xs
xsm
sm
md
lg

“สมหวัง” แนะ 19 สถาบันการอาชีวะ อยากเปิด ป.ตรี ย้อนดูผลประเมิน สมศ.เฮโลเปิดหวั่นเกิดปัญหาใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมศ.ระบุ ผลประเมินสถาบันอาชีวศึกษา ประเภทสารพัดช่าง พบ “วช.สุโขทัย-วช.สมุทรปราการ-วช.ปราจีนบุรี-วช.ธนบุรี” ไม่ผ่านประเมิน “สมหวัง” เผย สถาบันอาชีวะส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์ประเมินระดับดี แนะอาชีวะอยากเปิด ป.ตรี สายปฏิบัติการ ต้องรีบพัฒนาบุคลากร พิจารณาความพร้อมของอาจารย์แต่ละสาขาวิชา ยึดผลประเมิน สมศ.หากเฮโลเปิดหวั่นเกิดปัญหาใหม่ เสนอ 19 กลุ่มสถาบันการอาชีวศึกษา ควรแซมอาชีวะระดับดีมาก ยกสถานะเป็นนิติบุคคล ภูมิภาคละ 1-2 แห่ง

วันนี้ (4 พ.ย.) ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการ สมศ.เปิดเผยผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสองด้านการอาชีวศึกษา ประเภทสารพัดช่าง ว่า จากการประเมินวิทยาลัยสารพัดช่าง จำนวน 50 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาของ สมศ.42 แห่ง คิดเป็น 84% ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน 4 แห่ง คิดเป็น 8% ได้แก่ วิทยาลัยสารพัดช่างสุโขทัย, วิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ, วิทยาลัยสารพัดช่างปราจีนบุรี และ วิทยาลัยสารพัดช่างธนบุรี อีกทั้งยังรอพินิจอีก 4 แห่ง คิดเป็น 8% ได้แก่ วิทยาลัยสารพัดช่างพัทลุง, วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร, วิทยาลัยสารพัดช่างตราด และวิทยาลัยสารพัดช่างชลบุรี โดยในส่วนที่รอพินิจ จะต้องดำเนินการปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน - 1 ปี

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามมาตรฐาน ปรากฏว่า มาตรฐานด้านประกันคุณภาพภายใน มีสถานศึกษาที่อยู่ในระดับดีมาก 9 แห่ง คิดเป็น 18% ดี 32 แห่ง คิดเป็น 64% พอใช้ 5 แห่ง คิดเป็น 10% และควรปรับปรุง 1 แห่ง คิดเป็น 2% ต้องควรปรับปรุง 3 แห่ง คิดเป็น 6% มาตรฐานด้านการฝึกอบรม มีสถานศึกษาที่อยู่ในระดับดีมาก 16 แห่ง คิดเป็น 32% ดี 32 แห่ง คิดเป็น 64% พอใช้ 2 แห่ง คิดเป็น 4% มาตรฐานด้านจัดการศึกษา มีสถานศึกษาที่อยู่ในระดับดีมาก 5 แห่ง คิดเป็น 10% ดี 36 แห่ง คิดเป็น 72% พอใช้ 9 แห่ง คิดเป็น 18% มาตรฐานด้านการเทียบโอนผลการเรียนรู้ มีสถานศึกษาที่อยู่ในระดับดีมาก 8 แห่ง คิดเป็น 29.63% ดี 16 แห่ง คิดเป็น 59.26% พอใช้ 3 แห่ง คิดเป็น 11.11% มาตรฐานด้านการให้บริการวิชาการและวิชาชีพต่อชุมชนและสังคม มีสถานศึกษาที่อยู่ในระดับดีมาก 26 แห่ง คิดเป็น 52% ดี 23 แห่ง คิดเป็น 46% พอใช้ 1 แห่ง คิดเป็น 2% และมาตรฐานด้านการบริหารและการจัดการ มีสถานศึกษาที่อยู่ในระดับดีมาก 16 แห่ง คิดเป็น 32% ดี 31 แห่ง คิดเป็น 62% พอใช้ 1 แห่ง คิดเป็น 2%

