xs
xsm
sm
md
lg

ยกเลิก MOU 2544...เพราะละเมิดพันธกรณีอย่างร้ายแรง!/ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์
บทความโดย ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความที่ข้าพเจ้าถูกฝึกมาเป็นนักวิจัย ดังนั้น การให้เหตุผลใดๆ จากข้อมูลและหลักฐานจึงเป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าให้ความสำคัญ และระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งต่อการแสดงความคิดเห็นต่อประเทศชาติ กล่าวคือ ต้องให้ชัดเจนและมั่นใจเสียก่อน จึงตัดสินใจฟันธง

สำหรับเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา ทั้งทางบกและทางทะเล ข้าพเจ้าได้จัดระบบความคิดโดยมองเป็นกลุ่ม ถ้าเป็นทางบก ก็ต้องพิจารณาไปที่กลุ่ม MOU 2543, TOR 2546, แผนพัฒนาบริเวณรอบปราสาทพระวิหาร (หรือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,000 ไร่นั่นเอง) และร่างข้อตกชั่วคราวฯ ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เสนอเพื่อขอให้รัฐสภาผ่านความเห็นชอบ ตั้งแต่ 2 กรกฎาคม 2552 ถูกเข้าวาระตั้งแต่ 28 สิงหาคม 2552 เข้า-ออกมา 3 ครั้ง จนครั้งสุดท้ายถูกถอนออกจากวาระเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2552 จึงกินเวลาเกินกว่า 60 วันแล้วเมื่อถึงวันนี้ แต่ถ้าเป็น ทางทะเล ก็ต้องมองไปที่ MOU 2544 และแถลงการณ์ร่วม 2544

วันนี้ขอพูดเรื่องกลุ่มหรือตระกูลทางทะเลก่อน

ข้าพเจ้าเคยเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาเขตแดนทางทะเลโดยยกเลิก MOU 2544 และยกเลิกแถลงการณ์ร่วม 2544 ไปเสียด้วยกันด้วยเหตุผลว่า แถลงการณ์ร่วม 2544 นั้นรับรอง MOU 2544 อยู่ (ในข้อ 15 ระบุว่า “ทั้งสองฝ่ายแสดงความพึงพอใจในความพยายามต่างๆ ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกันมา และให้การในบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทยว่าด้วยพื้นที่ทั้งสองประเทศอ้างสิทธิ์ไหล่ทวีปซ้อนกัน ซึ่งลงนามโดยนายซก อาน รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา (นายซก อาน ลงนามเอกสารในฐานะประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติ (กัมพูชา) ด้วย) และ ฯพณฯ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย”)

ปัญหาเขตแดนทางทะเลเป็นอย่างไร

ปัญหาเขตแดนทางทะเลที่ว่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่การฆ่าตัดตอนผลประโยชน์ทางทะเลของกลุ่มทักษิณ ชินวัตร ที่ทางฝ่ายรัฐบาลให้เหตุผลหากจะมีการยกเลิก MOU 2544 ว่าเป็นเพราะทำในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และทางรัฐบาลกัมพูชาได้ตั้งให้อดีตนายกรัฐมนตรีไทยผู้นี้ เป็นที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวทางด้านเศรษฐกิจของสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา จึงรับประกันไม่ได้ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีไทยจะเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับแก่ประเทศคู่กรณีในผลประโยชน์ทางทะเลด้วยกันหรือไม่ ทั้งนี้เพราะมันมีเหตุผลที่ขึ้นอยู่กับความเป็นธรรมตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และผลประโยชน์ของประเทศชาติที่ถูกต้องเป็นธรรมตามหลักการด้วย โดยกัมพูชาประกาศอ้างสิทธิ์ฝ่ายเดียวในเขตไหล่ทวีป เมื่อปี พ.ศ.2515 เริ่มจากจุดตั้งต้นของเส้นไหล่ทวีปที่ไม่มีค่าพิกัดที่แน่นอน ลากผ่านเกาะกูดของไทยโดยไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายรองรับ และเส้นไหล่ทวีปในแนวเหนือ-ใต้ ไม่ได้กำหนดจากเส้นฐานหมู่เกาะของทั้งสองประเทศตามหลักสากล

