xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” เผยสำรองวัคซีนพิษสุนัขบ้า 1 ล้านโดส บัตรทองต้องได้ฉีดครบทุกเข็ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“จุรินทร์” สั่งโรงพยาบาลสังกัด สธ.ทุกแห่ง ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้ากรณีฉุกเฉินให้ผู้ป่วยบัตรทองฟรีครบทุกเข็ม เผยสำรองวัคซีน 1 ล้านโดส เพียงพอให้บริการประชาชน 2 แสนคน คุมโรคพิษสุนัขบ้าได้ พร้อมกระจายถึงสถานีอนามัยให้บริการประชาชนเต็มที่

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณี น.ส.พิมลรัตน์ งิ้วกลาง อายุ 26 ปี อาชีพรับจ้าง ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนว่า สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองให้สิทธิฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในกรณีฉุกเฉินเฉพาะเข็มแรกเท่านั้นว่า ได้ให้นโยบายไว้ชัดเจนว่า หากประชาชนถูกสุนัข แมว หรือสัตว์ที่เป็นพาหะโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วน ให้รีบเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ใกล้ที่สุดได้ฟรีทันที ไม่เฉพาะสถานพยาบาลที่กำหนดไว้ตามสิทธิเท่านั้น โดยถือเป็นกรณีฉุกเฉิน ซึ่งให้บริการฟรีครบทุกเข็มตามที่แพทย์จะพิจารณาฉีดวัคซีนให้ผู้ป่วย

“มีผู้ที่ถามเข้ามามากว่า บัตรทองฉีดวัคซีนฟรีหรือไม่ ก็ขอบอกว่าให้บริการฉีดวัคซีนฟรีจนครบทุกเข็ม โดยไม่จำเป็นต้องดั้นด้นไปหน่วยบริการตามสิทธิซึ่งอาจอยู่ในต่างจังหวัด แต่สามารถไปฉีดวัคซีนที่สถานบริการที่เกิดเหตุได้ทันที ถือเป็นกรณีฉุกเฉิน และไม่ใช่ให้บริการฟรีเฉพาะการฉีดเข็มแรกส่วนเข็มที่เหลือผู้ป่วยต้องกลับไปรับบริการในสถานพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น ซึ่ง สธ.จะประสานกับทุกจังหวัดรวมถึงกรุงเทพมหานครให้รับทราบว่าสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนฟรีทุกเข็มจนครบตามที่แพทย์กำหนด”นายจุรินทร์กล่าว

เมื่อถามว่า ประชาชนไปขอรับวัคซีนพิษสุนัขบ้าที่สถานีอนามัย แต่ได้รับแจ้งว่าไม่มี และมีเฉพาะในโรงพยาบาลประจำอำเภอเท่านั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า ขณะนี้ สธ.มีการสำรองวัคซีนพิษสุนัขบ้าจำนวน 1 ล้านโด๊ส สามารถให้บริการฉีดแก่ประชาชนได้ถึง 2 แสนคน และมีการกระจายวัคซีนให้สถานพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งหากสถานพยาบาลใดได้รับการจัดสรรวัคซีนไม่เพียงพอก็สามารถดำเนินการใช้งบประมาณของโรงพยาบาลจัดซื้อเพิ่มเติมได้ อีกทั้งการกระจายวัคซีนได้ดำเนินการจัดสรรให้ในสถานีอนามัยด้วยไม่เฉพาะแต่สถานพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลเท่านั้น หากประชาชนไปขอรับบริการในสถานพยาบาลสังกัด สธ.แล้วได้รับแจ้งว่าไม่มีวัคซีนนี้ให้บริการสามารถแจ้งมาที่ สธ.ได้ทันที เนื่องจากการรับวัคซีนภายหลังถูกสุนัขกัดเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่นั้นจะไม่สามารถควบคุมโรคได้

ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดสธ. กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ (สสจ.) แจ้งไปยังสถานพยาบาลสังกัด สธ.ทุกแห่ง เพื่อกำชับให้มีการยืดหยุ่นให้บริการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าแก่ผู้ป่วยถือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในกรณีฉุกเฉินครบทุกเข็ม เพราะสถานพยาบาลแต่ละแห่งก็ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกรมควบคุมโรคอยู่แล้ว การให้บริการครบทุกเข็มในกรณีฉุกเฉินจึงกระทำได้ไม่ยาก อยู่ที่การพิจารณาของแต่ละสถานพยาบาลเท่านั้น

