xs
xsm
sm
md
lg

สมศ.แนะ ศธ.จำกัดจำนวนเด็กอาชีวะของรัฐ ดึงเอกชนลงทุนการศึกษาสายอาชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สมหวัง” แนะ ศธ.จำกัดผู้เรียนอาชีวะสังกัดรัฐ  กระจายเด็กสู่เอกชนให้มากขึ้น ระบุไม่สอดรับนโยบายส่งเสริมเอกชนเข้ามาจัดการศึกษา เด็กเรียนแห่เรียนสถานศึกษารัฐ  หวั่นเอกชนไม่กล้าลงทุน ชี้ช่วยลดภาระรับผิดชอบผลิตบุคลากร เงินลงทุนของรัฐลงเยอะ  เสนอรัฐเร่งปรับโครงสร้างกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ ค่าตอบแทน พัฒนาบุคลากรอย่างจริงจัง เรียกร้องสถานศึกษาอาชีวะได้ประเมินดีมาก เปลี่ยนสถานะเป็นนิติบุคคลเพื่อความคล่องตัว
 
ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์  รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายมาโดยตลอดว่าจะส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษามากขึ้น  แต่สถานการณ์การจัดสถานศึกษาอาชีวศึกษาของไทยในปัจจุบันพบว่า ไทยมีสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งสิ้น 805 แห่ง จำแนกเป็น ของรัฐ 415 แห่ง และเอกชน 390 แห่ง ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ไม่ต่างกันมากนัก แต่เมื่อพิจารณาการกระจายของจำนวนนักศึกษาในระดับอาชีวศึกษาทั้งหมด  778,107 คน พบว่า อยู่ในสถานศึกษาของรัฐถึง 554,809 คน  และอยู่ในสถานศึกษาของเอกชนเพียง 223,298 คน  โดยรัฐยังคงรับผิดชอบถึง 70% ส่วนที่เหลือ 30% เป็นของเอกชน  ซึ่งชี้ให้เห็นว่านโยบาย และการปฏิบัติ ยังไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นหากต้องการให้บรรลุเป้าหมาย  รัฐบาลต้องมีความกล้าหาญ เข้มแข็ง และกำกับดูแลให้เป็นไปตามนโยบายให้ได้ เพื่อให้สถานศึกษาของรัฐ รับผิดชอบจัดการอาชีวศึกษาอยู่ที่ 40% และเอกชน 60%
 
“เพื่อเป็นการดึงดูดให้เอกชนมีความมั่นใจมาลงทุนจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา รัฐควรมีนโยบาย และมาตรการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน  ซึ่งหากจำนวนผู้เรียนในสถานศึกษาของรัฐยังสูงถึง 70%  เอกชนคงไม่กล้ามาลงทุน  ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภายใต้การดูแลของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศธ.จะต้องมุ่งมั่นจำกัดจำนวนผู้เรียนในสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐ เพื่อกระจายผู้เรียนไปยังสถานศึกษาของเอกชนให้มากขึ้น โดยรัฐอาจทำเป็นต้นแบบเฉพาะในส่วนที่เอกชนไม่จัดหรือจัดไม่ได้เท่านั้น เพราะขืนรัฐยังคงรับผิดชอบผลิตบุคลากรด้านนี้ต่อไป จะเป็นเรื่องยากมากที่จะปรับเทคโนโลยีให้ทันต่อโลก

เนื่องจากต้องใช้เงินในการพัฒนาและลงทุนค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน ก็ควรเสริมความมั่นใจให้ผู้เรียนว่าหากเรียนสายอาชีพแล้วจะมีงานทำแน่นอน  ทั้งนี้จากการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสอง พบว่า ผู้จบการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) เข้าสู่ตลาดแรงงานเพียง 39% ส่วนที่เหลือ 61% จะไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของการเปลี่ยนสาขาเรียน และทำให้รัฐสูญเสียกำลังคนทางด้านอาชีวศึกษาไป”
 รักษาการ ผอ.สมศ.กล่าว
 
ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง  กล่าวด้วยว่า  สมศ.ขอเสนอให้รัฐบาลเร่งปรับโครงสร้างกรอบคุณวุฒิทางวิชาชีพและค่าตอบแทนสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาด้านอาชีวศึกษา หรือ TVQ ,  กำหนดนโยบายส่งเสริมความร่วมมือของสถานศึกษากับภาคการผลิต เพื่อให้เกิดการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ไม่ใช่ในรูปแบบทวิภาคีแต่เป็นหุ้นส่วนที่แท้จริง , ด้านบุคลากร ควรกำหนดกรอบให้อาจารย์ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้านการสอนเป็นสำคัญ แยกงานธุรการออก และพัฒนาบุคลากรอย่างจริงจัง เนื่องจากปัจจุบันอาจารย์ส่วนใหญ่กว่า 73% จะมีวุฒิระดับปริญญาตรี พร้อมทั้งส่งเสริมให้สถานศึกษาของรัฐที่ได้รับผลการประเมินในระดับดีมากเปลี่ยนฐานะเป็นนิติบุคคลเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่คล่องตัวมากขึ้น และควรกำหนดมาตรการหรือสร้างความเชื่อมโยงให้มีการนำผลการประเมินในทุกรูปแบบไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา
กำลังโหลดความคิดเห็น