ฝ่ายไทยได้ประกาศอ้างสิทธิ์ในเขตไหล่ทวีปตามมาในปี พ.ศ.2516 แม้จุดเริ่มต้นของเส้นไหล่ทวีปจะยังมีค่าพิกัดไม่แน่นอน เพราะต้องขึ้นอยู่กับหลักเขตแดนหลักที่ 73 หลักเขตสุดท้ายทางบกที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของทางทะเล ซึ่งเรียกว่าเป็นหลักอ้างสิทธิ์ แต่ไทยได้ใช้พื้นฐานทางกฎหมายรองรับในการลากเส้นจากฐานหมู่เกาะและเส้นฐานตรง โดยเส้นช่วงแรกใช้แนวแบ่งครึ่งมุมระหว่างเกาะกูดของไทยกับเกาะกงของกัมพูชา ส่วนที่เหลือเป็นเส้นแบ่งครึ่งทะเลระหว่างแนวเกาะของไทยกับกัมพูชาโดยใช้หลักการของเส้นมัธยะ (Equidistance Line) (อ้างเอกสารเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา โดย กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ . เอกสารประกอบการสัมมนากลุ่ม เรื่อง กรณีปราสาทเขาพระวิหาร : จุดยืนและผลประโยชน์แห่งชาติอยู่ที่ใด . จัดโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 22 กันยายน 2551)

พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา มีขนาด 26,400 ตารางกิโลเมตร และมีความพยายามเจรจาแบ่งเขตไหล่ทวีปกันตลอดมา ตั้งแต่ 14 มีนาคม 2535 และ 27-28 เมษายน 2538 แต่ท่าทีของกัมพูชา คือ

ไม่พิจารณาเรื่องพื้นฐานทางกฎหมายของเส้นที่ตนอ้างสิทธิ์ เส้นที่อ้างสิทธิ์ไว้เดิมเป็นเส้นที่ไม่อาจต่อรองได้ เสนอให้ทำพื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) โดยมีเงื่อนไขดังนี้

- แบ่งผลประโยชน์เท่ากัน
- ไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์และอธิปไตยของกัมพูชา
- ไม่คำนึงถึงสิทธิ์ใดๆ ที่เคยมีมาก่อนของบุคคลที่สามเกี่ยวกับการให้สัมปทาน

แต่มีการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนด้วยวิธีทางการเมือง จึงปรากฏเป็นการจัดทำ MOU 2544 ณ กรุงพนมเปญ โดยหลักการพื้นฐานที่เราจะเข้าใจได้ก็คือ

1) ผู้มีอำนาจฝ่ายบริหารของไทยไปรับรอง “ความมั่ว” ของกัมพูชา และ ไม่นำเรื่องนี้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ผิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 224

2) เรื่องการให้สัมปทานถ้ามองในแง่ความมั่นคงทางด้านเขตแดนแล้วเป็นเรื่องแสดงหรือยืนยันให้เห็นความมีอธิปไตยของรัฐผู้ให้สัมปทาน

โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่จะมองระบบสัมปทานในเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น ระบบนี้เป็นที่นิยมในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายที่ต้องการลดภาระการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ จึงมอบสัมปทานให้เอกชนทำแทน ทั้งนี้ ผู้ได้รับสัมปทานก็จะได้รับผลประโยชน์จากสัมปทานในกิจกรรมนั้นๆ แต่เมื่อหมดอายุสัมปทาน ผู้ให้สัมปทานจะมีรายได้ต่อเนื่องจากการถืออายุสัมปทานนั้นให้กับผู้รับสัมปทานเดิม หรือรายใหม่ต่อไป การทำธุรกิจโดยระบบสัมปทานจะมีข้อน่าท้าทายของผู้ให้สัมปทาน ตรงที่การหาผู้รับสัมปทาน

