xs
xsm
sm
md
lg

แก้รธน.มาตรา 190 ถอนหนามตำใจ “อนุพงษ์” ดันซื้อยานเกราะยูเครนลอตใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ – เกมแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ในเวลานี้ไม่ได้เป็นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มก๊วนนักการเมืองเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับกองทัพ เพราะการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทธโธปกรณ์หลายโครงการใช้วิธีพิเศษและเป็นสัญญาแบบรัฐต่อรัฐที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 190 เป็นเหตุให้บิ๊กกองทัพขัดเคืองเพราะหลายเรื่องต้องสะดุด โดยเฉพาะการจัดซื้อยานเกราะล้อยางจากยูเครนลอตสองอีก 121 คัน มูลค่ากว่า 5,000 ล้านซึ่งอยู่ระหว่างทำคลอดต่อจากลอตแรก 96 คัน มูลค่า 3,800 ล้าน ผลงาน“อนุพงษ์” ออกแรงดันไม่หวั่นเสียงทักท้วงจนผ่านฉลุยไปแล้ว

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามในระหว่างการอภิปรายในสภาเมื่อคราวประชุมร่วมสองสภาเมื่อวันที่ 23 – 24 เมษายน 52 ที่ผ่านมา ถึงกรณีการจัดซื้อจัดหารถหุ้มเกราะล้อยางจากประเทศยูเครนที่ถูกถามกลางสภาถึงความไม่โปร่งใสว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ เพราะติดปัญหาที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 ที่กำหนดให้ต้องเอาเรื่องมาเข้าสภาให้ความเห็นชอบเสียก่อน ทำให้ดำเนินการต่อไม่ได้

คำตอบเพียงสั้นๆ แต่มีความหมาย มีนัยอยู่เบื้องหลังที่ต้องการคำอธิบายหลายประการ

1) ยานเกราะยูเครนที่ พล.อ.ประวิตร บอกว่า ยังดำเนินการต่อไม่ได้นั้น เป็นการจัดซื้อจัดหาลอตแรก จำนวน 96 คัน มูลค่ากว่า 3,800 ล้านบาท ที่ สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรวม.กลาโหม เซ็นอนุมัติไปแล้ว เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2551 ใช่หรือไม่

ถ้าใช่ ก็หมายความว่า โครงการจัดซื้อจัดหายานเกราะยูเครน ซึ่งถูกท้วงติงจากหลายฝ่าย สุดท้ายก็ยังไปไม่รอด ต้องมาเข้าสู่กระบวนการซักฟอกในสภาอีกรอบ แม้ว่าโครงการนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. จะใช้กำลังภายในดันสุดฤทธิ์จนทำให้ สมัคร สุนทรเวช เซ็นอนุมัติไปแล้วก็ตาม

ทางหนึ่ง แหล่งข่าวสายทหาร ให้ข้อมูลว่า เรื่องที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร แจงในสภาก็คือโครงการเดิมนั่นแหละ ตอนนี้เดินหน้าไม่ได้ต้องเอาเรื่องไปเข้าสภาก่อนเพราะเป็นการจัดซื้อแบบวิธีพิเศษแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งเข้าเงื่อนไขต้องปฏิบัติตามมาตรา 190 เวลานี้ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ ส่งเรื่องกลับไปให้เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก เป็นคนจัดการและลงนามในสัญญาแทน

แต่อีกทางหนึ่ง แหล่งข่าวสายทหารที่ใกล้ชิดกับ “บิ๊กป้อม” ให้ข้อมูลว่า พล.อ.ประวิตร พูดจาให้คลุมเครือไม่พูดลงไปให้ชัดว่า ยานเกราะยูเครนที่ว่าเดินหน้าต่อไม่ได้นั้นคือ โครงการจัดซื้อจัดหายานเกราะยูเครนระยะที่ 2 ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากลอตแรกที่อดีตนายกฯ สมัคร อนุมัติไปแล้ว

สำหรับโครงการระยะที่ 2 หรือลอตใหม่นี้ มีจำนวน 121 คัน อยู่ในโครงการจัดหาและซ่อมปรับปรุงยุทโธปกรณ์ผูกพันข้ามปีงบประมาณ โดยตั้งงบผูกพันในปีงบประมาณ 2552 เอาไว้จำนวน 1,000 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบราคายานเกราะยูเครนที่จัดซื้อไปราคาคันละประมาณ 42 ล้านบาท การจัดซื้อจัดหาลอตใหม่ จำนวน 121 คัน จะตกประมาณ 5,000 กว่าล้านบาท และปกติการผูกพันงบประมาณจะจัดสรรไว้ไม่เกิน 3 ปี

โครงการจัดซื้อจัดหายานเกราะยูเครน ระยะที่ 2 ได้มีการเสนอเรื่องขึ้นมาจากกองทัพบกแล้ว ตอนนี้มาค้างคาอยู่ที่ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงกลาโหม เพราะต้องมาดูว่าจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 190 เนื่องจากเป็นการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ ต้องเอาเรื่องเข้าสภาก่อน จึงยังทำอะไรต่อไม่ได้

