การที่คณะรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปซับซ้อนกัน พ.ศ.2544 หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “เอ็มโอยู ปี 2544” นั้น ถือเป็นอีกก้าวย่างที่สำคัญในการตอบโต้รัฐบาลของฮุนเซน เนื่องเพราะเอ็มโอยูฉบับนี้ถือเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่ “ฮุนเซน” และ “ทักษิณ” วางแผนร่วมกันในการกอบโกยผลประโยชน์มหาศาลจากแหล่งพลังงานที่อยู่ในเขตทับซ้อนพื้นที่ราว 27,960 ตารางกิโลเมตร
กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกประมาณการว่า พื้นที่ตรงนั้นมีปริมาณน้ำมันสำรองมากถึง 2,000 ล้านบาร์เรลและมีปริมาณก๊าซฯ สำรองอีกมากกว่า 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มูลค่ามากกว่า 5 ล้านล้านบาท
ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ สถาบันไทยคดีศึกษา แกนนำกลุ่มภาคีเครือข่ายติดตามสถานการณ์กรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เปิดเผยถึงต้นสายปลายเหตุของต้นตอ เอ็มโอยู ฉบับนี้ว่า เกิดขึ้นในรัฐบาลทักษิณ โดยมีสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยนั้นลงนามร่วมกับ กับซก อัน รัฐมนตรีอาวุโส ที่นั่งเก้าอี้ประธานปิโตรเลียมกัมพูชาอีกตำแหน่งหนึ่ง
ทั้งนี้ เอ็มโอยู 2544 คือผลประโยชน์อันมหาศาลที่รัฐบาลทักษิณได้มอบให้กับกัมพูชาโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศไทย ดังนั้น การยกเลิกเอ็มโอยูฉบับนี้จึงถือเป็นการทุบหม้อข้าวของทักษิณ-ฮุนเซนโดยตรง
อย่างไรก็ตาม การยกเลิกเอ็มโอยูปี 44 เพียงฉบับเดียวก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่เบ็ดเสร็จสะเด็ดน้ำ เนื่องเพราะยังมี Joint Communique ปี 2544 หรือแถลงการณ์ร่วม เป็นตัวขันชะเนาะเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ลงนามโดยนายทักษิณ ชินวัตรกับฮุนเซน ในโอกาสการเดินทางเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการของ ฯพณฯ ดร. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544วันเดียวกันกับที่นายสุรเกียรติ์เซ็นเอ็มโอยู 2544 เพราะเป็นการไปรับรองพันธะตามเอ็มโอยูปี 44 อีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องยกเลิกแถลงการณ์ร่วมปี 2544 ไปพร้อมๆ กันด้วยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต
ม.ล.วัลย์วิภาขยายความเพิ่มเติมถึงความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นว่า ตัวคะครสำคัญที่เข้ามีบทบาทคือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.โดยใช้ชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า PTTEPL เข้าหุ้นคนละ 50 เปอร์เซ็นต์ กับบริษัทแฮร์รอด เอนเนอร์ยี่ ที่มีนายโมฮัมหมัด อัลฟาเยด เพื่อนสนิทของนายทักษิณสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน โดยบริษัทแฮร์รอด เอนเนอร์ยี่ ได้จดทะเบียนในประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2541ชื่ออย่างเป็นทางการคือ บริษัทแฮร์รอด เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จากนั้นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2547 บริษัทแฮร์รอด เอนเนอร์ยี่ เปลี่ยนชื่อเป็น Pearl oil เนื่องจาก Pearl Energy Pte.Ltd. เข้าซื้อ โดยบริษัท Pearl Energy Pte.Ltd. มีฐานอยู่ในสิงค์โปร์และมีกลุ่มทุนเทมาเส็กถือหุ้นอยู่ (ถือหุ้นผ่านทาง Mubadala Development) ทั้งนี้เทมาเส็กนั้นเป็นบริษัทที่ถือหุ้นในชินคอร์ป จากครอบครัวชินวัตร และหุ้นใหญ่ใน Pearl Oil มีชื่อว่า Pearl Oil (สยาม)
Pearl Oil เป็นบริษัทลงทุนน้ำมันที่ใหญ่มาก เพราะปรากฏว่ากรรมการของบริษัท ยังไปเป็นกรรมการในบริษัทที่ทำธุรกิจรับสัมปทานขุดเจาะน้ำมัน อีก 8 บริษัทคือ Pearl Oil บางกอก, Pearl Oil ปิโตรเลียม, Pearl Oil อมตะ,Pearl Oil อ่าวไทย ,Pearl Oilออฟชอว์ ,Pearl Oil ออนชอว์ และ Pearl Oil รีซอสเซส และมีข้อมูลว่า Pearl Oil (สยาม) จดทะเบียนที่หมู่เกาะ Virgin ของอังกฤษ
ทั้งนี้ทาง ปตท.สผ. ที่รับสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ได้ใช้รหัส G9/43 ,B14 ร่วมทุนกับ บ. Resourceful Petroleum Ltd. , SPC Cambodian Ltd. และ CE cambodian B ltd.
