xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ท.เสนอสอบ “กบข.” หลังพบภาวะขาดทุนสูง 5 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)
ป.ป.ท.เผยจะส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยัง กบข. โดยขอใช้หน่วยงานกลางจากกระทรวงการคลัง-อสส.-ก.ล.ต.เข้าตรวจสอบการใช้เงินไปลงทุน ตราสารหนี้สถาบันการเงิน ตราสารหนี้บริษัท ตราสารทุนในประเทศ ตราสารทุนต่างประเทศ หรือการลงทุนซื้อหุ้น ที่พบขาดทุนสูงมากประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อเร่งคลายความกังวลให้สมาชิกหายข้องใจ

วันนี้ (13 มี.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แถลงข่าวถึงแนวทาวในการตรวจสอบการบริหารสินทรัพย์ และการลงทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ว่า หลัง ป.ป.ท.ได้รับการร้องเรียนจากข้าราชการจำนวนมากเกี่ยวกับผลประกอบการของ กบข. ซึ่งมีข้าราชการเป็นสมาชิกประมาณ 1.7 ล้านคน ป.ป.ท.ก็ดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นของภาพรวมมูลค่าการลงทุนของ กบข.ในหมวดต่างๆ เปรียบเทียบระหว่างปี 2550 กับปี 2551 สรุปว่า มีข้อมูลที่น่าห่วงใย ควรแก่การตรวจสอบ 4 ข้อมูล ประกอบด้วย ตราสารหนี้สถาบันการเงิน ตราสารหนี้บริษัท ตราสารทุนในประเทศ ตราสารทุนต่างประเทศ การลงทุนทั้ง 4 กลุ่ม เป็นการลงทุนภาคเอกชนทั้งสิ้น

สำหรับการลงทุนใน กบข.มีทั้งข้าราชการที่สมัครใจเป็นสมาชิก และส่วนที่กฎหมายบังคับตั้งแต่ปี 2540 ข้าราชการไม่ใช่นักลงทุนแต่เป็นผู้ที่นำเอาเงินสะสมที่หักจากเงินเดือนส่งให้ กบข. โดยมอบความไว้วางใจให้กับ กบข. ตลอดเวลากว่า 10 ปี กบข.เป็นสถาบันหลักของชาติ ที่มีความเชื่อมั่นอย่างดียิ่ง แต่ในปี 2551 ประเด็นที่ทำให้สมาชิกเกิดข้อวิตกอย่างยิ่ง เพราะสลิบใบแจ้งยอดการลงทุนของข้าราชการมียอดเงินสะสมติดลบทุกคน ข้าราชการทั้งหมดกว่า 1 ล้านคน ไม่ได้รับทราบถึงการลงทุนของ กบข. โดยเฉพาะคนที่เกษียณจะได้รับผลกระทบโดยตรง

จากการตรวจสอบพบนัยสำคัญล้วนเป็นการลงทุนภาคเอกชนทั้งสิ้น กองทุน กบข.มีลักษณะพิเศษต้องการความไว้วางใจสูง เป็นการลงทุนไม่เกิดความผิดพลาด กฎหมายจึงกำหนดว่า การลงทุนของ กบข.ต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มั่นคงสูง ได้แก่ ตราสารหนี้ภาครัญหรือเงินฝากในธนาคาร เป็นที่น่าสงสัยว่าเหตุใดการลงทุนในปี 2551 โดยเฉพาะการลงทุนตราสารหนี้สถาบันการเงิน ตราสารหนี้บริษัท ตราสารทุนในประเทศ ตราสารทุนต่างประเทศ หรือการลงทุนซื้อหุ้น ปรากฎภาวะขาดทุนสูงมาก รวมแล้วประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

เมื่อ ป.ป.ท.ได้ประชุมมีความเห็นว่าเพื่อให้เรื่องนี้มีความกระจ่างชัด คลายความวิตกกังวลขอทุกฝ่ายโดยเฉพาะข้าราชการที่เป็นสมาชิก ที่สำคัญเพื่อทำให้ กบข.เป็นสถาบันหลักที่ยังคงความเชื่อมั่นไว้ ป.ป.ท.ก็จะขอความอนุเคราะห์ ในช่วงบ่ายวันนี้จะส่งหนังสือไปยัง กบข.เพื่อขอความร่วมมือในฐานะหน่วยงานของรัฐ ขอให้มีการตรวจสอบในเรื่องนี้ โดยใช้หน่วยงานกลางจากกระทรวงการคลัง สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) วิทยาลัยตลาดทุน นักวิชาการอิสระ

"ทั้งนี้การตรวจสอบจะส่งผลให้สมาชิก กบข.คลายความกังวลลง โดยให้รอฟังผลการตรวจสอบ และคาดหวังว่ากบข.จะเห็นชอบในกระบวนการที่ดำเนินการ ซึ่งเราก็เอาใจช่วยให้ผลการตรวจสอบออกมาว่า การดำเนินการโดยเฉพาะการใช้ดุลพินิจและการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ประเภทภาคเอกชนที่ขาดทุนทั้ง 4 รายการ เป็นไปโดยถูกต้องและเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบ ส่วนผลจะเป็นเช่นไรก็ต้องรอภายภาคหน้า" เลขาฯป.ป.ท.ย้ำ

ต่อข้อถามว่าทางกบข.อ้างว่าเป็นการขาดทุนกำไร นายธาริต กล่าวว่า อยู่ที่จะมองว่าเป็นอย่างไร หากมีเงิน 100 บาท เกิดกำไรเป็น 200 บาท รวม 300 บาท หากขาดทุน เหลือ 250 บาท มันอยู่จะพูดว่าอย่างไร แต่เป็นภาวะการขาดทุนนั้นเอง เหมือนที่ กบข.บอกว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีเพียง 4 ล้านบาทเศษ อยู่ที่มุมมอง แต่ดูจากเอกสารแล้วจะเป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่หากเอากำไรจากการลงทุนในภาครัฐในส่วนอื่นมาหักลบ ก็พูดได้ว่าขาดทุนแค่นี้ และหากไม่ได้รับความร่วมมือ ป.ป.ท.จะเสนอ รมว.ยุติธรรม ประสานไปยัง รมว.คลัง เพื่อพิจารณาตรวจสอบต่อไป

“ขณะประชุมหัวหน้าส่วนราชการที่พิษณุโลก ข้าราชการหลายคนวิตกในเรื่องนี้ บางคนจะไปฟ้องศาลปกครอง จะไปเคลื่อนไหว ซึ่งเราก็ไม่สบายใจ ถ้า ป.ป.ท.ไม่ทำก็ไม่รู้หน่วยไหนทำ อีกอย่างเป็นหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เราถือว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เพื่อให้เกียรติกันจะใช้วิธีขอความร่วมมือ โดยไม่ใช้อำนาจอ้างเข้าไปทำโดยพละการ ทำงานมาหลายเรื่องหนักใจที่สุด เพราะกระทบวงกว้าง ฝ่ายหนึ่งเป็นข้าราชการ อีกฝ่ายเป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือ จึงมั่นใจว่าวิธีการที่เสนอน่าจะถูกต้องสร้าง ความชัดเจน คลายความวิตกกังวลและเรียกความเชื่อมั่นกลับมา” เลขาฯ ป.ป.ท.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น