“การฉีดวัคซีนชนิดนี้เพียงเข็มเดียว ไม่สามารถช่วยในการป้องกันและรักษาโรคได้แต่อย่างใด เมื่อสั่งกำชับสถานพยาบาลให้ยืดหยุ่นตรงจุดนี้ จะส่งผลให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในสถานพยาบาลนอกเหนือจากสถานพยาบาลที่ระบุไว้ตามสิทธิได้ทุกเข็มโดยไม่ต้องจ่ายค่าวัคซีน” นพ.ไพจิตร์กล่าว

ขณะที่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรณีดังกล่าวน่าจะเป็นความเข้าใจไม่ตรงกันของหน่วยบริการ เนื่องจากการถูกสุนัขหรือแมวกัดนับเป็นอุบัติเหตุซึ่งเข้าข่ายเหตุฉุกเฉิน ไม่ใช่เป็นเหตุการณ์ตามปกติ สามารถไปรับบริการฉีดวัคซีนที่ รพ.ของรัฐที่ใกล้ที่สุดได้ทันที่ ไม่ว่าหน่วยบริการประจำที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้จะอยู่ที่ไหนก็ตาม แต่ให้พบแพทย์โดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะนี้ทาง สปสช.เขต 9 นครราชสีมา ได้ประสานไปยังโรงพยาบาลปากช่องนานา และน.ส.พิมลรัตน์ เพื่อชี้แจงขั้นตอนที่ถูกต้อง ซึ่งทางโรงพยาบาลจะคืนเงินให้กับนางสาวพิมลรัตน์ในจำนวน 398 บาท

นพ.วินัย กล่าวว่า ทั้งนี้การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าต้องฉีด 5 เข็ม และเมื่อฉีดเข็มแรกแล้วต้องฉีดเข็มที่ 2 ภายใน 3 วันนับจากเกิดเหตุ ในกรณีนี้หากยังไม่สามารถกลับไปใช้บริการที่หน่วยบริการประจำได้ ก็สามารถไปรับการฉีดวัคซีนที่หน่วยบริการเดิมได้ สำหรับการแจ้งขอย้ายสิทธิบัตรทองหรือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ในกรณีนี้ไม่ต้องแจ้งย้ายก็สามารถใช้สิทธิ์ได้เพราะนับเป็นกรณีฉุกเฉิน แต่ในกรณีทั่วไปที่มีความประสงค์ต้องการแจ้งย้ายหน่วยบริการประจำ เช่น ย้ายตามญาติ สามารถแจ้งย้ายได้ที่หน่วยบริการ และจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการตรวจสอบสิทธิ์

“ส่วนกรณีที่ไม่มีวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในระดับสถานีอนามัยนั้น ขอเรียนชี้แจงว่า การเก็บวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าจำเป็นต้องมีการเก็บรักษาในสภาพอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นจะทำให้วัคซีนเสื่อมคุณภาพได้ซึ่งจะอาจจะไม่ได้มาตรฐานได้” เลขาธิการ สปสช.กล่าว

ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้รับการประสานจากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ที่จะส่งตัวอย่างวัคซีนล็อตที่ข้าราชการสาธารณสุขที่เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าใช้ในการฉีดให้กับสุนัข แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการจัดส่งมาแต่อย่างใด หากได้รับตัวอย่างพร้อมที่จะส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือส่งไปตรวจสอบยังต่างประเทศ ซึ่งเบื้องต้นได้ติดต่อบริษัทเจ้าของวัคซีนในการส่งไปตรวจแล้ว

“การซื้อวัคซีนมาใช้ในการฉีดให้กับสุนัขไม่ให้ได้วัคซีนปลอมนั้น จะต้องเป็นยี่ห้อและผู้ขายที่ไว้ใจได้ ซึ่งผู้ที่ไปเร่ขายฉีดให้ตามบ้านไว้ใจไม่ได้ จะมีปัญหาเรื่องของประสิทธิภาพวัคซีน ทางที่ดีที่สุดควรจะพาสุนัขไปฉีดวัคซีนในคลินิกสัตวแพทย์ ที่พร้อมให้บริการอย่างมีคุณภาพ และรับบริการกับมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญทั้งเรื่องของการเก็บรักษาและฉีดวัคซีน”นพ.พิพัฒน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น