“ทั้งหมดที่กล่าวมา ต้องการให้เห็นว่ามีการสัมปทานบริษัทน้ำมันในสมัยทักษิณเป็นนายกฯ ด้วยเหตุดังกล่าวการยกเลิกเอ็มโอยูปี 44 และ Joint Communique 44 ก็มิได้ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ หรือเสียผลประโยชน์แต่อย่างใด ส่วนคนที่จะเสียเปรียบน่าจะเป็นประเทศกัมพูชามากกว่า เพราะเขาได้ไปสร้างความผูกพันทำการสำรวจไปบ้างแล้ว และคนหนึ่งที่จะเสียผลประโยชน์ก็คือคุณทักษิณ การกระทำดังกล่าวจะทำให้เขารวย มหาศาล โดยที่รู้เห็นเป็นใจกับฮุนเซน เขามีนิสัยเหมือนกัน ดังนั้นหากจะเปลี่ยนชื่อจากการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน เป็นพื้นที่หากินร่วมระหว่างทักษิณ ฮุนเซนก็คงไม่แปลกอะไร การที่ฮุนเซน ตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ ก็เพื่อที่จะมาให้ช่วยนั่งว่าราชการเรื่องน้ำมันปิโตรเลียมเป็นหลัก ฮุน เซน ต้องการใช้หัวสมองของทักษิณ ให้เข้ามาช่วยเรื่องนี้โดยเฉพาะ”
“อย่างไรก็ตาม การที่คณะรัฐมนตรียกเลิกเอ็มโอยู 44 ก็อาจเป็นแค่เกมต่อรองฮุนเซน และฆ่าตัดตอนทักษิณ มากกว่าที่จะแก้ปัญหา เพราะแม้ว่าเอ็มโอยู 44 คือปีศาจร้าย แต่ยังมีเงื่อนปมที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่จำเป็นต้องปลดล็อก นั่นคือ “เอ็มโอยูปี 2543” ที่ไปยอมรับมาตราส่วนแผนที่ 1:200,000 ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยยอมรับตรงจุดนี้ และพวกเรากำลังรอการพิสูจน์ว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์จะกล้าตัดสินใจยอมรับความจริงและแก้ปัญหาดังกล่าวหรือไม่”มล.วัลย์วิภากล่ว
ด้าน “เตช บุนนาค” อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำสหรัฐอเมริกา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องที่เกิดขึ้นว่า การประกาศลดความสัมพันธ์ทางการทูต และการยกเลิกเอ็มโอยู 44 ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั้น เป็นสิ่งที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ เป็นการลดระดับความสัมพันธ์จากระดับเอกอัครราชทูตลงสู่ระดับอุปทูต เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยประเทศไทย ไม่พอใจต่อการตัดสินใจของ รัฐบาลกัมพูชา
“ผมเห็นว่ารัฐบาลไทย หรือคณะรัฐมนตรีย่อมสามารถมีมติเช่นนี้ได้ เมื่อเสร็จแล้วทะเลก็ยังอยู่ ทรัพยากรใต้ท้องทะเล ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรมชาติ น้ำมันก็ยังอยู่ แต่เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองระหว่าง 2ประเทศอำนวย เราก็จะต้องกลับไปเจรจากันอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่ายังไงๆ สักวันเราก็จะต้องเจรจาในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในสักวันหนึ่ง นอกจากเราจะไม่อยากใช้น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเชื่อว่าทั้งสองประเทศก็คงอยากจะใช้ ถ้าเผื่อวันนี้จะระงับไม่เจรจาก็ไม่เป็นไร เก็บไว้ให้ลูกหลานดีกว่า เพราะทุกวันนี้เราก็ใช้ทรัพยากรกันสิ้นเปลืองอยู่แล้ว ตอนนี้ก็ยกเลิกเมื่อความสัมพันธ์ดีขึ้น ยังไงๆ เราก็ต้องมีเจรจา เราเคยเจรจากับมาเลซียเรียบร้อยแล้ว เราเคยเจรจากับเวียดนามเรียบร้อยแล้ว สักวันหนึ่งเราก็ต้องเจรจากับกัมพูชาเรียบร้อย”
“ผมคิดว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว รัฐบาลปัจจุบันท่านนายกฯ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ ไตร่ตรองดีแล้ว ผมมีความมั่นใจว่ารัฐบาลนี้ทำงานได้และอยากจะให้กำลังใจให้ทำงานต่อไป”อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสรุปทิ้งท้าย
'ปณิธาน วัฒนายากร' :“ถึงเวลาจัดระเบียบความสัมพันธ์เพื่อนบ้าน”
“โทษนะครับมันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว มันไม่ใช่เรื่องอารมณ์ มันเป็นเรื่องประชาชนที่ต้องการ” ดร.ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พูดเสียงดังฟังชัด ต่อปฏิกิริยาล่าสุดของสมเด็จฯ ฮุนเซน ที่ยืนยันว่าจะไม่ส่งตัวทักษิณ ชินวัตร นักโทษชายหนีคดีอาญา กลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไทย
