xs
xsm
sm
md
lg

ชงทบทวนโอนสิทธิ์คู่สมรสผู้ประกันตน แยกค่ารักษาเข้าบัตรทอง-เงินชดเชยให้ สปส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
นักวิชาการเสนอ 2 ทางเลือก ยกเลิกนโยบายขยายสิทธิ์คุ้มครองคู่สมรส-บุตรผู้ประกันตน หรือ ให้ สปสช.ดูแลผู้ป่วยเหมือนเดิม แต่ สปส.ซื้อบริการสุขภาพ ขยายสิทธิ์เพิ่มครอบคลุมลูก-เมียผู้ประกันทุพพลภาพ-ตาย เตรียมเสนอบอร์ดสปสช.14 ก.ย.นี้ ก่อนเสนอ ครม.ต่อไป ขณะที่ตัวแทนแรงงานเห็นด้วยเพิ่มขยายสิทธิ์ผู้ประกันตนแต่ต้องไม่กระทบสิทธิ์เดิม ไม่เก็บเงินเพิ่ม ติงดูแลรักษาพยาบาลผู้ประกันตนให้ดีและเข้าถึงการรักษาก่อน ลดเงื่อนไขข้อจำกัดการรักษา

วันที่ 8 กันยายน ในการประชุมระดมความคิดเห็นทางเลือกนโยบายในการสร้างหลักประกันสุขภาพครอบครัวผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะแนวทางความเหมาะสมนโยบายในภาพรวม 2 แนวทาง คือ 1.เสนอให้มีการทบทวนนโยบายของรัฐบาลในการโอนคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปอยู่กับสำนักงานประกันสังคม (สปส.)

2.ใช้รูปแบบการดำเนินการแยกการบริการจัดการด้านการรักษาพยาบาลและสวัสดิการผู้ประกันตน ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวจะเสนอต่อคณะกรรมการบริหาร สปสช.ที่จะประชุมในวันที่ 14 ก.ย.นี้ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

“การเร่งรีบกับมาตรการดังกล่าวของรัฐบาล ไม่แก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในระบบประกันสุขภาพของประเทศ และไม่มีความชัดเจนว่าจะสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับระบบในภาพรวมของประเทศอย่างไร อีกทั้งการขยายสิทธิดังกล่าวไม่ทำให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น มีแต่การเพิ่มสิทธิประโยชน์กับคู่สมรสและบุตร เหมือนกับเกาไม่ถูกที่คัน แก้ปัญหาไม่ถูกจุด” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว

นพ.พงษ์พิสุทธ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หากตัดสินใจเดินหน้านโยบายนี้ต่อไป การดำเนินการแยกการบริการจัดการด้านการรักษาพยาบาลและสวัสดิการผู้ประกันตนจะเป็นรูปแบบให้ผู้ที่รับผิดชอบด้านการจัดสรรงบประมาณคือสำนักงบประมาณกระทรวงการคลัง โดยแยกกองทุนด้านการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนออกมาจากงบประมาณสวัสดิการส่วนอื่น ส่วนการบริหารจัดการด้านการรักษาพยาบาลนั้น ให้ สปส.มาซื้อบริการรักษาพยาบาลจาก สปสช.

“สปสช.ก็ทำหน้าที่ซื้อบริการจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อีกทอดหนึ่ง โดยบริการสวัสดิการอื่นๆ ของผู้ประกันตนที่ไม่ใช่รักษาพยาบาล อาทิ เงินชดเชยในกรณีทุพพลภาพและเสียชีวิต ฯลฯ ยังคงเป็นหน้าที่ที่ สปส.บริหารจัดการต่อไปเหมือนเดิม แต่หากในอนาคต สปสช.สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ สปส.อาจโอนผู้ประกันตนทั้งหมด 9 ล้านคน มาให้ สปสช.ดูแลเฉพาะด้านการรักษาพยาบาลก็เป็นได้” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว

รศ.นพ.ดร.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โดยหลักการเห็นด้วยกับการที่คู่สมรสและบุตรจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากที่สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือเงินชดเชยจากการทุพพลภาพและเสียชีวิต แต่สิทธิเดิมที่เคยได้รับจาก สปสช.ก็ยังคงอยู่

