xs
xsm
sm
md
lg

ตัดงบกองทัพ…น่าสะใจนักหรือ?

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

บทความวันนี้อาจกระทบกระเทือนความรู้สึกของคนจำนวนหนึ่งที่กำลังสะใจอยู่กับข่าวการตัดงบประมาณของกองทัพไทยในปีงบประมาณ 2553 ถึง 20,000 ล้านบาท อันเป็นผลเนื่องมาจากรายได้แผ่นดินขาดเป้า และต้องลดวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงถึง 200,000 ล้านบาท

เพราะบ้านเมืองของเราในวันนี้เกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ แต่มันก็เกิดมานานแล้ว คือถือคติเอาเองว่าการด่าว่าทหารก็ดี ตอบโต้กับกองทัพก็ดี หรือการลดบทบาทตลอดจนลดขีดอำนาจสู้รบของกองทัพก็ดี กลายเป็นเรื่องเด่นดังและจะสร้างความนิยมส่วนตัวขึ้นมาได้

แล้วรู้หรือไม่ว่าหากกองทัพสิ้นสูญหรืออ่อนล้าในสมรรถนะสู้รบ แล้วใครไหนเล่าจะค้ำจุนเอกราชอธิปไตยและความปลอดภัยของชาติและพิทักษ์รักษาสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชนให้ดำรงคงมั่นสถาพรได้?

ย่างเข้าหน้าฝน น้ำหลากไหลท่วมเป็นอุทกภัยก็ใช้ทหาร เข้าฤดูกาลแล้ง ขาดน้ำท่าดื่มกินก็ใช้ทหาร เข้าหน้าหนาว ความหนาวเหน็บแผ่ปกคลุมจนคนล้มตายก็ใช้ทหาร เกิดวาตภัย อุทกภัย เช่น ที่เกิดเหตุสึนามิเมื่อหลายปีก่อนหรือเกิดอุบัติภัยใหญ่ๆ ก็ใช้ทหาร

เกิดเหตุไม่สงบทั้งภายในประเทศและตามแนวพรมแดนก็เป็นหน้าที่ของทหาร และต้องใช้ทหารอีก

ทว่าเมื่อบ้านเมืองเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจขึ้นในโลกอย่างขนานใหญ่แล้วเกิดผลกระทบเข้ามาประเทศไทย ก็ย่อมกระทบต่อรายได้แผ่นดิน และเมื่อรายได้แผ่นดินลดลงก็จำเป็นจะต้องลดรายจ่ายลง ที่ไหนเขาก็ทำกันอย่างนี้ แล้วจะทำกันอย่างไรดี

ในขณะนี้ยังไม่มีการเสนอกฎหมายงบประมาณเข้าสภา แต่อยู่ในขั้นตอนของการกำหนดกรอบและเค้าโครงกว้างๆ ในการจัดทำงบประมาณปี 2553 จึงพอเหมาะที่จะนำเสนอความเห็นในเรื่องนี้ได้

เพราะจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า จึงต้องปรับปรุงกรอบความคิดเดิม ที่เตรียมการตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายแผ่นดินโดยลดวงเงินลงเป็นจำนวน 200,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องเกลี่ยงบประมาณรายจ่ายของทุกกระทรวงทบวงกรมลงตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยในขั้นต้นนี้คาดหมายกันว่าจะต้องตัดงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นงบประมาณของกองทัพไทยลงเป็นจำนวนถึง 20,000 ล้านบาท

ก็เป็นธรรมดาที่หากถูกปรับลดงบประมาณลงขนาดนี้ก็ต้องกระทบต่อขีดความสามารถในการพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องใคร่ครวญให้จงดี

สถานการณ์ในวันนี้เป็นอย่างไร? ชายแดนภาคใต้ยังมีความไม่สงบดำรงอยู่ มีการสู้รบกันบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ชายแดนตะวันตกยังมีการสู้รบกันในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วเกิดผลกระทบความเสียหายขึ้นในประเทศไทย

