ผู้จัดการรายสัปดาห์ --- ถ้าหากไม่นับว่าประเทศไทยนำเข้าก๊าซจากพม่าปีละกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ ประเทศคู่ค้าใหญ่ที่สุดของรัฐบาลทหารพม่าก็คือจีน ซึ่งนอกจากจะทุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกเข้าสู่ตลาดใหญ่ 55 ล้านคนแล้วบริษัทของจีนยังเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่วัสดุอุปกรณ์ราคาแพงต่างๆ แก่พม่าและเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในประเทศนี้อีกด้วย
ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเงียบๆ ท่ามกลางเสียงก่นประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทหารจากประชาคมระหว่างประเทศ และการคว่ำบาตรทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองที่นำโดยสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป
ทั้งหมดนี้ได้ทำให้เกิดโอกาสสำหรับจีนซึ่งในช่วงปีใกล้ๆ นี้ ได้รัฐบาลปักกิ่งได้เป็นหลังพิงที่ไว้ใจได้สำหรับพม่าบนเวทีโลก
วันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา หัวรถจักรใหม่ลอตแรกจำนวน 8 คันได้ถูกนำเข้าประจำการในพิธีรับมอบที่สถานีรถไฟกรุงย่างกุ้ง ประธานของบริษัทผู้ผลิตจากจีนเป็นผู้มอบ มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพม่ารวมทั้งเอกอัครราชทูตกับเจ้าหน้าที่สถานทูตจีนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วยจำนวนมาก
หัวรถจักรทั้งหมดส่งตรงไปจากโรงงานต้าเลี่ยน (Dalian) ในมณฑลซันตง (Shandong) ซึ่งเป็นของบริษัท Yunnan Machinery & Equipment Co (Import and Export) แห่งมณฑลหยุนหนัน
หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ของรัฐบาล รายงานว่า ทั้งหมดเป็นหัวรถจักรดีเซลขนาด 2,000 แรงม้า ติดเครื่องยนต์ Caterpillar 3516-B ซึ่งสามารถใช้งานได้ดีในทุกสภาพพื้นที่และเป็นส่วนแรกของหัวรถจักร 20 คันที่สั่งซื้อเมื่อสามปีก่อน
เมื่อปีที่แล้วพม่าได้ตกลงขายก๊าซธรรมชาติทั้งหมดที่สำรวจพบในแปลง A1 กับ A3 นอกชายฝั่งอ่าวเบงกอลให้แก่บริษัทน้ำมันและก๊าซแห่งชาติของจีน
กลุ่มบริษัทร่วมทุนเกาหลี-อินเดีย ได้ค้นพบก๊าซปริมาณมหาศาลในแปลงสำรวจดังกล่าวตั้งแต่ปี 2549 ทั้งสองฝ่ายได้พยายามขอซื่อก๊าซจากพม่า และแล้วทั้งหมดก็ตกเป็นของบริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ ในการลงทุนสำรวจขุดเจาะ
บริษัทลงทุนจากจีนอีกหลายแห่งกำลังสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าอยู่ในพม่าเป็นมูลค่านับพันล้านดอลลาร์ เพื่อปั่นไฟส่งจำหน่ายให้แก่จีนและไทย
หากไม่นับรวมกิจกรรมลงทุนขนาดใหญ่เหล่านี้แล้ว การ “รวยอย่างเงียบ” ของบริษัทอุตสาหกรรมและการค้าจากจีนที่ทำมาค้าขายกับรัฐบาลทหารพม่า เช่น กรณีของ YMEC เป็นเรื่องที่น่าจับตามองเช่นกัน
กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่จากมณฑลหยุนหนันเริ่มคืบคลานเข้าสู่พม่ามาตั้งแต่ปี 2533 นั่นคือช่วงหลังการปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ของระบอบทหารในกรุงย่างกุ้ง
เวลาเพียงข้ามปี YMEC ได้ช่วยให้การรถไฟพม่ามีเครื่องจักรดีเซลแทนหัวรถจักรไอน้ำที่ใช้มาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สองเป็นครั้งแรก
หัวรถจักรขนาด 2,000 แรงม้ารุ่นแรก ถูกส่งไปให้การรถไฟพม่าตั้งแต่ปี 2534 จนถึงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา YMEC ได้ขายหัวรถจักรให้ให้พม่าไปแล้วรวม 16 คัน ตู้โดยสารอีก 53 คัน และรางเหล็กรวมน้ำหนัก 100,000 ตัน