เงื่อนไขที่ผู้ให้สัมปทานจะใช้อำนาจ หรืออิทธิพลเข้าไปแทรกแซง จนเกิดปัญหาที่นำมาสู่ความเชื่อถือไว้วางใจจากผู้ลงทุน ทั้งไทยและกัมพูชาให้สัมปทานการสำรวจแก่เอกชนโดยมีเงื่อนไขว่าจะเข้าสำรวจได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองมีข้อยุติเรื่องพื้นที่ทับซ้อนแล้ว แต่ในขณะที่เงื่อนไขยังค้างคาอยู่ ทางกัมพูชากลับให้สิทธิ์การขุดเจาะ แก่ บริษัทของญี่ปุ่น เมื่อ 15 กันยายน 2552 บล็อก 4 ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนบริเวณเกาะกูด จ.ตราด ของไทย กับ จ.เกาะกง ของกัมพูชา ติดกับ บล็อก 3 ที่กัมพูชาเคยให้สิทธิ์แก่บริษัท โททาล ของฝรั่งเศส นี่ยังไม่นับรวมถึงบริษัทอื่นๆ ที่ได้รับสิทธิ์ขุดเจาะก่อนหน้านี้ จึงนับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กัมพูชาละเมิดพันธกรณีอย่างร้ายแรงตามกฎหมายระหว่างประเทศ น่าสังเกตว่าหลายๆ ครั้งที่กัมพูชาละเมิดพันธกรณี พันธกรณีเหล่านั้นมิได้มีจุดกำเนิดหรือที่มาที่ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลและกฎหมายสากลที่ใช้ระหว่างประเทศ เหตุผลเพียงเท่านี้ก็ สามารถบอกยกเลิกพันธะเถื่อนๆ ที่หวังจะผูกพันกันได้แล้ว

3) เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับสมเด็จฮุน เซน ผู้นำทั้งสองของชาติสองชาติในเอเชีย

ประมาณเดือนพฤษภาคม 2551 พล.อ.เตีย บัน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชาเอง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า พ.ต.ท.ทักษิณฯ จะลงทุนธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะการเช่าเกาะกงหลังจากที่ได้หารือกับสมเด็จฮุน เซน เรียบร้อยแล้ว

3.1) มีข้อมูลที่น่าสนใจเรื่องความสัมพันธ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ กับบริษัทที่ทำธุรกิจพลังงานที่สำคัญ คือ เพิร์ล ออยล์ ที่มีกลุ่มทุนเทมาเล็กของสิงคโปร์ถือหุ้น และมีต้นกำเนิดมาจาก แฮร์รอดส์ เอ็นเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) พ.ต.ท.ทักษิณ พยายามนำบริษัทเข้าไปลงทุนในกัมพูชา รวมทั้งนำบริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEPI ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท.ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ มีหุ้นใหญ่ ไปร่วมทุนกับบริษัทอื่นที่จดทะเบียนในกัมพูชา ขอรับสัมปทานจากกัมพูชาในการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ ในบล็อก B หรือที่ PTTEPI ตั้งรหัสโครงการว่า โครงการ G9/43 และปรากฏด้วยว่า PTTEPI มีความสัมพันธ์ในการลงทุนกับเพิร์ล ออยล์ ในที่สุด ข้อมูลเหล่านี้ เป็นข้อมูลในเชิงประชาสัมพันธ์ของนาย Te Duong Tara ผู้อำนวยการ Cambodian National Petroleum Authority (หรือ ปตท.เขมร) เมื่อต้นปี พ.ศ. 2549 และมีข้อมูลประกอบที่น่าสนใจอีกด้วยว่า นาย Te Duong Tara ผู้อำนวยการ ปตท.เขมร ที่สมเด็จฮุน เซน ตั้งขึ้นมาคนนี้ เป็นคนเขมรเชื้อสายเวียดนาม และตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ก็ถูกชาวบ้านและนักลงทุนต่างชาติตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กร วิพากษ์วิจารณ์ว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มมากกว่าประเทศชาติ

