xs
xsm
sm
md
lg

“สมหวัง” ชี้ ยกฐานะ วชช.เป็นนิติบุคคลน่าห่วง หวั่นทำงานซ้ำซ้อน ม.ราชภัฏ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สมหวัง” หวั่นยกฐานะวิทยาลัยชุมชน เป็นนิติบุคคล ผิดวัตถุประสงค์ เกรงสร้างความเข้มแข็งให้ส่วนกลาง ทั้งที่ควรเน้นชุมชนเป็นหลัก ระบุ ไม่ควรมุ่งผลิตบัณฑิต เหมือนมหา’ลัยทั่วไป ชี้ วิทยาลัยชุมชนไม่น่าเกิด ถ้า ม.ราชภัฏ ไม่ลืมความเป็นท้องถิ่น แนะเร่งประสานความร่วมมือ ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกัน เพื่อการศึกษาตลอดชีวิต

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวถึงการพัฒนาคุณภาพวิทยาลัยชุมชน ว่า วิทยาลัยชุมชนควรเป็นของชุมชนไม่ใช่เป็นของหน่วยราชการ ดังนั้น การที่จะออกกฎหมาย พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชน เพื่อให้วิทยาลัยชุมชนมีสถานะเป็นนิติบุคคลนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลพอสมควร เพราะจะยิ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับส่วนกลางมากขึ้น เนื่องจากอำนาจในการจัดตั้งงบประมาณมาจากส่วนกลาง ทั้งที่วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนต้องการให้ชุมชนมาช่วยกันสร้างเครื่องมือ และลงขันทำงานร่วมกัน เพื่อตอบสนองความต้องการในชุมชนเป็นหลัก ตามปรัชญาของวิทยาลัยชุมชนที่ต้องการให้ยึดชุมชนเป็นสำคัญ ไม่ใช่ไปยึดองค์ความรู้ มุ่งผลิตบัณฑิต เหมือนสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ดังนั้น การอบรมระยะสั้น อบรมวิชาชีพในแขนงต่างๆ จึงเป็นหัวใจของวิทยาลัยชุมชน แต่ก็ต้องยอมรับบทบาทในการจัดอบรมระยะสั้นนั้นก็อาจไปเชื่อมโยงซ้ำซ้อนกับสถานศึกษาอื่นๆ เช่น วิทยาลัยสารพัดช่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้

“หากมหาวิทยาลัยราชภัฏ ไม่ลืมความเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น วิทยาลัยชุมชนก็อาจไม่มีความจำเป็น แต่เมื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏไม่สามารถทำเรื่องท้องถิ่นได้ และยังมีช่องว่างอยู่ จึงเป็นเหตุผลให้ต้องก่อตั้งวิทยาชุมชนขึ้น ดังนั้นเมื่อเวลานี้มีทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏ และวิทยาลัยชุมชนแล้ว ก็คิดว่าทั้งสองฝ่าย ไม่ควรมาทำงานที่ซ้ำซ้อน ลักษณะต่างคนต่างทำ เพราะจะยิ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรและไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งสถาบันขึ้น แต่จำเป็นต้องประสานให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น” ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง กล่าว

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลต้องการยกประเด็นการศึกษาตลอดชีวิตมาผลักดันให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องสร้างการเชื่อมโยงระหว่างสถานศึกษาประเภทต่างๆ ไม่ควรปล่อยให้ต่างคนต่างทำงานกันไป แต่ต้องมีเงื่อนไขที่ประสานเชื่อมโยงกันให้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น