“ภาพรวมของทั้งประเทศเรื่องการจัดการด้านสุขภาพจะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่เมื่อคนข้ามสิทธิการรักษาพยาบาลก็ต้องสะดุดตามไปด้วย จึงเป็นเรื่องดีที่สปสช.จะเข้ามาดูแลเฉพาะในส่วนของการรักษาพยาบาลของสวัสดิการอื่นๆ เพราะที่ผ่านมาการก่อตั้งระบบประกันสังคมไม่มีการเน้นระบบสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ แต่เน้นเฉพาะผู้ประกันตน อีกทั้งไม่มีการจัดตั้งงบประมาณด้านการส่งเสริมและป้องกันโรค ซึ่งขณะนี้หลักคิดแบบประกันสังคมจึงเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งสปสช.สามารถทำได้โดยใช้งบประมาณน้อยกว่าสปส.” รศ.นพ.ดร.จิรุตม์ กล่าว

รศ.นพ.ดร.จิรุตม์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเห็นด้วยว่าการขยายสิทธิเป็นเรื่องที่ดี แต่ในทางปฏิบัติจำเป็นต้องดำเนินการให้รอบครอบกว่านี้และต้องมีการจัดการที่ดีพอ เพราะมาตรการดังกล่าวถือว่าเป็นการจู่โจม โดยที่นักวิชาการไม่มีรูปแบบแนวคิดทางวิชาการไว้รองรับในทางปฏิบัติมาก่อน ไม่เหมือนกับโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วงแรกที่เกิดขึ้นจากฝ่ายวิชาการและมีนักการเมืองนำมาเป็นนโยบายทางการเมือง แต่ครั้งนี้เป็นการนำนโยบายทางการเมืองนำ โดยที่ฝ่ายวิชาการยังไม่ได้ตั้งตัว

“ถ้าไม่เอานโยบายนี้ ก็คือ ไม่เอา แต่ถ้าเอาก็ต้องมาเลือกทางใดทางหนึ่งที่ทำได้ในระยะสั้นและเกิดผลประโยชน์ระยะยาว ซึ่งคิดว่าการรักษาพยาบาลในกรอบมาตรฐานเดียวกันเป็นคำตอบ โดยมองสิทธิที่ประชาชนได้ก่อนเรื่องการจัดสรรงบประมาณว่า สปสช.ต้องให้ สปส.เท่าใด และ สปสช.จะได้รับการเพิ่มงบประมาณรายหัวจากสำนักงบประมาณเท่าใด ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปลายทาง” รศ.นพ.ดร.จิรุตม์ กล่าว

รศ.นพ.ดร.จิรุตม์ กล่าวว่า นอกจากนี้ เรื่องดังกล่าวยังจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่เพียงแต่พ.ร.บ.ประกันสังคมเท่านั้น แต่ต้องแก้ไขกับกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีหากฝ่ายการเมืองเป็นฝ่ายริเริ่ม เพราะปัญหาเรื่องการแก้ไขกฎหมายที่ล่าช้าก็จะถูกเร่งรัดจากฝ่ายการเมืองให้ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มติ ครม.ไม่ช่วยให้ระบบบริการสาธารณสุขให้มีบริการดีขึ้น ไม่ให้ถูกการปรับปรุง แต่เพียงเปลี่ยนคนจ่ายเงินเท่านั้นเอง ไม่ได้มีความหมายในเชิงปฏิรูประบบหรือยกระดับการบริหารด้านสุขภาพหรือปฏิรูประบบความเป็นธรรม ละประสิทธิภาพการใช้เงินในระบบสุขภาพใดๆ เลย แต่อาจเลวร้ายอีกอย่างเช่น ทำให้สปสช.รวน และสปส.ก็รวนยิ่งขึ้น คนป่วยไตใช้เวลา 5-6 เดือนกว่าได้ใช้สิทธิ มติ ครม.แบบนี้ไม่มีประโยชน์ในการช่วยแก้ปัญหาที่ดำรงอยู่ จึงเสนอให้ยกเลิก หรือขอให้รัฐบาลทบทวนมติ ครม.นี้ และควรมาคิดกันว่าจะทำให้เป้าหมายนั้นเป็นจริงได้อย่างไร