3.2) เรื่องความร่วมมือต่างๆ ระหว่างไทย-กัมพูชา ที่มักมีผู้อ้างให้นำมาเป็นข้อพิจารณา หากจะยกเลิก MOU 2544

เรื่องเหล่านี้ นักวิเคราะห์ผู้มีหน้าที่ของรัฐ (ที่เจาะจงเช่นนี้เพราะมีบทเรียนมาว่ารัฐบาลนี้ไม่ค่อยเชื่อหรือฟังใคร) สมควรนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง และให้แยกแยะประเด็นให้ถูกต้องตรงความจริง ในความร่วมมือด้านต่างๆ พื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ACMECS อนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง อาเซียน+เอเชียแปซิฟิก สามเหลี่ยมมรกต และอีกมากมาย

ใน MOU 2544 ที่มีแถลงการณ์ร่วม 2544 รับรองเองก็ตาม ได้ระบุสาขาความร่วมมือไว้มากมายได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น พัฒนาถนน การสาธารณูปโภคและชีวอนามัย ความร่วมมือทางด้านการศึกษา ด้านการท่องเที่ยว ความร่วมมือแก้ไขปัญหาการลักลอบค้าของเถื่อนชายแดน การพัฒนาการค้าและการลงทุน การพัฒนาด้านเกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมง การพัฒนาอุตสาหกรรมและการพลังงาน

น่าสังเกตว่า ก่อนหน้าลงนาม MOU 2544 และแถลงการณ์ร่วม 2544 ในวันที่ 18 มิถุนายน 2544 นั้น เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2544 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ มีมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการลงนามใน Framework Agreement on Economic Cooperation ระหว่าง ไทย-กัมพูชา กำหนดแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-กัมพูชา โดยมีพื้นที่โครงการความร่วมมือที่เรียกว่า “เสี้ยววงเดือนแห่งโอกาส” (Crescent of Opportunity) ครอบคลุมจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา รวม 14 จังหวัด (ไทย : ตราด จันทบุรี สระแก้ว สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และ อุบลราชธานี กัมพูชา : เกาะกง โพธิสัต พระตะบอง บันเตียเมียนเจย อุดรมีชัย พระวิหาร และ เสียมราฐ) และ ถนนสาย 48 ไทย-กัมพูชา ระยะทาง 149 กิโลเมตร ที่คณะรัฐมนตรีสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายก ได้ผ่อนปรนปล่อยกู้ให้กัมพูชาเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ถนนสาย 67 ช่องสะงำ-อันลองเวง ที่มติคณะรัฐมนตรี 10 มิถุนายน 2546 สมัย พ.ต.ท.ทักษิณฯ อีกเช่นกัน ได้ผ่อนปรนช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่กัมพูชา ต่างก็เป็นผลมาจากแผนความร่วมมือนี้ และเป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อยที่ยกมาแสดงว่าไทยให้ และ พยายามให้ เรื่องนี้ไม่ห้ามถ้าจะมีใครสงสัยว่าให้เท่าไร และให้ทำไมกัน

คงจะต้องเป็นหน้าที่ของนักวิเคราะห์ผู้มีหน้าที่ ที่จะต้องพิจารณาด้วยว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เป็นเหตุผลและข้อมูลอีกชุดหนึ่ง ต่างจากเรื่อง “การให้” และ/หรือ “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดี” ความพยายามของภาคีเครือข่ายทุนข้ามชาติในยุคโลกาภิวัตน์ ที่มุ่งสลายพรมแดนของประเทศให้เปิดออก ทำให้คนจนท้องถิ่นที่หาอยู่หากิน ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริง ถูกแย่งชิงไปด้วยการเอื้อผลประโยชน์ทับซ้อนเชิงนโยบาย นักวิเคราะห์ผู้มีหน้าที่ของรัฐจะต้องให้สมดุลระหว่างเหตุผลทั้งสองชุดนี้

