“มาร์ค” สั่งเลขาฯ กบข.ชี้แจงแล้ว ยันผลสรุปออกมาอย่างไร ก็ต้องว่าไปตามเนื้อผ้า “บอร์ด กบข.” สรุป “วิสิฐ ตันติสุนทร” ไม่ใช่ต้นตอทำเจ๊ง พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบวินัย กรณีซื้อขายหุ้น 8 บริษัท ขณะที่ข่าวลือสะพัดทั่วตลาดหุ้น “พนิช วิกิตเศรษฐ์” ถูกสั่งเตรียมพร้อม หากผู้บริหาร กบข.กระเด็นตกเก้าอี้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบพบความไม่โปร่งใสในการบริหารกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จนประสบภาวะขาดทุนว่า โดยระบุว่า ตนเองได้เรียก นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข.เข้ารายงานข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว
“ถ้ามีการสรุปผลมาอย่างไรก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป คงต้องรอดูรายงานก่อนจึงจะทราบว่าใครต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ที่ผ่านมาเคยสั่งการให้ทำรายงานในเรื่องความเสียหายมาแล้ว และจะสั่งให้สรุปอีกครั้งว่าปัญหานี้กระทบกับข้าราชการจำนวนมากน้อยแค่ไหน และอย่างไร”
นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า สิ่งที่ตนเป็นห่วงอยู่ คือ กองทุนประกันสังคม (สปส.) ที่จะต้องปรับปรุงเรื่องการบริหารจัดการด้วย และการทำงานทั้ง 2 กองทุนนั้นต้องให้มืออาชีพเป็นผู้บริหาร แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา แม้แต่มือบริหารเองยังบริหารจนเกิดความเสียหาย
ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสข่าวว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมเล็งหามืออาชีพคนใหม่ไว้แล้ว หากนายวิสิฐ ต้องออกจากตำแหน่งเลขาธิการ กบข.พร้อมกับกระแสข่าวลือในวงการตลาดหุ้นว่า นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในทีมของ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน และเคยเป็นกรรมการบริหารของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) อยุธยา เอวายเอฟ มาก่อนจะโดดเข้ามาสู่แวดวงการเมือง ทั้งยังเป็นเพื่อนสนิทของทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) กบข.ได้มีมติตั้งคณะกรรมการสอบ นายวิสิฐ กรณีซื้อขายหุ้น 8 บริษัท หลังจากที่ประชุมบอร์ด กบข.วานนี้ ได้พิจารณารายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของ กบข.ที่มี นายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธาน ซึ่งสรุปว่า การลงทุนและดำเนินงานอื่นของ กบข.ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่พบพฤติกรรมการทุจริตแต่อย่างใด
ส่วนสาเหตุที่กองทุน กบข.ขาดทุน เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ส่งผลให้ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นไปตามภาวะการลงทุนโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม กบข.ได้พยายามปรับลดความเสี่ยงจากการลงทุนแล้ว
หนึ่งในบอร์ด กบข.กล่าวภายหลังการประชุม โดยระบุว่า จริงๆ แล้วขณะนี้ การขาดทุนยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจาก กองทุน กบข.เป็นการลงทุนระยะยาวถ้าสมาชิกไม่ลาออกขณะนี้ ก็ไม่ได้รับผลขาดทุน และหากถือยาว อาจกำไรก็เป็นไปได้ แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการพิเศษฯ พบว่า นายวิสิฐ และพนักงานอีก 6 คน ที่มีการซื้อขาย 8 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของ กบข.โดยไม่รายงานตามระเบียบ กบข.แต่ที่พบว่าผิดจรรยาบรรณ คือ การซื้อหุ้น บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC จึงมีมติตั้งคณะกรรมการสอบ นายวิสิฐ และพนักงานทั้ง 6 ราย ฐานความผิดจรรยาบรรณ อย่างไรก็ตาม จากผลการสอบสวน ไม่พบว่าการผิดดังกล่าวส่งผลเสียหายต่อองค์กร
ส่วนผลสอบสวนของ ป.ป.ท.ที่ออกมาระบุว่า พบความผิดของ เลขา กบข.ในการซื้อขายหุ้น 3 ตัว ได้แก่ PTT YNP และ LH นั้น บอร์ด กบข.ไม่ต้องการจะวิจารณ์การทำงานของ ป.ป.ท เพราะที่ผ่านมา ป.ป.ท.ส่งตัวแทนมานั่งร่วมสังเกตุการณ์ แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่สุดท้ายกลับมาเปิดแถลงข่าว
ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบการซื้อขาย หุ้น 8 ตัว ที่พบว่า เลขาฯ กบข.และพนักงานลงทุน พบเพียงหุ้น IRPC ที่ไม่มีการ DECLARE เนื่องจากอาจจะเข้าใจไปว่า สามารถลงทุนในหุ้นตัวดังกล่าวโดยไม่ต้องรายงาน เพราะมีการประกาศถึงแผนการลงทุนในบริษัทดังกล่าวต่อสาธารณะ ส่วนกรณีที่ ป.ป.ท.ออกมาแถลงข่าวเรื่องดังกล่าว ถือเป็นการผิดมารยาทอย่งแรง เพราะแค่ส่งตัวแทนมาร่วมสังเกตุการณ์แต่กลับนำข้อมูลออกไปแถลง
ทั้งนี้ ฐานความผิดในกรณีผู้บริหารผิดจรรยาบรรณ และทำให้เกิดความเสียหายแก่องค์กร มีโทษสูงสุดถึงเลิกจ้าง แต่กรณีที่ไม่เกิดความเสียหายแก่องค์กร โทษเบื้องต้นตั้งแต่ลดเงินเดือน หรือตัดเงินเดือน ส่วนตำแหน่งเลขาธิการ กบข.ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง จะต้องถูกลงโทษรุนแรงกว่าพนักงาน ซึ่งทั้งหมดจะต้องรอผลสอบจากคณะกรรมการสอบวินัยอีกครั้งว่าจะผิดขนาดไหน ซึ่งผลการประชุม ประธานบอร์ด กบข.จะรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรับทราบ ก่อนเปิดแถลงข่าวเรื่องดังกล่าว
“ฐานความผิดกรณีนี้ อาจต้องเทียบเคียงกับมาตรฐานการลงทุนเหมือนกรณีการลงโทษของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสุดท้ายจะต้องรอผลสอบสวนจากคณะกรรมการสอบอีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า คณะกรรมการสอบ นายวิสิฐ ประกอบด้วย นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นประธาน นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการ ก.พ. น.ส.นิตยา พิบูลย์รัตนกิจ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นางทิพยสุดา ถาวรามร ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นกรรมการโดยกำหนดให้สอบสวนเสร็จสิ้นภายใน 30 วัน