xs
xsm
sm
md
lg

“ป.ป.ท.” พบ กบข.บริหารงานผิดพลาดทำเจ๊ง!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)
“ธาริต” เผย ป.ป.ท.ตรวจพบการบริหารเงินกองทุน กบข.ผิดพลาดคลาดเคลื่อน นำไปสู่ภาวะขาดทุน ชี้ ผู้เข้าข่ายปฏิบัติงานผิดพลาดแบ่ง 2 กลุ่ม ส่งรายงานถึงมือ รมว.ยุติธรรม แล้ว

วันนี้ (25 พ.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยถึงการตรวจสอบการบริหารกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ว่า ชุดปฏิบัติการตรวจสอบข้อมูล กบข.และชุดที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การตรวจสอบภายในของ กบข.ได้สรุปรายงานเสนอต่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รับทราบแล้ว

การตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า การบริหารงานของ กบข.น่าจะผิดพลาดคลาดเคลื่อน ไม่สอดคล้องกับกฎหมาย และหลักบริหารที่ดี จึงเป็นที่มาของการประสบภาวะขาดทุน โดยผู้ที่อยู่ในข่ายที่ปฏิบัติงานผิดพลาดคลาดเคลื่อนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก คือ เลขาธิการกบข. และเจ้าพนักงานของกบข. กลุ่มที่ 2 เป็นคณะกรรมการ กบข.ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการระดับสูง

นายธาริต กล่าวอีกว่า การตรวจสอบของ กบข.เน้นการตรวจสอบที่พฤติการณ์ สาเหตุ และจรรยาบรรณของผู้บริหารที่นำไปสู่การขาดทุน โดยตั้งประเด็นในการตรวจสอบไว้ 11 เรื่อง แต่ยังไม่ได้เจาะถึงมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง เพราะ กบข.ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง ซึ่งการประชุมบางนัดที่เรียกเลขาธิการ กบข.เข้าชี้แจง ก็ไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เข้าร่วมสังเกตการณ์ ทำให้ตัวเลขความเสียหายยังสับสนอยู่ระหว่าง 24,000 ล้านบาท กับ 18,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากผลการตรวจสอบพบความผิดในการบริหารกองทุนกบข. ในกรณีที่เป็นความผิดของข้าราชการระดับสูง จะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณา ส่วนข้าราชการที่ต่ำกว่าระดับ 8 จะเป็นอำนาจสอบสวนของ ป.ป.ท.

ทั้งนี้ โทษทางวินัยของผู้บริหาร กบข.ที่ประพฤติผิดจรรยาบรรณ จะมีโทษทางวินัยจนถึงการเลิกจ้าง นอกจากนี้ อาจจะต้องรับผิดทางอาญาเพิ่มด้วย

รายงานข่าวเปิดเผยด้วยว่า จากการข้อมูลที่ได้รับจากการเข้าร่วมสังเกตการณ์การตรวจสอบการบริหารและการลงทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)พบว่า ผู้มีอำนาจคนสำคัญ ของ กบข. ได้นำเงินไปซื้อหุ้นบางตัวก่อนที่ กบข.จะเข้าซื้อหุ้นตัวเดียวกัน และบางครั้งเมื่อกบข.ลงทุนซื้อหุ้นไปแล้ว ผู้มีอำนาจคนสำคัญดังกล่าว ซื้อหุ้นตัวเดียวกันตามไป เมื่อตรวจสอบระเบียบของกบข.พบว่า หากผู้บริหารกบข.ซื้อหุ้นตัวใดต้องรายงาน แต่ผู้มีอำนาจคนสำคัญไม่ได้รายงานข้อมูลการซื้อขายหุ้น

นอกจากนี้ ยังมีการนำเงินของกบข.ไปซื้อหุ้นที่ติดแบล็คลิสต์ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยข้อมูลการบริหารงานผิดระเบียบของกบข.นั้น ได้ถูกตรวจสอบพบโดยคณะกรรมการตรวจสอบภายในของกบข.เอง แต่เรื่องกลับยุติลงโดยไม่มีการลงโทษทางวินัยแต่อย่างใด

ต่อมา เมื่อเวลา 18.00 น. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ได้ชี้แจงว่า ในกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. จะมีการแถลงผลการตรวจสอบ กบข.นั้น ที่ผ่านมาสำนักงาน ป.ป.ท.ยังไม่ได้เข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานและข้อมูลใด ๆ ของ กบข. โดยคณะกรรมการ กบข.ยังมีความสงสัยในอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ท. เนื่องจากขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ท.ยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง จึงยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจสอบ รวมทั้งมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดมาทำการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายของสำนักงาน ป.ป.ท.
กำลังโหลดความคิดเห็น