บริษัทดังกล่าวรายงานโดยไม่ได้เปิดเผยใดๆ เกี่ยวกับมูลค่าการซื้อขาย แต่กล่าวว่า หัวรถจักรจำนวน 20 คันล่าสุดได้จากการชนะการประกวดราคาจัดซื้อจัดหาเมื่อ 2549
ไม่เพียงแต่จะขายหัวรถจักรเท่านั้น จนถึงปัจจุบันบริษัทนี้ได้จำหน่ายตู้โดยสารรวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆ เกี่ยวกับการเดินรถไฟ จำนวนมากมายให้แก่รัฐบาลทหารพม่า
บริษัท YMEC ยังชนะการประกวดราคาสนับสนุนอุปกรณ์ไฟฟ้าและระบบสายส่งไปให้แก่ทางการกรุงย่างกุ้งอีกด้วย
บริษัทจากจีนแห่งนี้ยัง ฝังตัวอย่างล้ำลึกในระบอบทหารพม่า โดยที่ไม่ต้องแข่งขันกับคู่แข่งชาติตะวันตกใดๆ และได้กลายเป็นผู้สนับสนุนกังหันปั่นไฟสำหรับเขื่อนหลายแห่งในประเทศนี้ รวมทั้งเขื่อนปางหลวง (Paung Laung) ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ในรัฐชาน
ยังไม่มีการเปิดเผยมูลค่าทั้งหมดของโครงการเขื่อนปางโหลงแต่การก่อสร้างซึ่งเริ่มในปี 2541 ดำเนินมาด้วยความยากลำบาก เนื่องจากต้องเจาะภูเขาทั้งลูกเพื่อทำอุโมงค์ส่งน้ำรวม 23 แห่งลงไปยังโรงไฟฟ้า
กว่าสิบปีมานี้บริษัทการค้าและลงทุนจากจีนจึงเป็นหัวหอกสำคัญทำให้รัฐบาลทหารสามารถบริหารประเทศต่อไปได้ ในท่ามกลางการปิดล้อมของตะวันตก
ตามรายงานของนิตยสารข่าวเมียนมาร์ไทมส์ ในปีงบประมาณ 2550-2551 ที่สิ้นสุดลงในเดือน มี.ค.ปีนี้มูลค่าการค้าระหว่างพม่ากับจีนขยายตัวถึง 60% เป็น 2,400 ล้านดอลลาร์ เทียบกับ 1,500 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณก่อนหน้านั้น ทำให้จีนเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับสองรองจากไทย
พล.อ.เต็งเส่ง (Thein Sein) นายกรัฐมนตรีพม่าเป็นผู้เปิดเผยตัวเลขดังกล่าวระหว่างการประชุมสัมมนาในเทศกาลแสดงสินค้นจีน-อาเซียน ที่จัดขึ้นในนครหนานหนิง (Nanning) ของจีนในสัปดาห์ปลายเดือน ต.ค.
ตามตัวเลขของกระทรวงการค้า พม่าเป็นฝ่ายขาดดุลการจีนมาตลอด และมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณที่ผ่านมา เนื่องจากการหลั่งไหลของสินค้าอุปโภคบริโภค
พม่าส่งออกสินค้าการเกษตร ปลา ไม้ซุง อัญมณี และแร่ธาตุต่างๆ ขณะเดียวกันก็นำเข้าเครื่องจักรเครื่องกล อุปกรณ์ไฟฟ้า อาหารสำเร็จรูป กับสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหลาย
“การส่งออกของจีนมีมูลค่ามากกว่าการส่งออกของเรา เนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่หลั่งไหลเข้ามา” นิตยสารข่าวกึ่งทางการรายงานอ้างคำแถลงของกระทรวงการค้า
สำหรับ YMEC บริษัทนี้ไม่เพียงแต่เป็นผู้ค้า สนับสนุนเครื่องกังหันปั่นไฟสำหรับเขื่อนในพม่าเท่านั้นหากยังลงทุนเองและก่อสร้างเองอีกหลายโครงการ
บริษัท YMEC ยังเป็นเจ้าของท่าเทียบเรือสินค้าใหญ่ที่สุดในกรุงย่างกุ้งอีกด้วย ภายใต้สัญญาสัมปทานแบบเทิร์นคีย์ ซึ่งมีการนำเครื่องจักรเครื่องมือที่จำเป็น รวมทั้งเครนทันสมัยเข้าใช้การ ช่วยให้การส่งออกของพม่าดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว นำรายได้เข้าไปหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจที่ถูกตะวันตกคว่ำบาตร
อย่างไรก็ตาม ทางการพม่าไม่ได้โอกาสเช่นนี้แก่บริษัทต่างชาติทุกแห่ง แม้ว่าจะมีเอกชนจากหลายประเทศ รวมทั้งรัสเซีย หรือกระทั่งประเทศยุโรปตะวันตก ได้พยายามแหวกวงล้อมการคว่ำบาตรออกมาใช้การค้านำนโยบาย
ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากทางการจีนได้พัฒนาความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับระบอบทหารในพม่าที่ครองอำนาจติดต่อกันมายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ และจีนได้แสดงออกในหลายวาระโอกาสบนเวทีระหว่างประเทศให้ผู้นำพม่ามั่นใจได้ว่าจีนเป็นหลังพิงที่ไว้ใจได้เสมอ.