ส่วนการตั้งเรื่องขึ้นมาของกองทัพบกนั้น ใช้วิธีเสนอเรื่องแบบโครงการต่อเนื่อง ทั้งกระบวนการอ้างอิงจากโครงการระยะแรกหมด ทั้งที่กระบวนการจัดซื้อจัดหาของโครงการแรกถูกท้วงติงจากหลายฝ่ายว่ามีความไม่ถูกต้อง ไม่โปร่งใส ก็ตาม ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ หากประเทศใดเข้าได้ ก็มักจะผูกกันต่อด้วยเหตุผลว่าการจัดซื้อจัดหามาพร้อมเงื่อนไขการฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยี ซ่อมบำรุง ฯลฯ ดังนั้น หากโครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่อง ระยะที่ 2 ก็หมายความว่า ยูเครน รับทรัพย์จากรัฐไทยเป็นหมื่นล้าน

ส่วนคอมมิชชั่นจากการจัดซื้อจัดหาคราวนี้ จะทำให้ใครสุขอุราเปรมปรีด์บ้าง ก็พอจะคาดหมายกันได้ไม่ยาก

กรณีนี้ ถือเป็นความสำเร็จของบริษัทเอ็นจีวีเอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด บริษัทนายหน้ารัฐบาลยูเครน และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ที่สามารถทำให้ยุทโธปกรณ์ยานเกราะล้อยางยูเครนที่ดัดแปลงมาจากรัสเซีย เข้ามาอยู่ในอ้อมกอดของกองทัพไทย จากที่ไม่เคยอยู่ในสารบบมาก่อน

ดังเช่นที่สำนักงบประมาณ ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่า สำนักงบประมาณ “ไม่สามารถตรวจสอบความเหมาะสมของราคาได้ เนื่องจากเป็นยานเกราะที่ยังไม่เคยมีประจำการในกองทัพไทยมาก่อน....”

2) ไม่ว่า โครงการจัดซื้อจัดหายานเกราะยูเครนที่พล.อ.ประวิตร ชี้แจงอย่างคลุมเครือจะเป็นโครงการเดิมหรือโครงการต่อเนื่อง สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ก็คือ รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 กลายเป็นเสี้ยนหนามตำใจกองทัพที่มักใช้วิธีจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโยปกรณ์ทั้งหลายด้วยวิธีพิเศษแบบรัฐต่อรัฐ เฉพาะงบประมาณด้านโครงการ ประจำปีงบประมาณ 2552 ของกองทัพบก วงเงินทั้งสิ้นกว่า 13,600 ล้านบาท ไม่แน่ว่ามีจำนวนถึงครึ่งต่อครึ่งหรือไม่ที่ติดปัญหานี้

หากนับมือที่ยกขึ้นสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว นอกเหนือจากพลพรรคนักการเมืองทั้งหลายแล้ว เชื่อว่าน่าจะมีกองทัพรวมอยู่ด้วยแน่นอน เพราะวิสัยของทหารไม่ต้องการให้พลเรือนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของทหารเท่าใดนัก ป้าย “เขตทหารห้ามเข้า” บอกชัดๆ อยู่แล้ว ไม่นับว่า ประเด็นเรื่องความมั่นคงของชาติฝ่ายทหารมักถือสิทธิ์เป็นผู้ผูกขาดนิยามมาทุกยุคทุกสมัย

3) การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ ถึงแม้นักการเมืองและทหาร อยากจะถอดเสี้ยมหนามตำอกนี้ออกใจจะขาดก็ตาม ทั้งนี้ เพราะพลังเครือข่ายประชาชนที่ผลักดันจนมีมาตรา 190 ให้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 คือ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอว็อท นั้น มีพลังและฤทธิ์เดชเพียงใด ก็พอจะรับรู้กันอยู่

ผลงานชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเอฟทีเอว็อทซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านการจัดประชุมเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ที่เชียงใหม่ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว จนรัฐมนตรีต้องหนีหัวซุกหัวซุน และการที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ต้องถอนกฎหมายลูก มาตรา 190 ฉบับรัฐบาลเพื่อขอกู้เงินต่างประเทศแทบไม่ทันนั้น บ่งบอกว่า ไม่ว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือ การออกกฎหมายลูกมารองรับเพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ มีคำตอบอยู่ในตัวอยู่แล้วว่าหนังยาวว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องนี้จะลงเอยเช่นใด

/////////////

หมายเหตุ - รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา ๑๙๐ ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่ง ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคง ทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ อย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว

ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ ตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้อง ชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบด้วย

เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในกรณีที่การปฏิบัติ ตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม

ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบ ต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า หรือการลงทุน อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตาม หนังสือสัญญาดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป

ในกรณีที่มีปัญหาตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติตามมาตรา ๑๕๔ (๑) มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม
กำลังโหลดความคิดเห็น