xs
xsm
sm
md
lg

“วิทยา” แทงกั๊กนำต่อรองยามะเร็ง-ยังไม่ใช้ซีแอลอ้างเคารพสิทธิบัตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วิทยา” แทงกั๊ก นั่งหัวโต๊ะเจรจาต่อรองราคายามะเร็ง “ริทูซิแมบ” 24 ส.ค.นี้ เชื่อกล่อมบริษัทยอมลดราคาอีก หวังต่อรองให้เหลือ 2.2 หมื่นบาทต่อเข็ม ไม่กล้าใช้ซีแอล อ้างไทยเคารพสิทธิ์ “หมอศิริวัฒน์” เผยไทยจ่ายค่ารักษาโรค 2-3% ของจีดีพี ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจ่ายแค่ 0.5-08.% ไม่เป็นธรรมกับประเทศยากจน

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 19 สิงหาคม เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็งประมาณ 10 คน นำโดย น.ส.สายชล ศรทัตต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ขอให้รมว.สาธารณสุขแสดงจุดยืนเรียกร้องให้บริษัทยาลดราคายาริทูซิแมบ (Rituximab) เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้เข้าถึงยา โดยนายวิทยา เป็นผู้รับหนังสือด้วยตนเอง

เนื้อหาจดหมายดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันยาริทูซิแมบ ไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติและไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของทั้งระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากยามีราคาแพงมาก กว่า 4 แสนบาทต่อหนึ่งคอร์สการรักษา ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยาจำเป็นนี้กว่า 1,500 ราย


โดยเมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมการต่อรองราคายาและเวชภัณฑ์ที่มีความจำเป็นและมีปัญหาการเข้าถึงของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ ได้ดำเนินการเจรจากับบริษัทยาต่อรองราคายาริทูซิแมบซึ่งบริษัทผู้ผลิต/จำหน่ายยา ยินยอมลดราคาลงมาจำนวนหนึ่ง แต่เป็นราคาที่ครอบคลุมเฉพาะการรักษาโรครูมาตอยด์เท่านั้น ถ้าจะให้ครอบคลุมการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ต้องลดราคาลงมาให้เหลือประมาณเข็มละ 2.2 หมื่นบาท เครือข่ายฯจึงขอให้นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สธ.เป็นประธานในการต่อรองราคายาดังกล่าวด้วยตัวเองโดยเร็ว

นายวิทยา แก้วภราดัย กล่าวว่า ยินดีที่จะเป็นประธานในการเจรจาต่อรองราคายาริทูซิแมบกับบริษัทผู้ผลิต/จำหน่ายด้วยตนเอง โดย นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัด สธ.ได้ดำเนินการนัดหมายให้มีการเจรจาในวันที่ 24 สิงหาคมนี้

สำหรับยาดังกล่าวถือว่าเป็นยาที่มีราคาแพงมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงยาเพราะไม่มีกำลังซื้อ แม้ปัจจุบันบริษัทจะยอมลดราคาลงมาในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถนำเข้าอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติได้ หากเจรจาต่อรองลดราคาให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ไม่เพียงแต่ผู้ป่วยเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ บริษัทผู้ผลิต/จำหน่ายจะได้ประโยชน์ด้วยจากการที่จะขายยาได้มากขึ้น จากเดิมที่อาจจะขายได้เพียง 200 ชุด เพิ่มเป็น 4,000 ชุด เพราะผู้ป่วยคนไทยที่ต้องใช้ยาชนิดนี้มีประมาณ 4 พันคน

เมื่อถามว่า หากเจรจาต่อรองราคายาแล้วบริษัทยังไม่ยอมลดราคาให้อยู่ในระดับที่คณะอนุกรรมการต่อรองราคาฯพอใจ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร หรือซีแอล

นายวิทยากล่าวว่า ตนมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ภายหลังการเจรจาต่อรองราคาแล้วบริษัทยาจะยอมลดราคาให้อยู่ในระดับที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอ เนื่องจากเห็นว่าบริษัทผู้ผลิต/จำหน่ายจะมีส่วนได้มากกว่าเสีย หากยาชนิดนี้ถูกจัดไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งในบางประเทศสามารถผลิตยาชนิดนี้ได้ภายในประเทศและมีราคาถูกกว่ามาก ประเทศไทยไม่อยากดำเนินการเช่นนั้น เพราะเป็นประเทศที่เคารพสิทธิบัตร แต่หากสามารถต่อรองราคาให้ได้ต่ำกว่า 2.2 หมื่นก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

ด้าน นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัด สธ.กล่าวว่า ยาริทูซิแมบใช้รักษาได้ 2 โรค คือ โรครูมาตอยด์ ต้องฉีดให้ผู้ป่วย 4 เข็มต่อคอร์สการรักษาต่อปี และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ฉีด 6 เข็มต่อคอร์สการรักษาต่อปี จากราคาเดิมประมาณ 5 หมื่นบาทต่อเข็ม ทำให้ผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลประมาณ 3-4 แสนบาทต่อคนต่อปี ซึ่งเบื้องต้นได้เจรจาต่อรองราคายากับ 3 บริษัท และได้ตัดบริษัทที่เสนอราคาแพงออกไปจนเหลือเพียงบริษัทเดียว หลังการเจรจาต่อรองราคา 4 ครั้งบริษัทยอมลดราคาให้เหลือ 2.7 หมื่นบาทต่อเข็ม เมื่อเสนอต่อ คณะอนุกรรมการคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ที่มีความจำเป็นและมีปัญหาการการเข้าถึงของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ ที่มี ภญ.สำลี ใจดี เป็นประธานเห็นว่าราคายังแพงเกินไป จึงให้มีการต่อรองใหม่ อีกครั้ง

“การเจรจาที่ผ่านมาได้ให้ข้อมูลว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาชนิดนี้มีเพียง 20% ของผู้ป่วยทั้งหมดเท่านั้นเพราะยามีราคาแพง ถ้าบริษัทยอมลดราคาจะช่วยผู้ป่วยได้มาก โดยที่บริษัทไม่ขาดทุน อาจได้กำไรลดลงบ้างเท่านั้น และประเทศที่พัฒนาแล้ว เสียค่าใช้จ่ายต่อโรคกลุ่มนี้เพียง 0.5-0.8 ของจีดีพี ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 2-3% ของจีดีพี ซึ่งไม่เป็นธรรมที่ประเทศรวยกลับจ่ายน้อยส่วนประเทศจนกลับต้องจ่ายมาก” นพ.ศิริวัฒน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น