xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด สปสช.ค้านมติ ครม.โอนคู่สมรส-บุตรเข้าประกันสังคม ชี้เพิ่มภาระงบ-เสี่ยงทำบัตรทองล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มติบอร์ด สปสช.ค้านโอนคู่สมรส-บุตร 5.8 ล้านคนไปอยู่ประกันสังคม เพิ่มภาระงบประมาณ เสี่ยงทำระบบบัตรทองล่ม แถมไม่เกิดประโยชน์ขณะที่ รวม 3 กองทุนเป็นไปได้ยาก เหตุคนไม่ยอมกลัวถูกลดสิทธิ
นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข
วันนี้ (14 ก.ย.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด ว่า ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยกับนโยบายขยายความคุ้มครองสิทธิประกันสังคมครอบคลุมคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตน 5.8 ล้านคน จากสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรทองให้โอนสิทธิไปอยู่กับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดังนั้น จึงเสนอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าวใหม่ เนื่องจากการโอนสิทธิดังกล่าว ไม่ได้แก้ไขปัญหาระบบสาธารณสุข เช่น ความไม่เท่าเทียมของผู้ประกันตนด้านต่างๆ ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เป็นต้น แต่กลับเป็นการเพิ่มภาระด้านงบประมาณให้รัฐบาลอีกด้วย

“ที่สำคัญ หากโอนคู่สมรส และบุตรผู้ประกันตนไปอยู่กับ สปส.จะส่งผลกระทบกับงบประมาณในการบริการกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ สปสช.อย่างมาก เพราะเป็นการโอนคนวัยหนุ่มสาวที่ไม่ค่อยใช้บริการรักษาสุขภาพ ออกจากระบบกองทุนเหลือไว้แต่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีการเจ็บป่วยบ่อย ทำให้กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลกลุ่มผู้สูงอายุจำนวนมาก”

นายวิทยา กล่าวต่อว่า จะมีการนำข้อสรุปดังกล่าวเสนอให้ ครม.ทบทวนมติ ครม.ในเร็วๆ นี้ ซึ่งหากรัฐบาลยังยืนยันจะเดินหน้านโยบายนี้ต่อนั้น เชื่อว่า ไม่น่าเป็นปัญหาเพราะกระบวนการดำเนินการเรื่องนี้ยังมีอีกหลายขั้นตอนกว่าจะผลักดันออกเป็นกฎหมายมาบังคับใช้ได้ และที่สำคัญจะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นของประชากร 5.8 ล้านคน ที่จะต้องโอนย้ายสิทธิด้วย เพราะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

เมื่อถามว่า ครม.ได้มีมติจะให้บูรณาการระบบสาธารณสุขไทยโดยให้ระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุนคือ สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคมและบัตรทอง ให้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลเท่าเทียมกันนั้น นายวิทยา กล่าวว่า กระบวนการที่จะก้าวสู่การรวม 3 กองทุน ให้เป็นกองทุนเดียวกันนั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะขณะนี้ทุกคนมองว่าแต่ละกองทุนยังมีสิทธิที่เหลื่อมล้ำกันอยู่ โดยเฉพาะสวัสดิการข้าราชการที่ถือว่าทำงานให้ราชการต้องได้สิทธิประโยชน์เหนือกว่าผู้ประกันตนและบัตรทอง ขณะที่ผู้ประกันตนก็ถือว่าเป็นคนจ่ายเงินเข้าระบบก็ต้องได้รับสิทธิบริการที่ดีที่สุด ขณะที่สิทธิบัตรทองเป็นการให้บริการฟรีจากภาครัฐ
 
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่นักวิชาการและตัวแทนผู้ประกันตน ไม่เห็นด้วย ในการโอนสิทธิรักษาสุขภาพของคู่สมรสและบุตร มี 3-4 เรื่อง คือ 1.ผลกระทบการดูแลสุขภาพของประชาชน ซึ่งไม่แน่ใจว่าโอนสิทธิแล้วจะได้รับบริการที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร 2.หลักการของ สปส.เป็นการจ่ายสมทบ 3 ฝ่าย หากโอนคน 5.8 ล้านคนไปอยู่ สปส.และได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับผู้ประกันตนที่จ่ายเงิน สปส.จะต้องตอบคำถามผู้ประกันตนได้ว่า สิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ ของผู้ประกันตนที่มีอยู่เดิมยังไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่ หรือมีสิทธิแต่ไม่ได้รับบริการ 3.ระบบ สปส.ออกแบบให้รองรับกับการใช้บริการในเขตเมือง ไม่คลอบคลุมในพื้นที่ชนบท ซึ่งอาจกระทบต่อคุณภาพการบริการให้กับประชาชนก็ได้

“ทั้งนี้ รัฐบาล และ สปส.ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มนโยบายนี้ ควรจะเป็นผู้พิจารณาว่าจำเป็นต้องจัดประชาพิจารณารับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะเป็นผู้ผลักดันนโยบายนี้ แต่หากพิจารณาแล้วไม่เกิดประโยชน์ด้วยระบบการเมืองที่มีการพัฒนาไปมาก ก็ควรยึดการเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนได้ประโยชน์”นพ.ประทีป กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น