อภ.เผย กมธ.สาธารณสุข ให้คงระเบียบสำนักนายกฯ แต่ให้ยกเว้นการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ภาครัฐ ชี้ เปิดการค้าเสรียาโรงงานยาทั่วประเทศเจ๊งแน่ เหตุสู้อินเดีย จีนไม่ไหว ขณะที่เล็งส่งออกยาขับเหล็กแอลวัน ไปจีน อิหร่าน ยุโรป
วันที่ 6 ตุลาคม ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า อุปสรรคปัญหาเรื่องพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2550 ซึ่งขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบการจัดซื้อจัดหายาและเวชภัณฑ์ของภาครัฐ ซึ่ง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ยกร่างขึ้นมาโดย อภ.ไม่ได้แสดงความเห็น ซึ่ง พ.ร.ฏ.ดังกล่าวไม่เกิดประโยชน์ใดๆ โดยตรงกับ อภ.ซ้ำยังทำให้เกิดปัญหาตามมา โดยก่อนหน้านี้ ได้หารือร่วมกับกรรมาธิการสาธารณสุข ซึ่งมีข้อสรุปให้คงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีโดยยกเว้นกรณีการจัดซื้อจัดหายาและเวชภัณฑ์ของ อภ.แต่ยังไม่มีหนังสือออกมาอย่างทางการ ซึ่ง อภ.จะต้องปรับตัวทั้งคุณภาพ และราคา โดยจะใช้สิทธิพิเศษแล้วตั้งราคาตามใจชอบไม่ได้ ไม่ถูกต้อง ทำให้โรงพยาบาลมีความเสี่ยงในการจัดการบริหารงบประมาณ ดังนั้น ราคาจึงต้องมีความสมเหตุสมผล
“นอกจากนี้ ถ้าให้มีการเปิดเสรีการค้าเรื่องยาทั้งหมด โรงงานต่างๆ ในประเทศไทย ยกเว้น อภ.อาจจะต้องปิดตัว เพราะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอินเดีย หรือ จีน ได้ หรือแม้แต่การส่งออกขายให้กับประเทศจีนถือเป็นเรื่องยาก เนื่องจากหากเป็นยาสามัญที่ไม่ได้ติดสิทธิบัตร และจีนสามารถที่จะผลิตเองได้ จะมีการตั้งภาษีนำเข้าอยู่ที่ 70% เพื่อเป็นการคุ้มครองอุตสาหกรรมยาในประเทศ หรือที่ประเทศการขอขึ้นทะเบียนยาค่อนข้างมีราคาแพงมากและใช้ระยะเวลานาน ยาที่นำไปขึ้นทะเบียนอาจต้องใช้เวลาถึง 3 ปี และใช้เงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าเป็นยาที่ไม่สามารถผลิตเองได้จะมีวิธีการนำเข้าและขึ้นทะเบียนที่สะดวกและถูกอย่างมาก ขณะที่การขึ้นทะเบียบยาในไทยใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี เสียค่าใช้จ่ายไม่มาก”นพ.วิทิต กล่าว
นพ.วิทิต กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ อภ.ยังได้เตรียมที่จะนำยาขับเหล็กที่ อภ.สามารถผลิตได้โดยใช้ชื่อการค้าว่า “จีพีโอแอลวัน” (GPO-L-ONE™) ส่งออกในประเทศจีน อิหร่าน และยุโรป ซึ่งยาตั้งกล่าวอภ.สามารถผลิตเองทุกกระบวนการ ตั้งแต่วัตถุดิบตั้งต้นจนออกมาเป็นแคปซูล ซึ่งในประเทศต่างๆ เหล่านี้ มีผู้ผลิตน้อยราย และให้ความสนใจยาแอลวันของอภ.มาก โดยในระหว่างสัปดาห์นี้จะมีการประชุมธาลัสซีเมียโลกที่ประเทศสิงค์โปร ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะนำยาแอลวันเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทั้งนี้ ยังไม่มีการตั้งเป้าว่าจะส่งออกยาแอลวันเท่าไหร่ แต่ อภ.มีกำลังการผลิตคยาแอลวันได้ 120 ตันต่อเดือน
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยม อภ.ว่า ในฐานะรัฐมนตรีจะต้องทำหน้าที่ โดยจะหารือกับคณะกรรมการที่ยกร่าง พ.ร.ฎ.ว่ามีปัญหาอุปสรรคขัดข้องอย่างไรหรือไม่ ส่วนการจัดซื้อพื้นที่ที่จังหวัดปทุมธานีเพื่อตั้งขององค์การเภสัชกรรมแห่งใหม่ จำนวน 280 ไร่ จะดำเนินการเป็นธุระจัดการให้