ชายแดนด้านตะวันออกและอีสานใต้ก็ยังมีการบุกรุกย่ำยีอธิปไตยอยู่เป็นเนืองนิตย์ วันดีคืนดีก็แกล้งทำเป็นกระสุนปืนครกลั่นมาตกในแดนไทย วันดีคืนดีก็ส่งใครต่อใครเข้ามารุกล้ำอธิปไตย กระทั่งล่าสุดก็มีคนตาสีน้ำข้าวชาวต่างแดนบุกรุกเข้ามาในเขตแดนไทยตรงพื้นที่เขาพระวิหาร โดยไม่แจ้งให้ทางการไทยทราบเลย

ภายในประเทศ ก็มีคนคิดและดำเนินการให้เกิดสงครามกองโจร เพื่อขยายตัวเป็นสงครามประชาชน ที่จะทำให้คนไทยสู้รบฆ่าฟันกันเองเหมือนเหตุการณ์ 30 ปีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ในเขตน่านน้ำไทยตลอดแนวสองฝั่งตะวันออก ตะวันตก ของภาคใต้ ลากเรื่อยขึ้นไปจรดแนวชายแดนด้านตะวันออกก็มีผู้บุกรุกคุกคามและปล้นชิงทรัพยากรธรรมชาติของไทยไปอย่างหน้าตาเฉย

สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์และประชาชน กำลังตกอยู่ในท่ามกลางความเสี่ยงและความไม่ปลอดภัยชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

สภาพเหล่านี้หากไม่มีแสนยานุภาพที่เข้มแข็งเกรียงไกรของกองทัพเป็นหลักค้ำจุนคุ้มครองป้องกันราชอาณาจักรนี้แล้ว เราก็จะตกอยู่ในความเสี่ยงภัยของการสิ้นชาติสิ้นแผ่นดิน จึงต้องคิดพิจารณาให้รอบคอบรอบด้าน

นั่นเป็นด้านสภาพสถานการณ์ ทีนี้มาพิจารณาดูกันในเรื่องการจัดทำงบประมาณของกองทัพซึ่งมีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนกับส่วนราชการอื่นๆ และใช้วิธีปกติในการคิดพิจารณาเรื่องนี้ไม่ได้ เอากันเฉพาะเรื่องสำคัญ มีดังต่อไปนี้

เรื่องแรก การจัดตั้งงบประมาณของกองทัพ จะต้องพิจารณาโดยเปรียบเทียบกับศักยสงครามของประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่คาดหมายว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อมาตุภูมิ เพื่อให้กองทัพสามารถรับมือและคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายทั้งหลายได้ ความมากความน้อยย่อมขึ้นต่อความเปรียบเทียบดังกล่าวนี้ เพราะถึงตั้งมากน้อยเพียงใด หากไม่ถึงขีดความสามารถที่จะคุ้มครองรักษาความปลอดภัยได้ ที่ตั้งงบประมาณไว้นั้นก็สูญเปล่า และสูญแผ่นดินสิ้นชาติตามไปด้วย

และโดยการเปรียบเทียบนี้ ก็ควรจะรู้และเข้าใจให้แจ่มแจ้งว่าปัจจุบันนี้ศักยสงครามของกองทัพไทยแทบจะตกอยู่ในฐานะที่อ่อนด้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้แล้ว

เรื่องที่สอง ในระยะ 15 ปีที่ผ่านมานี้ เป็นห้วงเวลาของความเสื่อมถอยของการพัฒนากองทัพ เพราะงบประมาณถูกตัดลงต่ำเตี้ยเป็นเวลาต่อเนื่องถึง 13 ปี และเพิ่งปรับให้ดีขึ้นเพียง 2 ปีมานี้เท่านั้น

งบประมาณทางการทหารระดับมาตรฐานคือ 4% ในขณะที่ประเทศที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงก็สามารถตั้งงบประมาณได้ถึง 7% แต่บางประเทศกลับตั้งสูงกว่านั้นถึง 17% และโดยทั่วไปหลายประเทศก็แอบซุกซ่อนงบประมาณของกองทัพไว้ในงบอื่นๆ เพื่อไม่ให้ประเทศอื่นจับได้ไล่ทัน แล้วเพิ่มงบการทหารขึ้นมาแข่งขันกัน

