ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ส่วนโรงพยาบาลระดับอื่นให้มีแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินอย่าง 1 คน พยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลฉุกเฉินอย่างน้อย 1 คน ต่อโรงพยาบาลและให้มีเวชกรฉุกเฉินระดับกลาง ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง ส่วนโรงพยาบาลชุมชนให้มีเวชกรฉุกเฉินระดับกลางตามความพร้อมของโรงพยาบาลนั้นๆ รวมทั้งให้มีเวชกรฉุกเฉินระดับต้นในทุกชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน ส่วนหน่วยกู้ชีพให้มีพนักงานรับแจ้งและบันทึกเหตุการณ์ฉุกเฉิน ที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กำหนด ปฏิบัติงานในทุกศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการมีพนักงานขับยานพาหนะในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ผ่านการอบรม

นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉิน ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ปี 2553 ซึ่งการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในช่วงนี้ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากสำนักงานระบบการแพทย์ฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข มาเป็นสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ซึ่งมียุทธศาสตร์การพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินที่สำคัญ 5 ประการ คือ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งระบบข้อมูลสารสนเทศทางการแพทย์ฉุกเฉิน 2.การพัฒนากลไกการบริหารจัดการ รวมทั้งระบบการเงินการคลัง 3.การพัฒนาบุคลากร 4.การสร้างและจัดการความรู้ 5.การพัฒนาเครือข่ายและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคี

“การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่ความสำเร็จ เพื่อการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศ ที่มีคุณภาพ และมาตรฐานจำเป็นต้องใช้การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน การทำความเข้าใจกับผู้บริหารระดับจังหวัด ผู้รับผิดชอบงานการแพทย์ฉุกเฉินของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผู้รับผิดชอบศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ และผู้นิเทศงานของเขตตรวจราชการของกระทรวงสาธารณสุขในการนำแนวคิด หลักการ ทิศทาง ไปดำเนินงานระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับการบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้มาตรฐาน อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม”นพ.ชาตรี กล่าว

นพ.ชาตรี กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน ยังประสบปัญหาการได้รับงบประมาณที่ลดลงและไม่เพียงพอ ทำให้ประชาชนที่บาดเจ็บและป่วยฉุกเฉิน ไม่ได้สามารถเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างครอบคลุม ซึ่งจะต้องแก้ไขปัญหาต่อไป

“ในวันนี้ยังมีการมอบสินไหมทดแทนตามโครงการประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัททิพยประกันภัย จำกัดให้แก่ผู้แทนของผู้ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่เสียชีวิต จำนวน 4 ราย ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างขวัญ กำลังใจสำหรับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อประชาชนที่ เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร.1669 อย่างเต็มประสิทธิภาพ” นพ.ชาตรี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น