การยกเลิก MOU 2544

แม้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะมีผู้คนออกมาแสดงความเห็นกันมากมายเรื่อง MOU 2544 มีตั้งแต่ นักวิชาการผู้เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา กูรูทางด้านเศรษฐศาสตร์ผู้มีความเห็นชอบต่อการที่ไทยจะเสนอขอขึ้นทะเบียนร่วมกับกัมพูชา (โดยไม่นำพาเรื่องเขตแดน) และกระทั่งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผู้เป็นคนลงนามใน MOU ฉบับนี้เอง เป็นต้น แต่จนบัดนี้ข้าพเจ้าก็ยังยืนยันเรื่องการยกเลิก MOU 2544 และแถลงการณ์ร่วม 2544 หากพิจารณาเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้น

การยกเลิกนั้นรัฐบาลไทยสามารถกระทำได้ด้วยเหตุผลที่เห็นกันอยู่ชัดๆ ว่า กัมพูชาละเมิดพันธกรณีอย่างร้ายแรง ผลกระทบที่ได้จากข้อมูลเชิงประจักษ์นี้ (และอาจจะรวมเหตุผลการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์ผู้มีหน้าที่ด้วยก็ได้ถ้ารัฐต้องการความรอบคอบและมั่นใจยิ่งกว่านี้ เพียงแต่ขอให้ตั้งโจทย์ ให้ถูกต้อง) เป็นสาเหตุให้ยกเลิกหนังสือสัญญาเถื่อนทั้งสองตัวได้ตามอนุสัญญาเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ข้อ 60 เป็นข้อดีเสียอีกที่ทั้งสองประเทศนี้จะถือโอกาสเริ่มต้นความสัมพันธ์กันด้วยระบบที่เป็นมาตรฐานสากลและนานาประเทศยอมรับ เพราะยังมีข้อตกลงแบบเถื่อนๆ และด้อยพัฒนาอีกหลายเรื่อง เป็นต้นเหตุความร้าวฉานในความสัมพันธ์ที่รัฐและประชาชนทั้งสองประเทศมีต่อกัน

เพราะฉะนั้น การนำ MOU 2544 และแถลงการณ์ร่วม 2544 เข้ารัฐสภาเพื่อพิจารณาเรื่องขอยกเลิกนั้นไม่จำเป็นและก็ไม่ได้เป็นเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และถ้าหากคิดเชิงผกผัน กลับเป็นสิ่งที่น่ากลัวว่าอาจจะทำให้ MOU ฉบับนี้เป็นฉบับที่มีที่มาที่ไปและสถานภาพอันชอบธรรม รัฐบาลจึงต้องนำเข่าสู่รัฐสภาตอนยกเลิก (นี่เป็นเหตุผลและปัจจัยสำคัญในเชิงกฎหมายระหว่างประเทศที่ละเอียดอ่อนและควรต้องระมัดระวังด้วย) แม้รัฐบาลจะอ้างเหตุผลความรอบคอบก็ดี แต่ความรอบคอบนั้นสามารถหาได้จากนักวิเคราะห์ผู้มีหน้าที่ และการรับฟังความคิดเห็นโดยรอบ ไม่ใช่หาเอาจากเหตุผลของนักการเมือง

ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า หากรัฐบาลตัดสินใจเรื่องนี้อย่างจริงใจ นั่นย่อมแสดงให้เห็นภาวะผู้นำซึ่งเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลอย่ามัวแต่โยนหินถามทาง กำไต๋ ตีปลาหน้าไซ หรืออะไรก็สุดแต่ที่ยังเป็นชั้นเชิงทางการเมือง ซึ่งนับว่าผิดที่ผิดทางต่อการแก้ปัญหาในขณะนี้ มิเช่นนั้น ข้าพเจ้าจะยกเรื่องกรณีที่รัฐบาลดำเนินการและแจ้งเรื่องการสิ้นผลของแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับ นายนพดล ปัทมะ (18 มิถุนายน 2551) เป็นอุทธาหรณ์เตือนใจ และทำให้รัฐบาลขายหน้าว่า เป็นรัฐบาลไม่มีหลักการ

เลือกเอาเองว่าจะเอาก้อนหิน (อีก) หรือช่อดอกไม้!
กำลังโหลดความคิดเห็น