ในฐานะนักวิชาการที่ติดตามสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ดร.ปณิธานมีความเห็นว่า ไม่ใช่เฉพาะกับกัมพูชานั้นที่จำเป็นจะต้องจัดระเบียบใหม่ แต่รัฐบาลไทยจำเป็นต้องหันกลับมาพิจารณากับประเทศเพื่อนบ้านทุกๆ ประเทศด้วย
ดร.ปณิธานกล่าวว่า ความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นความสัมพันธ์ที่มีพัฒนาการขึ้นลงตามสถานการณ์ โดยมีผลจากสถานการณ์โลกเปลี่ยน สถานการณ์ในภูมิภาคเปลี่ยน มีการแข่งขันการค้าการลงทุน มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คือมันมีปัจจัยตัวแปรหลากหลายมากขึ้นเยอะ ไม่เหมือนในยุคสงครามเย็นที่มีมิตร มีศัตรูชัดเจน ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลหลายรัฐบาลจึงได้มีการเจรจาและนำไปสู่ข้อตกลงและบันทึกความเข้าใจ สัญญา สนธิสัญญา ทั้งในกรอบทวิภาคีและในกรอบพหุภาคี ในกรอบอาเซียน มากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ไทยทำบันทึกความเข้าใจกับลาว ที่เพิ่งผ่าน ครม.ไปก็ประสบความสำเร็จ 70-80% มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาปักปันเขตแดน ก็ทำให้จัดตั้งคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค กรรมการชายแดนทั่วไป ในส่วนของคณะกรรมาธิกรรมาธิการปักปันเขตแดน จะมีกลไกขึ้นมาเสริม คือมี จีบีซี เจบีซี อาร์บีซี เป็นต้น จะเห็นว่าหลายยุคหลายสมัยก็ทำความตกลง ทำร่วมมือใหม่และประสบผลสำเร็จ
หรือการพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทย-มาเลเซีย ก็ถูกนำมาใช้กับพม่า และกัมพูชา แต่ก็ยอมรับว่าประสบความสำเร็จไม่มากนัก ถ้าเปรียบเทียบกับลาวและมาเลเซีย
ดร.ปณิธานกล่าวต่อว่า สำหรับกัมพูชานั้น จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อกัมพูชาตัดสินใจเดินหน้าจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก รูปแบบเดิมหรือกลไกที่เคยตกลงไว้เริ่มซับซ้อนขึ้น ขณะเดียวกันก่อนหน้านั้นก็มีผลมาจากการลงทุนขนานใหญ่ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ เพราะทำให้เกิดปัจจัยซับซ้อนมากขึ้น กระทั่งเกิดเหตุเผาสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ และมาถึงเหตุการณ์ล่าสุดในการตั้งนายทักษิณเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ
“เวลานี้การบริหารจัดการยากขึ้น เพราะเพื่อนบ้านเราคุ้นกับกลไกที่ไม่เป็นทางการ ใกล้ชิดกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งกลุ่มนโยบาย กลุ่มความมั่นคง แล้วเขาจะยึดกับกลไกเหล่านั้น เมื่อคุ้นเคยกับรูปแบบดังกล่าว พอสภาวะแวดล้อมเปลี่ยน บางคราวผู้บริหารนโยบายก็ไม่เปลี่ยนคือ เอาความใกล้ชิดส่วนตัวมาใช้ จนทำให้เกิดปัญหาตามมาทุกวันนี้ เอาความใกล้ชิดส่วนตัวเข้ามาช่วยเหลือดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้หลักการไม่เป็นระบบ ในบางช่วง ที่มีการเจรจาแล้วไม่เป็นไปตามกรอบนัก แต่มันก็ดูเร็ว ดูเป็นส่วนตัวดี มันลึกซึ้ง มันดูใกล้ชิด ผูกพัน มีความสัมพันธ์เป็นพิเศษ แต่หลักการระหว่างประเทศอยู่ตรงนั้นไม่ได้”
“เพื่อนบ้านเราเขายึดติดกับตัวบุคคล ยึดตัวบุคคลที่หนุนให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่เป็นประโยน์กับเขา และนำไปสู่ขั้นตอนการผิดมาตรา 190 วรรค 2 ก่อนหน้านี้เรายังไม่ชัดเจน จนทางผู้นำกัมพูชาออกมายืนยันโดยบอกว่าเป็นเพื่อนสนิท เพื่อนที่ใกล้ชิด และไม่เคารพระบบ ซึ่งเขายืนยันแล้วว่าใช่ เป็นเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว ทางคุณทักษิณก็รับ ภาพมันเลยชัดเจนขึ้น ส่วนความสัมพันธ์จะลงเอยยังไง มันยากที่จะเดาในระยะสั้น แต่อย่างที่กล่าวในเบื้องต้น วงจรของมันมีขึ้นและลง มันไม่สามารถขึ้นไปได้นานหรือลงได้นาน แต่ที่เราอยากทำคือให้มันราบเรียบ ซึ่งมันต้องใช้เวลาพอสมควร ไม่ใช่สั้นๆ อาจจะเป็นเดือน แต่อาจจะไม่ถึงปี ในการปรับความสัมพันธ์ มีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง"ดร.ปณิธานสรุป