ศ.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การใช้จ่ายค่าบริการรักษาสุขภาพของผู้ป่วยทั้ง 2 ระบบ มีความแตกต่างกันหลักๆ 2 เรื่อง คือ 1.ที่มาของงบบริหารและงบรักษาสุขภาพ สปสช. จะต้องของบประมาณต้องกราบไหว้จากสำนักงบประมาณทุกปี แต่ สปส.ได้งบประมาณจากการจ่ายร่วม 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล 2.ความไม่เท่าเทียมกันในการรับบริการ โดย สปส.ทำสัญญากับโรงพยาบาลเอกชนเป็นหลัก จึงทำให้มีต้นทุนค่ารักษาพยาบาลสูงกกว่า โดยจ่ายเงินให้โรงพยาบาลปีละ 1,800 บาทต่อคน ขณะที่ สปสช.ทำสัญญากับโรงพยาบาลรัฐเป็นหลัก ทำให้มีค่ารักษาสุขภาพถูกกว่า

นางวิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ในฐานะผู้ใช้แรงงานที่ผ่านมาผู้ประกันตนพยายามเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนมาโดยตลอด และเห็นด้วยกับนโยบายขยายประกันสังคมให้ครอบคลุมคู่สมรสและบุตร แต่ยังมีความกังวล คือ 1.หากโอนคู่สมรสและบุตรมาแล้วจะต้องไม่กระทบสิทธิผู้ประกันตนเดิม และ 2.จะต้องไม่เก็บเงินเพิ่มจากผู้ประกันตนอย่างซ้ำซาก

“หากพูดตามความเป็นจริงและตรงไปตรงมา สปส.ควรจะดูแลผู้ประกันตนให้ดีและเข้าถึงบริการก่อน เพราะระบบประกันสังคมมีเงินค่อนข้างสูง 5 แสนล้าน ถือว่าเป็นกองทุนขนาดใหญ่จึงควรให้บริการที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุม โดยที่ไม่มีเงื่อนไข หรือข้อจำกัดที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มในการรักษาพยาบาลแต่ละครั้งหากเกินเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ตรวจสุขภาพฟรี ทำฟันฟรี คลอดฟรี หรือแม้แต่โรคไต ที่ผู้ประกันตนพยายามเรียกร้องให้ได้รับสิทธิ์เหมือนกับผู้ได้รับสิทธิ์บัตรทองบางเรื่องที่ดีกว่า ทั้งๆ ที่ผู้ประกันตนเสียสตางค์” นางวิไลวรรณ กล่าว

นางวิไลวรรณ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า มีคู่สมรสและบุตร 5.88 ล้านคน เป็นคู่สมรสประมาณ 1.3 ล้านคน บุตรอีกกว่า 4 ล้าน คนนั้นจริงหรือไม่ รวมถึงปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพเนื่องจากผู้ประกันตนส่วนใหญ่อยู่ในเมืองแต่ครอบครัวอยู่ในต่างจังหวัด และบุตรของผู้ประกันตนที่อายุระหว่าง 0-5 ปี จะเจ็บป่วยบ่อย ดังนั้น อาจต้องหารือกันให้ชัดเจนว่า ไม่ควรโอนภาระให้คนจนดูแลกันเอง รัฐบาลไม่ควรนำนโยบายมาบังคับ สปส. และหากสปส.เห็นว่านโยบายกระทบกับกองทุนก็ไม่ควรดำเนินการตามและควรคัดค้านและรักษาประโยชน์ของผู้ประกันตนให้ได้มากที่สดส่วนด้านงบประมาณ หาก สปสช.สามารถจะโอนงบประมาณให้เพียง 4,000 ล้านบาท จากที่ สปส.ขอไป 14,000 ล้านบาท ก็อาจประสบปัญหาในระยะยาวได้
กำลังโหลดความคิดเห็น