แต่ของประเทศไทยเราในระยะ 15 ปีมานี้ เราต้องหันหน้าไปทุ่มเทให้กับทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ งบประมาณของกองทัพจึงถูกจัดไว้หลังสุด เหลือเพียง 1% กว่าๆ เท่านั้น จัดงบประมาณอัตรานี้ติดต่อกันเป็นเวลาถึง 13 ปี และเพิ่งมาดีขึ้นหน่อยหนึ่งเป็น 2% เศษๆ ใน 2 ปีมานี้ เพราะเหตุนี้การพัฒนาความเข้มแข็งของกองทัพจึงทรุดโทรมต่ำเตี้ยอย่างน่าใจหาย

เราจะซ้ำเติมให้ทรุดโทรมต่ำเตี้ยต่อไป หรือว่าจะฟื้นฟูสมรรถนะและการพัฒนากองทัพให้ต่อเนื่องเป็นปีที่สามด้วยจำนวนวงเงินเพียงน้อยนิดและเทียบไม่ได้กับอัตรามาตรฐานหรือการจัดตั้งงบประมาณของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้

เรื่องที่สาม
พูดแต่งบกองทัพรวมๆ เพื่อจะเฉลี่ยเกลี่ยสัดส่วนแบบมักง่ายนั้นหาได้ไม่ พึงเข้าใจว่างบของกองทัพนั้นอาจจำแนกให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่ามีอยู่ 4 ประเภทคือ

ประเภทที่หนึ่ง งบประมาณประจำด้านเงินเดือน ค่าแรง และคุรุภัณฑ์ ซึ่งไปลดเงินเดือน ตัดเงินเดือน หรือไปแตะต้องใดๆ ไม่ได้เป็นอันขาด และไม่อาจทำได้ตามกฎหมายด้วย

ประเภทที่สอง งบประมาณในการฝึก ซึ่งทหารต้องฝึกซ้อมอยู่เสมอ ตามคติทางทหารที่ว่า “ถ้าไม่เสียเหงื่อก็จะเสียเลือด” ซึ่งหมายความว่าถ้าทหารไม่ได้ฝึกก็จะไม่มีความชำนาญ ยามเกิดเหตุการณ์เผชิญหน้าก็เสี่ยงตายมากกว่าคนอื่น

งบประมาณในการฝึกไม่ว่าจำพวกเบี้ยเลี้ยง ค่าสวัสดิการ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งขณะนี้ก็ลดจำนวนลงมามาก จนอ่อนด้อยกว่าในอดีตมากมายแล้ว จึงไม่ควรไปแตะต้องหรือลดจำนวนลงเป็นอันขาดเช่นเดียวกัน

ประเภทที่สาม งบประมาณในการซ่อมบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งมีกำหนดการซ่อมบำรุงเป็นระยะเวลาและระยะการใช้งาน เหมือนกับการต้องนำรถเข้าซ่อมบำรุงทุกระยะ 1,000 กิโลเมตร 5,000 กิโลเมตร เป็นต้น

งบประมาณประเภทนี้หากถูกตัดไป รถถัง เรือรบ เครื่องบิน ก็คงต้องจอดทิ้งให้เสื่อมสภาพหนักเข้าไปอีก จึงแตะต้องไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน

ประเภทที่สี่
งบประมาณในการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ตามแผนพัฒนากองทัพ ซึ่งแตกต่างจากส่วนราชการอื่นๆ ที่ฝ่ายการเมืองสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามนโยบาย แต่การพัฒนากองทัพนั้นต้องมีการวางแผนล่วงหน้า 5 ปี 10 ปีหรือกว่านั้น

ดังนั้นหากไปเปลี่ยนแปลงตัดลดก็จะทำให้การพัฒนากองทัพสะดุด

ทว่าในปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างนั้น หากรัฐบาลมีความห่วงใยก็อาจประสานงานเพื่อรักษาประโยชน์แผ่นดินและกองทัพให้สอดคล้องต้องกันได้เป็นคนละเรื่องกับความสะใจในการตัดงบประมาณ

บรรดาผู้เกี่ยวข้องจึงลองพิจารณากันดู ดีกว่าที่จะมัวสะใจกับคติผิดๆ ของบางกลุ่มบางพวก เพราะหากมัวสะใจเช่นนั้น ในวันหนึ่งก็จะต้องสะใจในการสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น