xs
xsm
sm
md
lg

“วิทยา” ไม่ห่วงโอนสิทธิบุตร-คู่สมรสของผู้ประกันให้ สปส.ดูแล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วิทยา” ชี้คู่สมรส-บุตรย้ายสิทธิ์จากสปสช.ไปสปส.ต้องได้รับการรักษาพยาบาลเท่าเดิม การบ้านสปส.ปรับปรุงบริการเพิ่มสิทธิ์ให้ผู้ประกันตน ปัดเอกชนได้ประโยชน์จากโอนคู่สมรส-บุตร เหตุส่วนใหญ่อยู่ชนบท ด้าน “หมอวินัย” ห่วงย้ายสิทธิ์แต่ไม่ได้รับสิทธิ์ เหตุลูก-เมีย ผู้ประกันตนอยู่ต่างจังหวัด ไม่สามารถเข้าถึงการรักษา แถมสิทธิเหลื่อมล้ำผู้ป่วยบัตรทองได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าประกันสังคม ทั้งไตวาย มะเร็ง ฟันเทียม ข้อเท่าเทียม

วันที่ 4 กันยายน นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การโอนย้ายคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)มาให้สำนักงานประกันสังคม(สปส.)ดูแล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำว่า ประชากรกลุ่มที่ย้ายสิทธิ์จะต้องไม่เสียสิทธิเดิมที่มีอยู่เดิม ฉะนั้น สิทธิเดิมที่ได้รับจากสปสช. เมื่อไปอยู่กับสปส.ก็ต้องได้รับการบริการเหมือนเดิม โดยสปส.จะต้องขยายสิทธิต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาเป็นปีกว่าที่จะมีผลบังคับใช้ เพราะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย

นายวิทยา กล่าวว่ต่อว่า ส่วนที่ทาง สปสช.คาดว่าในการโอนย้ายสิทธิครั้งนี้จะมีการโอนงบประมาณให้กับประกันสังคมเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวต่อประชากรจำนวน 800 บาทนั้น เป็นเพียงการประเมินเบื้องต้น ซึ่งเชื่อว่างบประมาณดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการในภาพรวมจึงเชื่อว่าการบริหารจัดการกลุ่มคนดังกล่าวไม่น่าจะมีปัญหา อีกทั้งเป็นกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว ที่ไม่ค่อยเจ็บป่วยหรือมีภาระค่ารักษาพยาบาลมากนัก

“ในส่วนของงบประมาณของสปสช.ที่ขาดหายไปจากคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตนนั้น รัฐบาลจะหางบประมาณมาช่วยสนับสนุนเพิ่มเติม และคิดว่าไม่มีแรงเสียดทานจากฝั่งประกันสังคมว่าจะเป็นการไปใช้กองทุนประกันสังคมที่มีเงินกว่าแสนล้านบาทแต่อย่างใด เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นการนำเสนอจากสปส. ที่ต้องการให้สปส.ขยายการดูแลไปยังคู่สมรสและบุตรเอง ไม่ใช่ความต้องการของสปสช.”นายวิทยา กล่าว

เมื่อถามถึงการโอนย้ายคู่สมรสและบุตรจากสปสช.มายังสปส.นั้นจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่โรงพยาบาลเอกชนจะได้รับหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า เป็นไปในทางตรงกันข้าม เนื่องจากคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตนส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ดังนั้นสธ.จำเป็นต้องปรับปรุงโรงพยาบาลชุมชนให้รองรับต่อการรักษาพยาบาลของคนกลุ่มนี้มากขึ้น แม้ว่าโรงพยาบาลประกันสังคมส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชนก็ตาม แต่ก็ต้องพัฒนาและปรับปรุงบริการเพื่อการแข่งขัน

นายวิทยา กล่าวอีกว่า ในส่วนของการประชุมกันระหว่าง 3 หน่วยงาน ทั้ง สธ. กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการใช้งบประมาณของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่สูงเกินไป โดยในส่วนของสธ.จะให้คณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติรวบรวมข้อมูลสถานพยาบาลในสังกัดสธ.ทั่วประเทศ ทั้งเรื่องการจัดซื้อยาแต่ละแห่งทั้งหมดการเบิกจ่ายยาให้กับข้าราชการตามสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ที่ไปรักษาพยาบาลกับสถานพยาบาลหลายแห่งจนทำให้งบประมาณรั่วไหล

ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมรายงานเคยมีการตรวจสอบการทุจริตด้านยา ที่ใช้วิธีการเบิกจ่ายยาให้กับข้าราชการที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล โดยมีการเบิกจากหลายสถานพยาบาล และเบิกเป็นจำนวนมากเกินความจำเป็น ซึ่งทางกระทรวงยุติธรรมเคยได้ดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลเหล่านี้ไปบ้างแล้ว”นายวิทยา กล่าว

ด้านนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การจะโยกย้ายสิทธิ์รักษาพยาบาลของประชาชนนั้น รัฐจะต้องยึดสิทธิประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก โดยต้องคำนึงว่าจะได้ประชาชนได้อะไร ดังนั้น การย้ายสิทธิ์จะต้องไม่เป็นการลดสิทธิประโยชน์เดิมที่ประชาชนเคยมีอยู่ รวมถึงประชาชนต้องเข้าถึงการบริการสุขภาพได้ไม่น้อยกว่าเดิม เพราะหากมีการย้ายสิทธิ์ไปแล้ว แต่ไม่สามารถรักษาสุขภาพได้เหมือนเดิม จะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนได้ โดยเฉพาะกรณีการย้ายคู่สมรส บุตรของผู้ประกันตนจากสปสช. ไปอยู่ในความดูแลของสปส. จะต้องพิจารณาผลกระทบอย่างรอบคอบ เพราะปัจจุบันสิทธิประโยชน์การรักษาสุขภาพของทั้ง 2 กองทุนมีความเหลือมล้ำกัน

ทั้ง 2 ระบบมีสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันหลายด้าน เช่น การรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และการรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น โดยการรักษาโรคไตวายเรื้อรังนั้น สปสช. ส่งเสริมให้ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง ผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน ไม่ต้องมาโรงพยาบาล โดยจะมีเจ้าหน้าที่ส่งน้ำยาล้างไตให้ถึงบ้าน ขณะที่สปส. ให้ความสำคัญกับการล้างไตด้วยเครื่องไตเทียมมากกว่า และแม้ว่าจะมีหน่วยบริการล้างไตผ่านช่องท้อง แต่ก็อาจจะไม่มีระบบส่งน้ำยาล้างไตให้ถึงบ้าน ส่วนโรคมะเร็ง ผู้ป่วยบัตรทองมีโอกาสเข้าถึงการรักษาและยารักษามากกว่า เพราะผลการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ(ซีแอล) นอกจากนี้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี รากฟันเทียม ข้อเข้าเทียม ซึ่งเป็นสิ่งที่สปสช.ให้ความสำคัญและดูแลอย่างทั่วถึง” นพ.วินัย กล่าว

นพ.วินัย กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน สปส. ในฐานะที่จะรับผิดชอบคู่สมรส และบุตรของผู้ประกันตนราว 5.7 ล้านคนไปดูแลนั้น ถือว่ามีภาระหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้น จึงต้องปรับปรุงระบบให้บริการ หรือเพิ่มหน่วยให้บริการสุขภาพมากขึ้นตามไปด้วย เพราะเดิมระบบประกันสังคม ออกแบบให้รองรับเฉพาะประชาชนในเขตเมืองเท่านั้น ดังนั้นจำเป็นต้องขยายการให้บริการออกไปในเขตต่างจังหวัด และชนบทมากขึ้น เพราะคู่สมรส และบุตรของผู้ประกันตนอาจจะกระจายอยู่ตามชนบทต่างๆ หากไม่หาวิธีจัดการจะทำให้เกิดปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ ทั้งนี้ ในวันที่ 8 กันยายนนี้ นักวิชาการจะหารือเกี่ยวกับเรื่องการย้ายสิทธิ์ของผู้ป่วยบัตรทอง 5.7 ล้านคนไปอยูในความดูแลของ สปส. โดยจะนำข้อสรุปที่ได้นำเสนอต่อที่ทประชุมบอร์ด สปสช. เสนอรัฐมนตรีเพื่อนำเข้าพิจารณาในครม. อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น