xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด สปสช.เร่งศึกษาผลดี-เสียโอนสิทธิ์บัตรทองไป สปส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.วินัย สวัสดิวร
มติบอร์ด สปสช.เร่งศึกษาผลดี-เสีย คู่สมรสและบุตรย้ายสิทธิ์จากบัตรทองไปประกันสังคม คาดรู้ผลภายในเดือนนี้ ขณะที่ประชากรที่จะย้ายไปประกันสังคมมี 3-4 ล้าน ชี้ งบรายหัวที่ประกันสังคมได้ต้องไม่เท่าเดิม เพราะกลุ่มอายุมีค่าเฉลี่ยงบไม่เท่ากัน พร้อมศึกษางบรายหัวบัตรทองที่ลดลง เพราะกระทบเงินเดือนบุคลากรที่ถูกโอนไปด้วย

วันนี้ (10 ส.ค.) นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีมติให้ สปสช.ไปจัดประชุมเพื่อหาข้อมูลและจุดยืนของ สปสช.ว่าจะดำเนินการอย่างไร ภายหลังจากทึ่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ขยายสิทธิประกันสังคมไปยังบุตรและคู่สมรส โดยให้เชิญนักวิชาการมาอภิปรายถึงข้อดีข้อเสีย คาดว่าอาจจะดำเนินการได้ในสัปดาห์หน้าหรือช้าสุดภายในเดือนนี้น่าจะได้ข้อสรุปเบื้องต้น

“ขณะนี้มีหลายมุมมอง เช่น การมีหน่วยบริการที่ดูแลทั้งครอบครัวแบบเบ็ดเสร็จก็อาจจะเป็นเรื่องที่ดีก็ได้ และคณะกรรมการให้ข้อเสนอว่า หากบุตรผู้ประกันตนอยู่ต่างจังหวัดแล้วจะไปใช้บริการหน่วยบริการอย่างไร เพราะหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ส่วนใหญ่จะอยู่ในเมือง ดังนั้น จึงต้องมีการศึกษา ซึ่ง รมว.สธ.ก็ให้ สปสช.ศึกษาและหารือให้ได้ข้อสรุป เข้าสู่คณะกรรมการเพื่อเสนอรัฐบาลต่อไป” นพ.วินัย กล่าว

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า การที่บุตรและคู่สมรสไปอยู่ในสิทธิประกันสังคม ก็แปลว่า ไม่มีสิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชากรในระบบโดยรวมก็จะลดลงไป เช่น ลดไปประมาณ 3-4 ล้านคน ซึ่งต้องไปหาตัวเลขมาว่า จริงๆ แล้วมีเท่าไหร่ และการที่ประชากรลดลง ไม่ใช่ว่างบประมาณลดไปตามจำนวนงบรายหัวของคนนั้นด้วย เพราะต้องคำนึงว่า ในแต่ละกลุ่มอายุมีค่าเฉลี่ยการใช้งบรายหัวไม่เท่ากัน

“ผู้สูงอายุจะมีการใช้งบรายหัวสูงมากกว่าวัยเด็กและคนทำงานที่สุขภาพยังแข็งแรงอยู่ เรามีประมาณการไว้ว่าค่าใช้จ่ายรายหัวของคนแต่ละกลุ่มอายุไม่เท่ากันกัน มีการคำนวณตัวเลขนี้ไว้ ดังนั้น การที่ย้ายผู้ประกันตนจากระบบประกันสังคม ซึ่งส่วนมากเป็นคนวัยทำงาน จึงจำเป็นต้องกลับไปหาข้อมูลเชิงลึกและคำนวณอย่างละเอียดและรอบคอบ เพื่อให้ได้งบรายหัวที่เหมาะสมกับค่าอายุที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องดูแล” นพ.วินัย กล่าว

นายวินัย กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันเมื่อภาระการดูแลประชากรของประกันสังคมเพิ่มขึ้น และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าลดน้อยลง การตัดเงินเดือนบุคลากรก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสิทธิ์รักษาพยาบาล ที่หน่วยบริการนั้นให้การดูแลอยู่ ดังนั้น สปสช.ต้องไปหารือและศึกษาผลดีและผลเสียจะเป็นอย่างไร เนื่องจากงบเหมาจ่ายรายหัวมีเงินเดือนบุคลากรรวมอยู่ ด้วย เมื่อดูแลประชากรหลักประกันสุขภาพน้อยลง ดังนั้น ต้องหักส่วนนี้น้อยลงด้วย และถ้าเกิดขึ้นจริงซึ่งต้องเปลี่ยนกฎหมาย ต้องมีการคำนวณรายละเอียดการจัดการเยอะพอสมควร
กำลังโหลดความคิดเห็น