ศ.ดร.สมหวัง กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงศึกษาธิการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา จำนวน 19 แห่งนั้น จากการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสองด้านการอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน พบว่า สถานศึกษาที่ได้รับการประเมินภายนอกแล้ว 549 แห่ง เมื่อตัดวิทยาลัยสารพัดช่าง 50 แห่ง ที่ใช้เกณฑ์มาตรฐานต่างจากวิทยาลัยอื่นออก พบว่าส่วนใหญ่ 314 แห่ง มีผลการประเมินอยู่ในระดับดี และมีเพียง 101 แห่ง ที่มีผลการประเมินในระดับดีมาก มีสถานศึกษารอพินิจ 25 แห่ง จำแนกเป็นของรัฐ 14 แห่ง เอกชน 11 แห่ง และสถานศึกษาที่สมศ.ไม่รับรองมาตรฐาน 59 แห่ง โดยในจำนวนนี้ เป็นของรัฐ 27 แห่ง และเอกชน 32 แห่ง ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงจำนวนอาจารย์ผู้สอน พบว่า ในปัจจุบันวิทยาลัยในสังกัด สอศ.มีสัดส่วนอาจารย์ที่เป็นลูกจ้างกว่า 50% และเป็นอาจารย์ที่มีวุฒิในระดับปริญญาตรีถึง 73% หรือ 2 ใน 3 ของอาจารย์ทั้งหมด
 
ดังนั้น ในการเปิดสอนระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือปฏิบัติการของอาชีวศึกษา คงจะต้องรีบดำเนินการพัฒนาบุคลากร ซึ่งอย่างน้อยผู้ที่จะสอนในระดับปริญญาตรีได้ จะต้องจบปริญญาโทขึ้นไป และควรที่จะมีประสบการณ์ในสถานประกอบการมากพอ ดังนั้น ถึงแม้จะมีกฎกระทรวงแล้ว แต่การที่จะอนุมัติให้กลุ่มสถาบันเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี ควรพิจารณาความพร้อมของอาจารย์และประเภทสาขาวิชา โดยยึดผลการประเมินของ สมศ.ไม่ใช่มุ่งเปิดสอนในระดับปริญญาตรี โดยถือเป็นการขยายโอกาสให้เด็กได้เรียนในระดับปริญญาตรีสายช่าง เพราะจะกลายเป็นปัญหาใหม่ในวงการอาชีวศึกษา

“ในการกำหนดให้กลุ่มสถาบันใดเปิดสอนระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาไหน ควรดูผลการประเมินของ สมศ.ก่อน ซึ่งคิดว่าทั้ง 19 กลุ่มสถาบันการอาชีวศึกษา หากกลุ่มใดมีสถานศึกษาที่ได้รับการประเมินในระดับดีมาก ก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมมาก แต่หากกลุ่มใดไม่ได้รับการรับรองมาก ต้นสังกัดจะต้องเร่งพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพให้ได้มาตรฐาน ในขณะเดียวกันทั้ง 101 แห่ง ที่ได้รับการประเมินในระดับดีมาก ศธ.น่าจะนำร่องอย่างจริงจัง โดยให้สถานศึกษาที่อยู่ในกลุ่มนี้ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ภูมิภาคละ 1-2 แห่ง สามารถบริหารจัดการและรับงบประมาณโดยตรงจากสำนักงบประมาณ เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาเรื่องอาจารย์ลูกจ้าง โดยสามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้เอง จากนั้นค่อยขยายผลให้ทั้งหมดที่ได้รับการประเมินในระดับดีเป็นนิติบุคคลซึ่ง สมศ.พูดถึงนิติบุคคลมานานแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่วิทยาลัยใดเป็นนิติบุคคลเลย” รักษาการ ผอ.สมศ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น